สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 20, 2016, 09:38:47 am



หัวข้อ: ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 14 ‘พระพิมพ์วัดราชบูรณะ’
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 20, 2016, 09:38:47 am

(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2847-1.jpg)



ย้อนอดีตกรุ(ง)แตก: เปิดกรุวัดราชบูรณะ ตอนที่ 14 ‘พระพิมพ์วัดราชบูรณะ’

เมษายน เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในวันอังคาร เดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นเหตุให้มีการย้ายราชธานีลงไปทางทิศใต้ ณ กรุงธนบุรี ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯทุกวันนี้ พระราชวังโบราณ อีกทั้งวัดวาอารามที่เคยงดงามเกินบรรยายต่างทรุดโทรม ร่วงโรย และรกร้าง กรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งโรจน์กลายเป็นเพียงอดีต

ต่อมาในราว พ.ศ.2499 เกิดเรื่องที่ทำให้ชื่อของราชธานีแห่งนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของคนไทยอีก ครั้ง นั่นคือเหตุการณ์ ‘กรุแตก’ ซึ่งเริ่มมีเค้าลางมาจากเรื่องที่เล่ากันหนาหูว่า มีผู้เสียสตินำเครื่องทองงดงามระยับไปร่ายรำท่ามกลางชุมชนใน ‘ตลาดเจ้าพรหม’ ตลาดใหญ่ในตัวเมืองอยุธยา กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

เรื่องนี้ถูกนำมาสอดแทรกไว้ในเรื่องสั้น “ขุนเดช” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือ “มติชน” สุจิตต์เล่าว่า ตนได้ข้อมูลมาจาก “อามหา-จิรเดช ไวยโกสิทธิ์” หรือขุนเดชตัวจริงในเรื่องสั้นชุดดังกล่าวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง

 :96: :96: :96: :96:

เหตุการณ์ จริงต่อจากนั้น คือในเดือนกันยายน พ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้พบเครื่องทองคำราชูปโภค พระพุทธรูป สถูปทองคำ และพระพิมพ์มากมายภายในพระปรางค์องค์ใหญ่ของวัดราชบูรณะ รวมถึงภาพจิตรกรรมล้ำค่า จากนั้นได้หาทางทำอุโมงค์และบันไดลงไปในกรุลึกลับ ต้องคลำทาง วางแผน บันทึกผังกรุ และโบราณวัตถุมหาศาลที่ได้พบอย่างไม่คาดฝัน กลายเป็นหนึ่งในอภิมหาตำนานแห่งการค้นพบมรดกอันประเมินค่าไม่ได้จากบรรพชน ยุคกรุงศรีอยุธยาที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวทั้งหมดรวมถึง รายละเอียดของการขุดกรุดังกล่าวในทุกขั้นตอน ถูกบันทึกไว้อย่างถี่ถ้วนและเต็มไปด้วยสีสัน ผ่านบทความของนักวิชาการด้านโบราณคดีที่รวมสรรพกำลังทางวิชาความรู้มาร่วม กันวิเคราะห์ตีความวัตถุล้ำค่ามากมาย โดยมีการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 หรือเกือบ 60 ปีมาแล้ว ซึ่ง “มติชน” จะทยอยทำเสนอเป็นตอนๆ ดังเนื้อหาต่อไปนี้



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/manit.jpg)
มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดีในขณะนั้น


พระพิมพ์วัดราชบูรณะ
มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์เอก กองโบราณคดี


 ans1 ans1 ans1 ans1

ความนิยมพระพิมพ์

ประติมารูปเคารพในพระพุทธศาสนาสร้างด้วยโลหะ ศิลา ปูนปั้น ดิน ไม้ ว่าน และผลอันประกอบด้วยดินสอพอง ดินเหลือกับเกสรดอกไม้ หรือวัตถุอื่นใดอีกบ้างก็ตาม อาจแบ่งเรียกตามขนาดลักษณะได้เป็น 2 อย่าง คือ     
    - จำพวกขนาดใหญ่ สร้างเป็นรูปลอยตัวหรือรูปนูน เรียกว่า พระพุทธรูปอย่างหนึ่ง
    - จำพวกขนาดเล็กสร้างโดยอาศัยกดหรือหล่อจากแม่พิมพ์ เรียกว่า พระพิมพ์อย่างหนึ่ง
    - ในประเภทพระพิมพ์ ถ้ามีขนาดเล็กๆ ย่อมลงไปอีก มักนิยมเรียกกันว่า
    พระเครื่องราง คำว่า “เครื่องราง” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2493 อธิบายว่า เป็นสิ่งที่นับถือกันว่า ทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี

  พระพิมพ์เป็นโบราณวัตถุมีประโยชน์แสดงถึงหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีหรือไม่.?
  คำตอบก็คือ พระพุทธรูปเป็นของอำนวยประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์โบราณคดีดังที่ได้ทราบชัดแจ้งทั่วไปแล้วฉันใด พระพิมพ์ก็ย่อมอำนวยประโยชน์ให้ฉันนั้น แต่เนื่องด้วยพระพิมพ์เป็นสิ่งนิยมนับถือกันอีกทางหนึ่งว่าเป็นเครื่องรางของขลัง จึงมักมีการบิดเบือนความจริงเกิดขึ้น คือ

  เมื่อมีผู้ขุดพบพระพิมพ์ในสถานที่แห่งใดอันไม่สู้มีชื่อเสียงในเรื่องของขลังนัก ผู้ขุดพบมักเพทุบายว่า ขุดได้มาจากสถานที่อื่นอันเคยเลื่องชื่อลือชามาแต่เก่าก่อนว่าเป็นแหล่งมีของขลัง เพื่อประโยชน์อย่างเป็นสินค้า ให้สิ่งของนั้นมีราคาค่างวดสูงขึ้น การบิดเบือนความจริงทำนองนี้แม้จะไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้รับไว้สักการบูชาก็จริงอยู่

แต่ทว่าเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้แนวการวินิจฉัยศิลปะและอายุของโบราณวัตถุสถานเกิดเคลือบแคลงสงสัยหรือคลาดเคลื่อนจากความแน่นอน ข้อนี้ดูเหมือนในหมู่นักรวบรวมพระพิมพ์จะเคยประสบกันอยู่เสมอๆ จึงทำให้เกิดความมั่นใจในอันจะอาศัยพระพิมพ์เป็นหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีลดน้อยไปกว่าพระพุทธรูป



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2852-768x577.jpg)
พระพิมพ์กรุวัดราชบูรณะ



มูลเหตุการสร้างพระพิมพ์

มูลเหตุที่มีการสร้างพระพิมพ์ขึ้นนั้น ท่านศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ได้ตรวจสอบหาความรู้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ตำนานพระพิมพ์” ดังจะนำมากล่าวต่อไปนี้ ว่า

“พระพิมพ์เป็นของเก่าแก่ที่ได้มีผู้ทำขึ้นตั้งแต่ตอนต้นพระพุทธศาสนา (คือภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นานนัก) ข้าพเจ้าถือว่าเป็นของที่ควรเคารพนับถือ และเป็นประโยชน์ในการสอบสวนพงศาวดารมาก”

 :25: :25: :25: :25:

ประเพณีการสร้างพระพุทธรูป โดยวิธีใช้กดด้วยแม่พิมพ์และประทับด้วยตรานี้ปรากฏแต่ในฝ่ายพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในฝ่ายพราหมณศาสนาจะได้มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร ข้าพเจ้าไม่ทราบบรรดาพระพิมพ์ต่างๆ ที่ได้พบในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือในประเทศอินเดีย มณฑลฮูนานในประเทศจีน ที่ตามถ้ำต่างๆ ในแหลมมลายู และที่บนฝั่งทะเลญวนเหล่านี้ ก็เป็นอย่างฝ่ายพระพุทธศาสนาทั้งนั้น

ตามความคิดเห็นอันแยบคายของศาสตราจารย์ ฟูเช เราอาจจับเค้าได้ว่าพระพิมพ์ต่างๆ เหล่านี้ มีมูลเหตุมาจากสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า ใหญ่ๆ ทั้ง 4 ตำบลในอินเดีย คือ
   - เมืองกบิลพัสดุ์ อันเป็นที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตำบลหนึ่ง
   - พุทธคยา ที่ที่พระองค์ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตำบลหนึ่ง
   - ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ที่ที่พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาตำบลหนึ่ง
   - เมืองกุสินารานคร ที่ที่พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ตำบลหนึ่ง



