สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 11, 2016, 10:08:05 am



หัวข้อ: ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 8 ‘ค้นพบจิตรกรรม’
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 11, 2016, 10:08:05 am

(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/DSCF6654.jpg)
สภาพภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ มีจิตรกรรมฝาผนังวิจิตรพิสดาร


ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก : เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 8 ‘ค้นพบจิตรกรรม’

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้

พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง
กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน”

สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

 ans1 ans1 ans1 ans1

เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึงรายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้


(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C.jpg)
ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี


การค้นพบจิตรกรรมไทยครั้งใหม่
โดย ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร


หลายเดือนมาแล้ว ข้าพเจ้าได้เขียนคำนำ ลงในหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธรูปสมัยต่างๆของไทย ชื่อ “THAI MONUMENTAL BRONZES” แต่งโดย หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี และนายเขียน ยิ้มศิริ ข้าพเจ้าจึงขอหยิบยกข้อความตอนหนึ่งจากคำนำในหนังือนั้นมากล่าวไว้ ฯ ที่นี้ว่า ความรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์นั้น อาจเปลี่ยนแปรแก้ไขได้ โดยขึ้นอยู่แก่การค้นคว้าและการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ คำกล่าวนี้ ย่อมจะยืนยันได้ด้วยการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังและพระพุทธรูปโบราณ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นไว้ เมื่อ ปีพุทธศักราช 1967 (ค.ศ.1424)

    การค้นพบครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือมาแต่ก่อนเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยสมัยโบราณ และเกี่ยวกับพระพุทธรูปสมัยอยุธยาอันถือกันว่าเป็น “แบบฉบับแห่งชาติ” (National Style) ที่ได้ทำกันขึ้นในอยุธยานั้น มีอายุถอยหลังไปจากเดิมอีกประมาณ 150 ปี

 :96: :96: :96: :96:

คำที่เคยกล่าวมาแต่ก่อนว่า จิตรกรรมเขียนฝาผนังของไทยเพิ่งเริ่มต้นและเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอยุธยา

ในเวลาที่งานประติมากรรมอยู่ในขั้นเสื่อมแล้วนั้น ย่อมเป็นที่ยืนยันได้จากงานศิลปกรรมที่ได้พบครั้งใหม่นี้ โดยอาศัยวัตถุที่เราค้นพบกัน (ในเวลานั้น) เราจึงกำหนดกันไว้ (แต่ก่อน) ว่าบรรดาภาพเขียนฝาผนังของไทยที่แสดงเรื่องพุทธประวัติและเรื่องชาดกต่างๆ นั้น เพิ่งมีอายุเริ่มแรกเพียงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 (กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16) เท่านั้น



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/DSCF6662-768x512.jpg)
จิตรกรรมในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ


ครั้นเมื่อได้พบหลักฐานใหม่เป็นการตรงกันข้ามกับที่เราได้เชื่อถือกันมาแต่ก่อน ด้วยว่าการเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้น ได้กระทำกันมาแล้วแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ดังนั้น จึงจำต้องกำหนดอายุเริ่มต้นงานจิตรกรรมของไทย ที่มีองค์ประกอบเป็นภาพรูปคนถอยหลังไปอีกจากเวลาที่เรากำหนดกันไว้แต่เดิมประมาณ 120 ปี

ภาพเขีนนฝาผนังที่น่าชมภายในกรุของพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ เขียนขึ้นเพื่อตกแต่งตัวกรุ 4 เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก กว้าง 1.40 เมตร และสูง 2.75 เมตร อยู่ต่ำลงไปจากห้องภายในขององค์พระปรางค์ 3.40 เมตร เหนือพื้นดิน 1.50 เมตร

ส่วนล่างสุดของผนังกรุมีซุ้มคูหาทั้ง 4 ด้าน ในซุ้มคูหานี้ สันนิษฐานว่าสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ พื้นผนังและซุ้มคูหาตลอดจนพื้นผนงด้านข้างของคูหา มีภาพเขียนรูปคน รูปสัตว์ และลวดลายดอกไม้เต็มไปหมด เพดานกรุตกแต่งด้วยลายเขียนรูปวงกลมใหญ่ประดับประดาด้วยลายดอกไม้รูปทรงกลมคล้ายดอกมะลิบาน ล้อมรอบด้วยรูปวงกลมปิดทองซึ่งบางวงมีพระพุทธรูปนั่งองค์เล็กๆ เขียนด้วยเส้นสีแดงอยู่ภายในวงกลมปิดทองนั้น

ลวดลายซึ่งช่วยเสริมรูปวงกลมปิดทองให้เด่นนั้น คล้ายเป็นแบบจีนหรือเปอร์เซีย แต่ก็อาจเป็นการบังเอิญมาพ้องกันเข้าก็ได้ เพราะลวดลายแบบนี้เนศิลปะที่นิยมทำกันทั่วไปสำหรับชาวตะวันออก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/DSCF6651-768x512.jpg)
สภาพภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งมีคนร้ายลักลอบขุดกรุได้สมบัติมหาศาล เมื่อ พ.ศ. 2499


ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
http://www.matichon.co.th/news/101631 (http://www.matichon.co.th/news/101631)