หัวข้อ: เผยเอกสารอ้าง นิคหกรรมธัมมชโย สิ้นสุด ปี 42 เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2016, 07:47:55 pm เผยเอกสารอ้าง นิคหกรรมธัมมชโย สิ้นสุด ปี 42 เผยเอกสารนิคหกรรมคดีพระธัมมชโยถึงที่สุดตั้งแต่ 13 สิงหาคม 2542 เจ้าคณะจังหวัดสั่งไม่รับคำกล่าวหา อ้างเหตุผู้ร้องไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ในขณะที่เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ข้องใจดีเอสไอชี้โทษอาบัติภิกษุเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ ขณะที่สำนักพุทธฯ ก็มั่นใจกรณีนิคหกรรมพระธัมมชโยถึงที่สุดจบไปนานแล้ว จากกรณีที่พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ออกมาระบุว่า ดีเอสไอได้ตรวจสอบพระลิขิต สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับกรณีพระธัมมชโยตามที่มีการร้องเรียนแล้ว ยืนยันว่า พระลิขิตมีผลตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้ทำหนังสือถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และมหาเถรสมาคม(มส.) สอบถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามที่มีการร้องเรียนให้พระธัมมชโย ต้องอาบัติปาราชิกจากคดียักยอกเงินและที่ดินตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชนั้น :96: :96: :96: :96: :96: เมื่อวันที่ 6 ก.พ. พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวในวงกว้างและเกิดความเข้าใจกันคลาดเคลื่อนว่า หน่วยงานราชการอย่างดีเอสไอ สามารถมาชี้ความผิดสงฆ์และมีอำนาจสั่งการมหาเถรสมาคมได้หรือไม่นั้น ตนอยากบอกว่าเรื่องของพระธรรมวินัย โดยเฉพาะเรื่องการลงโทษวินัยสงฆ์ หรือการลงนิคหกรรม เป็นเรื่องของคณะสงฆ์โดยตรง ส่วนกรณีของดีเอสไอ ที่ดำเนินการโดยปรับอาบัติของพระรูปนั้นรูปนี้ และว่า มส.ต้องดำเนินการตามพระลิขิต มีความผิดขั้นนั้นขั้นนี้ เป็นปาราชิกเช่นนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน อำนาจเช่นนี้ไม่ใช่ของดีเอสไอ หากดีเอสไอทำเช่นนี้ จะกลายเป็นพระวินัยธร (ฝ่ายพิจารณาวินัยสงฆ์) ขึ้นมาแทนคณะสงฆ์ทันทีชี้ผิดพระถึงขั้นประหารชีวิตพระ คือ การปาราชิก ซึ่งดีเอสไอ ก็จะขยายขอบเขตของตนเองสั่งหน่วยงานราชการ และคณะสงฆ์ตามที่ตนเองวินิจฉัย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่จะอันตรายมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต นายชยพล พงษ์สีดา รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า สำหรับในส่วนของเรื่องนิคหกรรมเกี่ยวกับกรณีกล่าวหาพระธัมมชโยละเมิดพระธรรมวินัยได้จบไปนานแล้ว เรื่องต่างๆได้ยุติลงตั้งแต่กระบวนการชั้นต้นในระดับจังหวัด คือ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ได้พิจารณาคำร้องโดยไม่รับคำร้อง และเสนอคณะกรรมการพิจารณานิคหกรรมระดับจังหวัด ก็มีคำสั่งและเหตุผลว่า ไม่รับคำร้องเรื่องนี้ก็ยุติลง รวมทั้งผู้ร้องไม่อุทธรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด กฎหมายก็ถือว่า ถึงที่สุด ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องร้องและดำเนินการได้อีก :25: :25: :25: :25: ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือรายงานการพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ กรณีนิคหกรรม กรณีกล่าวหาพระธัมมชโยละเมิดพระธรรมวินัย ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ลงนามโดย พระสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ผู้พิจารณานิคหกรรมในขณะนั้น รับรองหนังสือพิจารณานิคหกรรม โดย พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น พระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 คณะผู้พิจารณาชั้นต้น หรือพระพรหมดิลก เจ้าคณะกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ซึ่งในหนังสือดังกล่าวได้ลำดับขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการร้อง คือนายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ต่อ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า ละเมิดพระธรรมวินัย ต่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2542 ต่อมา 26 ก.ค. เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีมีคำสั่งรับคำกล่าวหา วันที่ 29 ก.ค. ผู้พิจารณามีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 6 ส.ค. จากนั้นวันที่ 31 ก.ค. ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือทัดทานคำสั่งรับคำกล่าวหา ผู้พิจารณาไม่มีอำนาจสั่งรับคำกล่าวหา เพราะกฎมส.ไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงปฏิเสธการไปพบในวันที่ 6 ส.ค.2542 วันที่ 1 ส.ค. ผู้พิจารณาส่งเรื่องทัดทานคำสั่งรับการกล่าวหาให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้น จากนั้นวันที่ 11 ส.ค. คณะผู้พิจารณาชั้นต้น พิจารณาแล้วมีมติว่า คำทัดทานนั้นฟังได้ จึงแนะนำให้ผู้พิจารณา ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎมส.โดยเคร่งครัด ต่อมาวันที่ 13 ส.ค. เจ้าคณะจังหวัด ทบทวนกฎมส.โดยละเอียดแล้ว เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจผู้พิจารณา สั่งรับคำกล่าวหาของผู้กล่าวหา ที่มีลักษณะบกพร่องไม่ต้องตามที่ระบุไว้ในกฎนิคหกรรม เห็นควรสั่งไม่รับคำกล่าวหา แต่ปรากฏว่า คำกล่าวหานั้น เป็นความผิดกรณีครุกาบัติ จำต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะผู้พิจารณาชั้นต้นก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว จึงยกเลิกคำสั่งเดิมและสั่งไม่รับคำกล่าวหา คำสั่งไม่รับคำกล่าวหาของผู้พิจารณานี้ มีผลให้กรณีนิคหกรรมจำต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นอันว่า กรณีนิคหกรรมที่ดำเนินมาอย่างถูกต้องตามขั้นตอนโดยลำดับกรณีนิคหกรรม วัดพระธรรมกาย ได้ถึงความสิ้นสุดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2542 และเป็นการถึงที่สุดโดยเด็ดขาด ไม่สามารถที่จะอุทธรณ์ ฎีกา ต่อไปได้ กับทั้งไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาดำเนินการใหม่ด้วย หากว่า เจ้าคณะจังหวัดในฐานะผู้พิจารณา จะเกิดสัมโมหะเข้ามากำบังปัญญา รื้อฟื้นกรณีนิคหกรรมขึ้นมาดำเนินการใหม่ ด้วยสาเหตุจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง โทษคือความผิดจะพึงบังเกิดเป็นหลายสถาน ทั้งในด้านผิดกฎนิคหกรรม ผิดพระธรรมวินัย และผิดกฎหมายบ้านเมือง จึงประทานเสนอรายงานเจ้าคณะใหญ่หนกลางเพื่อโปรดทราบ(ขณะนั้นสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนกลาง) และกรุณานำเสนอมหาเถรสมาคม เพื่อโปรดทราบด้วย ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144: ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 11(พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ในข้อ 4(1) หมวด ข(4) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึง พระภิกษุปกตัตตะ ซึ่งมีสังกัดในวัดเดียวกันและมีสังวาสเสมอกันกับพระภิกษุผู้เป็นจำเลย(สังวาสเสมอกัน หมายถึง พระภิกษุนั้นต้องเป็นนิกายเดียวกัน ทำสังฆกรรมอุโบสถเดียวกัน เช่น ลงปาติโมกข์ บวชนาค และรับกฐินร่วมกันได้ เป็นต้น (5) ผู้เสียหาย หมายถึงผู้ได้รับความเสียหายเฉพาะตัว เนื่องจากการกระทำความผิดของพระภิกษุผู้เป็นจำเลย และหมายความรวมถึงผู้จัดการแทนผู้เสียหายในกรณีดังต่อไปนี้ ก.ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือตามที่พระภิกษุมีอำนาจลงนิคหกรรมพิจารณาเห็นสมควรให้เป็นผู้จัดการแทนผู้เสียหาย เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งอยู่ในการดูแล (6) โจทก์ หมายถึง ก. ผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องพระภิกษุต่อพระภิกษุผู้พิจารณาในข้อหาว่าได้กระทำผิด หรือ ข.พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่โจทก์แทนสงฆ์ในชั้นพิจารณาวินิจฉัยการลงนิคหกรรมเกี่ยวกับความผิดของพระภิกษุผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้มหาเถรสมาคมจะได้มีมติยืนยันว่าฆราวาสสามารถฟ้องพระภิกษุได้ ทางสมเด็จพระมหาธีราจารย์จึงสั่งการให้คณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้อง แต่คณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ ในที่สุดวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางจึงมีคำสั่งปลดพระพรหมโมลี วัดยานนาวา จากเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งจะทำให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น และตั้งพระเทพสุธี รองเจ้าคณะภาค 1 เป็นเจ้าคณะภาค 1 แต่พระเทพสุธีขอลาออก จึงมีการตั้งพระธรรมโมลี วัดพิชยญาติการาม เป็นเจ้าคณะภาค 1 ซึ่งจะต้องทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น แต่จนถึงปัจจุบันคณะผู้พิจารณาชั้นต้นก็ยังไม่เคยวินิจฉัยกรณีนิคหกรรมพระธัมมชโยแต่อย่างใด ทั้งนี้ปัจจุบันพระธรรมโมลี คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 17:42 น. http://www.dailynews.co.th/education/377970 (http://www.dailynews.co.th/education/377970) |