หัวข้อ: ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 13 ‘สภาพวัดราชบูรณะ’ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 20, 2016, 09:28:32 am (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2769.jpg) ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 13 ‘สภาพวัดราชบูรณะ’ เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้ พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน” สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง :25: :25: :25: :25: เหตุการณ์จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้ (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2731-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ สภาพปัจจุบันของวัดราชบูรณะ (พ.ศ.2500) ของนายมานิต วัลลิโภดม หัวหน้ากองโบราณคดี วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้านตะวันออกจดถนนมหาราช ด้านใต้จดถนนตลาดเจ้าพรหม ด้านตะวันตกจดถนนกลาโหม และด้านเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับวัดพลับพลาไชย บริเวณพุทธาวาส มีกำแพงอิฐล้อมรอบยาว 208.50 เมตร กว้าง 152.00 เมตร ที่กำแพงด้านตะวันออกและตะวันตกอันเป็นด้านหน้าด้านหลังของวัดนั้น มีประตูซุ้มข้างละ 1 ประตู เพื่อความสะดวกแก่การอธิบายแผนผังขอแบ่งกล่าวเป็น 3 ตอน คือ ตอนกลาง กำหนดแต่ประตูซุ้มด้านหน้าเข้ามา มีวิหารหลวงขนาดยาว 63.00 เมตร กว้าง 20.00 เมตร มุขหน้าวิหารหลวงมีบันได 3 ทาง อยู่ข้างหน้า 1 บันได ซ้ายขวาข้างละ 1 บันไดประตูใหญ่ด้านหน้ามี 2 ประตู ใกล้ชุกชีพระประธานมีพระประธานมีประตูข้างตรงออกไปสู่บันไดที่เฉลียงข้างละ 1 ประตู ด้านหลังชุกชีพระประธานมีประตูใหญ่ออกไปสู่มุขท้าย 2 ประตู มุขท้ายวิหารหลวงที่ยื่นติดต่อเข้าไปในกำแพงแก้วรอบพระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ มีขนาดกว้างยาวด้านละ 82.00 เมตร พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุก่อด้วยศิลาแลงตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ 48.00 เมตร บันไดขึ้นสู่คูหาพระปรางค์เป็นบันไดแคบๆ อยู่ด้านตะวันออก ที่ฐานพระปรางค์มีเจดีย์ทิศก่อด้วยอิฐทั้ง 4 มุมและมีเจดีย์รายรอบปรางค์ 12 องค์ทางขึ้นลงอยู่ทางทิศเหนือและใต้ พระปรางค์วัดนี้ยังทรงรูปสมบูรณ์ดีกว่าวัดอื่นๆ อันมีอยู่ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ช่องคูหาของพระปรางค์ด้านเหนือด้านใต้และด้านตะวันตก เป็นผนังอุดมีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ 1 องค์ ที่ยอดปรางค์ชั้นล่างประดับด้วยครุฑและยักษ์ปูนปั้นเหนือๆ ขึ้นไปจนถึงขั้นสุดยอด เฉพาะที่ตรงกับทิศทั้ง 4 มีพระพุทธรูปนั่งในเรือนแก้วและเรียงรายไปด้วยกลีบขนุนทำด้วยศิลาทุกชั้นตลอดยอด ต่อจากกำแพงแก้วรอบพระปรางค์ออกไปเบื้องหลังทางทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ ขนาดยาว 47.50 เมตร กว้าง 17.50 เมตร มีซากพระประธานก่ออิฐโบกปูนขนาดใหญ่ประดิษฐานหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกข้างหลังชุกชีพระประธานมีประตูและบันไดขึ้นลงทั้งซ้ายและขวา ด้านหน้าพระอุโบสถมีประตู 3 บาทและบันไดคู่หนึ่ง (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2745-768x576.jpg) พระปรางค์วัดราชบูรณะ ตอนปีกขวา คือซีกข้างใต้ ห่างวิหารหลวงออกไปเล็กน้อย มีวิหารน้อย 1 หลัง กับหมู่เจดีย์ 5 องค์ ถัดนั้นออกไปมีวิหารขนาดกลางอีก 1 หลัง ตั้งขนานกับวิหารน้อย ข้างหลังวิหารขนาดกลางนี้มีเจดีย์ใหญ่น้อย 8 องค์ เรียงเป็นแถวไปถึงวิหารขนาดกลาง ซึ่งอยู่สุดทางด้านตะวันตก ระหว่างวิหารนี้กับพระอุโบสถมีเจดีย์ 1 องค์ วิหารย่อมๆ 1 หลัง ตอนปีกซ้าย คือซีกข้างเหนือ ห่างวิหารหลวงออกไปเล็กน้อย มีวิหารน้อย 1 หลัง