หัวข้อ: อลังการหอพระไตรปิฎกล้านนา ณ วัดสูงเม่น เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2016, 12:01:15 pm (http://3.bp.blogspot.com/-PgS-iCaFKGM/VaCcKS19sII/AAAAAAAABIM/SSADZ-kam7M/s1600/IMG_1388.JPG) อลังการหอพระไตรปิฎกล้านนา ณ วัดสูงเม่น จากข้อมูลของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่ กล่าวถึงประวัติ "วัดสูงเม่น" ไว้ว่า...แต่ เดิมเรียกว่า "วัดสุ่งเม้น" เพราะพื้นที่นี้เป็นป่าไผ่และทุ่งหญ้า มี "เม่น" อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก คำว่า สุ่ง หมายถึง โพรง หรือ รู สุ่งเม้น คือโพรงหรือรูที่เม่นอาศัยอยู่ ด้วยบริเวณนี้มีหญ้าและท่าน้ำบริบูรณ์ พ่อค้าวาณิชและคนเดินทางครั้งอดีตจึงมาแวะพักแรมกัน และเรียกตำบลนี้ว่า "ป๋างสุ่งเม้น" หรือ "บ้านสุ่งเม้น" วัดสูงเม่น อายุไม่น้อยกว่า 200 ปีแห่งนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีต่อเนื่องสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น รอยต่อระหว่างสมัยที่พม่าปกครองล้านนาและในช่วงที่ชาวล้านนาร่วมกับสมเด็จพระเจ้าตากสินขับไล่พม่า ซึ่งเป็นช่วงเริ่มมีการพลิกฟื้นอารยะธรรมล้านนาให้กลับมามีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง และการค้ำชูพระพุทธศาสนา :25: :25: :25: :25: จากข้อมูลประวัติของ ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร (เจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2332-2409) พระเถระผู้มีศีลาจารวัตรอันงดงาม ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ทางวรรณกรรมล้านนา เรื่อง "ตำนานธรรมครูบามหาเถรเจ้า" ซึ่ง เจ้าหลวงอินทวิชัยราชา เจ้าหลวงเมืองแพร่ ได้มอบหมายให้หนานจันทร์ติ๊บและหมื่นวัดเขียนไว้เมื่อ จ.ศ.1200 (พ.ศ.2381) โดยเป็นใบลานหนา 45 ใบ ใบละ 4 บรรทัด เรียกว่าลานสี่ ค้นพบ และเก็บรักษาไว้ที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ มีข้อความกล่าวถึงประวัติพระครูบามหาเถรเจ้าว่าเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสูงเม่น ซึ่งเป็นวัดที่มีอยู่ก่อนแล้วในหมู่บ้านสูงเม่นในสมัยนั้น และกล่าวถึงการสร้างคัมภีร์ธรรมของครูบามหาเถรเจ้า (ในประวัติวัดสูงเม่น, 2539 และสัมภาษณ์พ่อหนานพรหมา กาศมณี) ว่า (http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2012/11/E12936775/E12936775-17.jpg) "...ถึงยามดีรุ่งเจ๊า พ่อเจ้าอินทราชราจา ก็นำครูบามหาเถรเจ้าเข้าสู่เวียงโกศัย คนทั้งหลายก็เข้ามากราบไหว้บูชาครูบาต๋นยศใหญ่ที่วัดข่วงแก้วศรีจุม เป็นปี จ.ศ.๑๑๔๑ ดับเม็ด พ.ศ.๒๓๒๒ ยามนั้นพ่อเจ้ามักใคร่สร้างยังมณฑปไว้ประดิษฐานพระถะรัยปิฏกะที่วัดสุ่งเม้น เมืองมานด่านใต้ จิ่งมีราชอาญาวางหื้อแก่ต้าวแสนจิตตะปัญญารับราชโองการกับด้วยหมื่นวัด ออกไปจั๊กจวน (ชักชวน) ป่าวร้องเอากั๋นเข้าป่าตัดไม้ มาแป๋งมณฑป (มาสร้างมณฑป) แล้วเกณฑ์เอาพวกสล่าตาแสงใน และสล่าตาแสงนอก (ช่างสาขาต่างๆ) หื้อมาวัดมอกศอกวา ยามนั้นเข้าก็เอากั๋นไปจัดแจงตามราชโองการสร้างแป๋งมณฑปไว้ที่วัดสุ่งเม้น มีขนาดกว้าง ๕ วา ยาว ๗ วา ติดทาน้ำฮักน้ำหาง แป๋งฮางเฮือใส่น้ำฮองติ๋น (รางน้ำที่โคนเสา) เส่ากู่ต้น (ทุกต้น) กั๋นมดปวก ลำเสาสลักด้วยลายเถาวัลย์หวันเสาเกี้ยวขึ้นไปเถิงคอเสากู่ต้น ฝาผนังทึบเขียนรูปชาดกปางเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรไว้ด้านเหนือและด้านใต้ ส่วนด้านหน้าทางตะวันออก เขียนปางเสด็จออกบวชของเจ้าสิถธารถ (พระสิทธัตถะกุมาร) ปายบนหน้าจั่วขจิตด้วยดวงดอกรูปเทพนมทาด้วยน้ำฮัก น้ำหาง และคำแดงดูเรืองเรื่อ เพื่อหื้อเป็นที่จำเริญตาแล้วสร้างมณฑปครอบไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นมณฑปสองชั้น ชั้นนอกก่อด้วยอิฐถือปูนมาขึ้นมาประมาณ ๒ ศอกแล้วบุซี่ลูกกรง มองเห็นรูปจิตรกรรมฝาผนังได้ดี งานก่อสร้างได้ทำประมาณเดือนเศษๆ..." (http://1.bp.blogspot.com/-bbvTLZ5_Jmc/VaCcaW5_VMI/AAAAAAAABIc/Wz-NC8e5CVc/s1600/IMG_1391.JPG) ตำนานดังกล่าวยังได้ระบุถึงคัมภีร์ธรรมที่เจ้าหลวงอินทวิชัยราชา และราษฎรได้ร่วมการสร้างว่ามีจำนวนมากมาย ดังนี้ "...