หัวข้อ: เจาะอารยธรรมพุทธเอเชีย EP.1 ปางกอดสาว แร้งกินศพ เรื่องแปลกแดนพระธรรม เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 17, 2016, 08:54:11 am (http://www.thairath.co.th/media/T18CT60ObSbLrsQ4MjZFiAoTXN62owhPrQ22k2CNbik0CTLDX8avo2r.jpg) เจาะอารยธรรมพุทธเอเชีย EP.1 ปางกอดสาว แร้งกินศพ เรื่องแปลกแดนพระธรรม ศาสนาพุทธ ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะมีการเผยแผ่ศาสนาไปยังประเทศโดยรอบ จนปัจจุบันศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดมามากกว่า 2,500 ปีแล้ว พุทธศาสนาในโลกมี 3 นิกาย คือ 1.นิกายเถรวาท (หินยาน) เป็นนิกายที่เก่าแก่ที่สุด ยึดถือพระธรรมวินัยเดิมอย่างเคร่งครัด นับถือมากในเอเชียอาคเนย์ ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา 2.นิกายมหายาน ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และ 3.นิกายวัชรยาน ได้แก่ ทิเบต ภูฏาน มองโกเลีย สกู๊ปพิเศษชิ้นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเสนอความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ทั้งหลายให้ได้รู้และเข้าใจในศาสนาพุทธของแต่ละประเทศ ได้แก่ ทิเบต ภูฏาน จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยในตอนแรกนั้น จะพาผู้อ่านไปเปิดหูเปิดตาในประเทศทิเบต ภูฏาน และจากนี้ ทีมข่าวฯ ขอต้อนรับผู้อ่านสู่โลกแห่งพุทธศาสนานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป... (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QN2wh0TjmMJ1Y8.jpg) ทรรศนะด้านศาสนาของชาวทิเบตมองว่า ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวัน ชาวทิเบตจึงนิยมบวชเป็นพระภิกษุ (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QJPNDzEWx4RYBL.jpg) พระทิเบตจะเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างมาก เพราะผู้นำประเทศและผู้นำทางศาสนจักรเป็นคนๆ เดียวกัน ทิเบต ดินแดนแห่งพระธรรม เขตปกครองตนเองทิเบต ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย ประชาชนนับถือศาสนาพุทธ นิกายวัชรยาน ทรรศนะด้านศาสนาของชาวทิเบตมองว่า ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวัน ชาวทิเบตจึงนิยมบวชเป็นพระภิกษุ และมีพระเป็นผู้นำในเขตปกครอง นั่นคือ ‘ทะไล ลามะ’ ผู้ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องราวพุทธศาสนาในทิเบตนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา ม.พระพุทธศาสนาแห่งโลก โดยอาจารย์ทวีวัฒน์ เล่าจากความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ว่า ในทิเบตมี 3 นิกายหลักๆ ได้แก่ นิกายหมวกแดง พระนิกายนี้มีเกือบ 90% เยอะที่สุดในทิเบต โดยพระจะนุ่งห่มจีวรสีแดงเลือดหมูและสวมหมวกสีเดียวกับจีวร แต่เดิมนั้นทิเบตเหมือนไทย มีกษัตริย์ปกครองอาณาจักรและมีสังฆราชเป็นนิกายหมวกแดงปกครองศาสนจักร อีกทั้ง กษัตริย์ทิเบตยังสนับสนุนนิกายหมวกแดง และสังฆราชของหมวกแดง ฉะนั้น รัฐทิเบตจะมีกษัตริย์และสังฆราชแยกกัน :25: :25: :25: :25: ขณะที่ นิกายหมวกเหลือง โดยจำนวนพระในนิกายหมวกเหลืองมีประมาณ 