เช่นเดียวกับตอนปีกขวา แต่มีเจดีย์หมู่อยู่เพียง 3 องค์ องค์เล็ก ซึ่งอยู่ใกล้กับหลังวิหารน้อย ภายในคูหามีภาพเขียนสีฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนต้น นายเฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรแห่งกรมศิลปากร ได้คัดลอกภาพเขียนสีน้ำเก็บรักษาไว้ ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอธิบายถึงลักษณะภาพนี้เขียนเป็น “พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเรียงเป็นแถวๆ ประดิษฐ์เป็นเรือนไม้ ข้างหลังอยู่ในวงเข้าทำนองรัศมี ลักษณะหนักๆ แบบขอมยังปรากฏอยู่แต่เป็นหน่วยก้านศิลปะไทยในกรุงศรีอยุธยาราว พ.ศ.1900 เศษ เขียนใช้สีดำระบายเกลี่ยอ่อนแก่เกิดปริมาตร ลงเส้นสีแดงเป็นที่สำคัญ เส้นนั้นบางละเอียดแต่คม หวนให้ระลึกถึงการจากรึกขุดเป็นลวดลายลงบนศิลาเป็นที่ประจักษ์ถึงจิตรกรรมเบื้องต้นการปิดทองตัดเส้นก็ใช้จำเพราะที่สำคัญ…พระพุทธรูปบนผนัง (คูหา) ที่ปิดทอง แต่ผนังด้านพระพุทธรูปอันดับ (คือนั่งเรียงแถว) นั้นหาได้ปิดทองไม่…” st12 st12 st12 st12 เจดีย์องค์มีภาพเขียนสีในคูหาที่กล่าวนี้ได้ทรุดพังเสียแล้วเมื่อ 3-4 ปีล่วงมา คงเหลือแต่ภาพที่คัดลอกไว้เป็นหลักฐานการศึกษาค้นคว้าเท่านั้น ต่อจากวิหารน้อยออกไปมีวิหารขนาดกลาง 1 ห้อง แล้วมีเจดีย์ใหญ่น้อย 5 องค์ เรียงเป็นแถวไปจนสุดทางตะวันตก เช่นทำนองตอนปีกขวาเหมือนกัน เจดีย์ใหญ่น้อยในบริเวณวัดดังกล่าวมาเชื่อว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิธาตุของเจ้านายในราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา ด้วยเคยพบซากโกศทำด้วยศิลาบ้าง ดินเผาบ้าง ถูกขุดทำลายทิ้งไว้ใกล้ๆ เจดีย์เหล่านั้น (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2744-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ เปิดกรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ เพื่อได้ทราบเรื่องราวการพบกรุภายในองค์พระมหาธาตุหรือพระปรางค์ ซึ่งบรรจุศิลปวัตถุมีค่าทั้งทางวัตถุและทั้งทางฝีมือช่างเป็นจำนวนมากมาย จึงขอลำดับเหตุการณ์ในการค้นพบไว้เป็นหลักฐานสืบไป เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2500 เวลา 15.20 น. นายพันตำรวจตรี วุฒิ สมุทรประภูติ ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เข้ามาพบ นายกฤษณ์ อินทโกศัย รองอธิบดีกรมศิลปากร ณ กรมศิลปากร แจ้งว่า ได้มีผู้ร้ายหลายคนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่บางคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลอบลักขุดเข้าไปภายในกรุในองค์พระปรางค์ใหญ่ ในวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เก็บเอาทรัพย์สมบัติเป็นทองและของมีค่าไปมากมาย เวลานี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนร้ายและได้ของกลางไว้บ้างแล้ว ขอให้รีบไปดำเนินการโดยด่วน รองอธิบดีกรมศิลปากร จึงได้รีบนำเรื่องเสนออธิบดีกรมศิลปากรทราบ และอธิบดีกรมศิลปากรก็ได้สั่งการและมอบหมายให้รองอธิบดีรีบเดินทางออกไปดำเนินการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยด่วนในเย็นวันนั้น (โปรดติดตามตอนต่อไป) (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2732-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2740-1-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2736-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ (http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2734-768x576.jpg) วัดราชบูรณะ ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558 ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หมายเหตุ ภาพประกอบถ่ายใน พ.ศ. 2559 http://www.matichon.co.th/news/106954 (http://www.matichon.co.th/news/106954) |