กั๋มปีธรรมนำมาหนนี้นับได้มีวินัยอังคุตระนิกาย ๔๘๖ ผูก เป็นมัดมี ๘๙ มัด จัดเป็นใบลานได้ ๑๔,๘๐๐ ใบลาน ส่วนที่เป็นบาลีอรรถกถามี ๒๕๖๗ มัด จัดเป็นผูกได้ ๘๘๔๕ ผูก เป็นใบลานได้ ๘๕,๐๐๐ ใบลาน มีมูลกัจจายนะและบาลีศัพท์สูตร บาลีสังขยา บาลีสนธิและบาลีสมาส ขยาด กิตต์ สนธิ และธัมมะปาต๊ะ..." และคัมภีร์ธรรมเหล่านี้ก็ได้ถูกเก็บรวบรวมไว้ ใน "หอพระไตรปิฎก" วัดสูงเม่น ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวรรณกรรมภาษาล้านนามากที่สุดในประเทศไทย คัมภีร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในวัดสูงเม่น คือ "คัมภีร์อัตถกถาอุปริปัณณาส" ซึ่งรจนาขึ้นในปีจุลศักราช912 (พ.ศ.2093) หรือมีอายุ 458 ปี (http://2.bp.blogspot.com/-x_bpyoQiFG4/VaCcrwEq94I/AAAAAAAABIk/5gioHoSE6oo/s1600/IMG_1395.JPG) ในสมัยครูบากัญจนอรัญญวาสี ได้เก็บรวบรวมคัมภีร์ธรรมจากวัดและสถานที่ต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ น่าน หลวงพระบาง พม่า เป็นต้น โดยมีกระบวนการในการเก็บรวมรวมคัมภีร์ที่เป็นเอกลักษณ์ คือการใช้ "ประเพณีตากธรรม" อนุรักษ์ความเชื่อท้องถิ่นในการเก็บรักษาคัมภีร์ ตู้พระธรรม หอไตร และการสร้างคัมภีร์ธรรมถวายเป็นทาน แต่เดิมนั้น "หอพระไตรปิฎก" เป็นตึกชั้นเดียว พื้นเทคอนกรีต หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีรางน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันมด ปลวก และแมลงต่างๆ ต่อมา พระครูปัญญาวุฒิกร สร้างหอพระไตรปิฎกหลังใหม่ขึ้นแทน ใช้ชื่อว่า หอพิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎกอักขระภาษาล้านนา ค่าก่อสร้างประมาณ 3 ล้านกว่าบาท โดยจำลองแบบมาจากวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เพราะครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร เคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ (http://2.bp.blogspot.com/-vOXzl35t4pw/VaCdODKn6OI/AAAAAAAABIw/ifG2qv6SgNw/s1600/IMG_1400.JPG) ปูชนียสถาน และโบราณวัตถุสำคัญในวัดคือ พระอุโบสถเก่าแก่ศิลปะล้านนา เดิมเป็นวิหาร สันนิฐานว่ามีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี โครงสร้างเป็นแบบทรงล้านนาพื้นเมือง มีลวดลายล้านนาพื้นเมืองปนศิลปะพม่า มีเสาไม้สักจำนวน 16 ต้น ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. สูง7 วา ลงรักสีดำ เขียนลายเถาด้วยสีทอง เพดานอุโบสถขจิตด้วยลวดลายแบบศิลปะพม่าและล้านนา หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา หน้าบันสลักรูปนาคีเกี้ยวพันกัน อุโบสถได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์สืบต่อๆกันมาหลายสมัย แต่ตัวโครงสร้างอุโบสถเป็นของเก่า ไม่มีการขยายหรือรื้อสร้างใหม่แต่อย่างใด ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วสามครั้ง พระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารพิชัยก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ไม่ปรากฏผู้สร้างมาก่อน ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.2475 สมัยพระครูปัญญาวุฒิกร เป็นเจ้าอาวาส มีขนาดหน้าตักกว้าง5 ศอก สูงจากฐานถึงพระโมลี 6 ศอก 10 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงาม (http://yingthai-mag.com/sites/default/files/styles/scale400/public/magazinesImages2015/14/07/2015/images/01.jpg?itok=GS0nTOne) นอกจากนี้ภายในวัดสูงเม่น จังหวัดแพร่ ยังมีเจดีย์ทรงหกเหลี่ยม บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร นำมาจากประเทศพม่า เมื่อ พ.ศ.2383 จำนวน 13 ดวง ฐานเจดีย์ด้านใต้ ทำเป็นซุ้มประดิษฐานรูปจำลองของครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.2508 สมัยพระพรหมา โชติวโร เป็นเจ้าอาวาส มีงานนมัสการ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ (เดือน 8 เหนือ) ทุกปี ขอบคุณภาพจาก http://phraelogin.blogspot.com/2015_07_01_archive.html (http://phraelogin.blogspot.com/2015_07_01_archive.html) http://yingthai-mag.com/ (http://yingthai-mag.com/) http://topicstock.pantip.com/ (http://topicstock.pantip.com/) ที่มา http://yingthai-mag.com/magazine/reader/17415/124 (http://yingthai-mag.com/magazine/reader/17415/124) หัวข้อ: Re: อลังการหอพระไตรปิฎกล้านนา ณ วัดสูงเม่น เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2016, 03:25:49 pm ขออนุโมทนาสาธุ |