10% ของพระในทิเบตทั้งหมด พระนิกายนี้จะนุ่งห่มจีวรสีเหลืองและสวมหมวกสีเหลือง ในช่วงที่กองทัพมองโกลเข้ายึดครองทิเบตล้มล้างกษัตริย์ ขุนพลมองโกลต่างเลื่อมใสศรัทธาในนิกายหมวกเหลือง จึงเชิดชูสังฆราชของหมวกเหลืองนั่นคือ ท่านทะไล ลามะ ให้ขึ้นมามีอำนาจ นับแต่นั้นเป็นต้นมาท่านทะไล ลามะ จึงมีอำนาจทั้งฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรด้วย ภายใต้การหนุนหลังของกองทัพมองโกล ทิเบตจึงเป็นพุทธศาสนาประเทศเดียวที่พระสงฆ์มีอำนาจในอาณาจักรและศาสนจักรในเวลาเดียวกัน นิกายหมวกดำ พระนิกายนี้จะนุ่งห่มจีวรสีดำและสวมหมวกสีดำ เป็นนิกายของพระจำนวนน้อย โดยพระนิกายนี้มักไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มักจะปลีกวิเวกอยู่ในป่าเขา ถ้ำ เพื่อบำเพ็ญสมาธิ ภาวนา หรือคล้ายๆ กับพระป่าในประเทศไทยนั่นเอง (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QRYr6ZlpjqekjK.jpg) พระที่เป็นผู้นำในเขตปกครองทิเบต คือ ทะไล ลามะ (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QKsdDLIpHqCys5.jpg) พระทิเบต เมื่อตัดสินใจบวชแล้วไม่สามารถสึกได้ เนื่องจากเป็นจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของคนที่บวช คือ การสละทางโลกทิ้งแล้วใช้ชีวิตทางธรรมอันนำไปสู่ความหลุดพ้นละทางโลก สู่ทางธรรม บวชไม่สึก พุทธศาสนาในทิเบต เป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่ภายหลังได้แตกจากมหายานเป็นวัชรยาน สามารถฉันอาหารได้ 3 มื้อ โดยประกอบอาหารกันเอง มีโรงครัวอยู่ในวัด บางวัดปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อเอาผลผลิตไปปรุงอาหาร พระทิเบตจะถือพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด ครองตัวเป็นโสด ไม่สามารถแต่งงานได้ ซึ่งการบวชเป็นพระส่วนใหญ่จะบวชตั้งแต่ตอนเด็กๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณี และที่สำคัญคือ เมื่อตัดสินใจบวชแล้วไม่สามารถสึกได้ เนื่องจากเป็นจุดมุ่งหมายดั้งเดิมของคนที่บวช คือผู้ที่ละทิ้งบ้านเรือน เป็นผู้ที่สละความสุขทางโลก ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ออกมาใช้ชีวิตนักบวชสำหรับการประพฤติ ปฏิบัติธรรม สมาธิ ภาวนา เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ซึ่งในโลกนี้มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่บวชแล้วสึกได้ แต่ปัจจุบันก็มีลาวกับกัมพูชาได้รับอิทธิพลจากไทยด้วยเช่นกัน พิธีกรรมสุดแปลก ไหว้ 8 ท่า หมุนติ้วพระไตรปิฎก สำหรับรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธของชาวทิเบตนั้น จะค่อนข้างมีสีสัน เหลือบๆ ไปทางวัฒนธรรมจีน มีการตีกลอง ตีฉิ่ง ตีหัวปลาไม้ ร่วมกับการประกอบพิธี ส่วนการสวดมนต์ของพระทิเบตนั้น จะมีติ้วหมุนอยู่ เดินสวดไปหมุนติ้วไป ซึ่งภายในติ้วที่หมุนจะบรรจุพระไตรปิฎก คาดว่าเป็นสัญลักษณ์ เมื่อหมุน 1 รอบก็เท่ากับว่าท่องพระไตรปิฎกจบไป 1 จบ เป็นรูปแบบหนึ่งของพิธีกรรม และการกราบไหว้พระก็แปลกแตกต่างจากไทย เพราะทิเบตจะมีการไหว้ 8 ท่า ไหว้แล้วยืดแขนยืดขาลงไปนอนกับพื้นแบบท่าซุปเปอร์แมนกำลังเหาะ แต่ไทยไหว้เบญจางคประดิษฐ์ (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QS5qizmP1D8mYd.jpg) ยิ่งแร้งกินซากศพหมดเท่าไหร่ ญาติก็จะยิ่งดีใจมากเท่านั้น เพราะวิญญาณที่เป็นห่วงร่างกายจะได้สบายใจ เพื่อจะได้กลับไปเกิดแบบหมดห่วง (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QCL0d7vNXEZRt0.jpg) การแต่งกายของพระในทิเบต ขอบคุณภาพประกอบจาก www.tibetanspirit.com (http://www.tibetanspirit.com) แร้งกินศพ พิธีสุดพิลึกพิลั่น อาจารย์ทวีวัฒน์ เล่าถึงความพิลึกในพิธีการทำศพของชาวพุทธในทิเบตว่า เมื่อมีคนตาย ญาติก็จะนำศพมาไว้ที่วัด เพื่อให้พระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากนั้น สัปเหร่อจะยกศพแบกขึ้นภูเขาไปทิ้งเอาไว้ เพื่อให้แร้งลงมาจิกกินซากศพ เนื่องจากทิเบตมีความเชื่ออันแรงกล้าในเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้ววิญญาณจะออกจากร่างและยังมีความห่วงร่างกายอยู่ ชาวทิเบตจึงมีความเชื่อว่า ยิ่งแร้งกินซากศพหมดเท่าไหร่ ญาติก็จะยิ่งดีใจมากเท่านั้น เพราะวิญญาณที่เป็นห่วงร่างกายจะได้สบายใจ เพื่อจะได้กลับไปเกิดแบบหมดห่วง พระพุทธรูปปางกอดสาว ความแปลกของวัชรยาน! หากใครเคยเข้าไปในวัดทิเบต จะต้องเป็นอันอึ้ง งง ปนตกใจ เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปสุดแปลกที่มีลักษณะของพระพุทธเจ้าและมีชายาเพศหญิงสวมกอดอยู่ด้านหน้า ไม่เว้นแม้แต่รูปปั้นพระโพธิสัตว์จะมีเพศหญิงสวมกอดอยู่ด้านหน้าด้วยเช่นกัน โดยเป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาในนิกายวัชรยาน ซึ่งโดดเด่นในทิเบต ภูฏาน และมองโกเลีย และถือเป็นพระพุทธรูปหลักในโบสถ์อีกด้วย อาจารย์ทวีวัฒน์ อธิบายถึงความแปลกของพระพุทธรูปนี้ว่า พระทิเบตมองว่ารูปเคารพนั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์ ว่าการตรัสรู้ที่สมบูรณ์นั้น จะต้องประกอบไปด้วยปัญญาและกรุณา เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของกรุณา เพศหญิงเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา ปัญญาและกรุณารวมกันเท่านั้น จึงจะสามารถเป็นการตรัสรู้ที่สมบูรณ์ได้ และในความเป็นจริงพระทิเบตแต่งงานไม่ได้ มีเพศสัมพันธ์มีครอบครัวไม่ได้ เคร่งครัดในพระวินัยคล้ายกับพระไทย แต่ออกมาในรูปของศิลปะแบบตันตระ คือ ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชายและหญิง พระทิเบตจะอธิบายว่า พระพุทธรูปที่เห็นนั้น เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ที่สมบูรณ์ ซึ่งวิธีคิดของชาวพุทธวัชรยานแตกต่างไปจากเถรวาทมาก วัชรยานเป็นพุทธศาสนานิกายที่ลี้ลับ ซ่อนเร้น แปลก บ้านชาวพุทธไทยจะตั้งพระพุทธรูปไว้บูชาสวดมนต์ แต่ถ้าทิเบตก็จะตั้งพระพุทธรูปลักษณะนี้ไปบูชาสวดมนต์เช่นกัน (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QPzrpwLMAahPrJ.jpg) พระพุทธรูปตามแบบตันตระ ขอบคุณภาพจาก www.health.wikinut.com (http://www.health.wikinut.com) (http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1EaK8Df5DmnBkt9QPbfmDA40jOrMq.jpg) วัดในภูฏาน ขอบคุณภาพประกอบจาก www.adventurewomen.com (http://www.adventurewomen.com) ภูฏาน ดินแดนมังกรสายฟ้า ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประเทศขนาดเล็ก รายล้อมไปด้วยภูเขาจำนวนมาก ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนับถือศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน ลักษณะการปกครองคล้ายกับทิเบต แต่มีความต่างกันบ้าง คือทิเบตมีองค์ทะไล ลามะเป็นผู้นำทั้งทางศาสนาและอาณาจักร ส่วนภูฏานมีกษัตริย์ปกครองประเทศ แต่มีพระสงฆ์ผู้มีสมณะสูงสุด หรือ พระสังฆราช ที่เรียกว่า เจ เคนโป มีส่วนในการปกครองประเทศด้วย สำหรับการปกครองของคณะสงฆ์จะแบ่งเป็น 5 ชั้น ได้แก่ เจ เคนโป เป็นชั้นปกครองสูงสุด สมเด็จพระสังฆราช ชั้นสูงสุดนี้ห่มผ้าได้ทุกสี เคนโป เป็นชั้นรองมาจากสังฆราช ห่มผ้าปนทุกสี ลามะ เป็นชั้นรองจากเคนโป เป็นอาจารย์ที่ทรงความรู้ ห่มผ้าสีเหลืองปนแดง โลแพน เป็นชั้นรองลงมาจากลามะ เป็นพระที่มีความรู้บ้างแล้ว ห่มผ้าสีเหลือง เกลอง เป็นชั้นรองลงมาจากโลแพน เป็นชั้นสามัญ แต่ก็มีเกลองชั้น ตรี โท เอก ห่มผ้าสีแดง ส่วนวิธีเลื่อนชั้นนี้ก็จะทำการสอบคัดเลือก (http://www.thairath.co.th/media/4DQpjUtzLUwmJZZIQFR8fxk7fIjr269j3ijTm5VpaUpW.jpg) วัฒนธรรมพุทธของชาวภูฏานนั้น พ่อแม่มักนิยมให้ลูกหลานในครอบครัวได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย (http://www.thairath.co.th/media/4DQpjUtzLUwmJZZIQFR8fxk7fIjr269lgdgcf4nEdNZb.jpg) ขอบคุณภาพประกอบจาก www.lonelyplanet.com (http://www.lonelyplanet.com) อาจารย์ทวีวัฒน์ เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พบเจอในภูฏานว่า วัดของภิกษุกับภิกษุณีในภูฏาน จะแยกกัน โดยวัดของพระภิกษุเมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็น ผู้หญิงจะต้องออกจากวัดให้หมด ห้ามผู้หญิงเข้าวัดของภิกษุหลัง 5 โมงเย็น ส่วนวัดของภิกษุณี ก็จะห้ามผู้ชายเข้าวัดหลัง 5 โมงเย็น โดยพระในภูฏานจะเคร่งในเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งนี้ ตามวัฒนธรรมพุทธของชาวภูฏานนั้น พ่อแม่มักนิยมให้ลูกหลานในครอบครัวได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุยังน้อย เมื่อสามเณรมีอายุครบ 20 ปี ต้องตัดสินใจว่าจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา หรือจะลาสิกขาบทเพื่อไปใช้ชีวิตแบบฆราวาส ถ้าเลือกหนทางแรกก็จะต้องเป็นพระภิกษุไปตลอดชีวิต เพราะการบวชในนิกายวัชรยานนั้น ไม่มีการบวชชั่วคราวหรือการสึกอย่างพุทธศาสนาในประเทศไทย ในตอนหน้านั้น จะขอนำเสนอเรื่องราวของพระในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม จะแตกต่างกันอย่างไร โปรดติดตาม. ขอบคุณภาพและบทความจาก http://www.thairath.co.th/content/603074 (http://www.thairath.co.th/content/603074) หัวข้อ: Re: เจาะอารยธรรมพุทธเอเชีย EP.1 ปางกอดสาว แร้งกินศพ เรื่องแปลกแดนพระธรรม เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ เมษายน 18, 2016, 09:09:08 am แบบไหนก็ไม่เหมือนของจริงครับ เพราะไม่ได้ทำให้หมดทุกข์ |