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2851-768x532.jpg)
พระพิมพ์กรุวัดราชบูรณะ


ศาสตราจารย์ ฟูเช กล่าวว่า ไม่สู้จะเป็นการยากอะไรที่จะคิดว่าตามธรรมดาพวกสัตบุรุษจะต้องนำอะไรมาเป็นที่ระลึกจากสังเวชนียสถานอันสำคัญทั้ง 4 ตำบลเหล่านั้น อะไรเล่าจะเป็นสิ่งแรกในสิ่งที่เคารพนับถือกันที่ได้ทำขึ้น โดยพิมพ์บนแผ่นผ้าหรือทำด้วยดิน ด้วยไม้ ด้วยงา หรือด้วยแร่ ที่เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองพุทธคยา เมืองพาราณสี และเมืองกุสินารานคร ปรากฏอยู่อย่างชัดเจนแล้วว่า ในเมืองทั้งสี่นี้ เมืองไหนมีปูชนียสถานอันรู้จักกันแพร่หลายชนิดไร และทั้งได้มีหนังสืออีกหลายเรื่องที่อธิบายถึงปูชนียสถานอันสำคัญๆ เหล่านี้ว่าได้แก่อะไรบ้าง

 ans1 ans1 ans1 ans1

สิ่งที่จะได้เห็นก่อนสิ่งอื่นที่เมืองกุสินารานคร ก็คือ สถานที่ที่พระศาสดาจารย์เจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทำเครื่องหมายโดยสร้างพระสถูปขึ้นไว้ที่ตรงนั้นตั้งแต่เดิมมา เช่นเดียวกับที่เมืองพาราณสีทำรูปเสมาธรรมจักรขึ้นไว้ หมายถึงปาฏิหาริย์อันอัศจรรย์ รูปเสมาธรรมจักรนี้จะต้องมีมฤคคู่หนึ่งอยู่ด้วยเสมอ

สิ่งอันเป็นที่นับถือที่เมืองพุทธคยาคือต้นโพธิ์พฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่โคนต้น เมื่อได้ตรัสรู้อนุตรสัมมา-สัมโพธิญาณ

แต่สำหรับที่เมืองกบิลพัสดุ์ จะเป็นสิ่งไหนแน่ ยังเป็นข้อน่าสงสัยอยู่ (ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานตรงข้อนี้ว่า น่าจะเป็นพระยุคลบาท คือหมายความว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติ เสด็จพระราชดำเนินไปในทิศทั้ง 4 ทิศละ 7 ก้าว)

 st12 st12 st12 st12

ส่วนที่สามเมืองอื่นนอกจากเมืองกบิลพัสดุ์ ไม่มีสิ่งที่น่าสงสัยเลย คือ ที่เมืองพุทธคยาต้องเป็นต้นโพธิ์ ที่เมืองพาราณสีจะต้องเป็นเสมาธรรมจักร และที่เมืองกุสินารานครจะต้องเป็นพระสถูปแน่นอน



(http://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2016/04/IMG_2860-768x554.jpg)
พระพิมพ์กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ


ความคิดเห็นของท่านศาสตราจารย์ ฟูเช อันนี้ ทำให้เรารับรองพระพิมพ์ว่าเป็นอนุสาวรีย์ของสังเวชนียสถานนั้นๆ และทั้งเป็นเครื่องอธิบายลักษณะเฉพาะของพระพิมพ์อันมีมากอย่างด้วยกันด้วยพระพิมพ์เหล่านี้เป็นจำนวนมากที่หมายให้รู้โดยท่าทีทำขึ้น คือ ไม่สักแต่เป็นรูปพระพุทธเจ้าทั่วไปเท่านั้น ยังเป็นรูปพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะปาง รูปพระพุทธเจ้าเฉพาะอย่างในวัดหนึ่งหรือในที่อันหนึ่งด้วย

เช่นกับ พระพิมพ์บางอย่างเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ยอดปราสาท พระพิมพ์ที่ว่านี้ได้พบที่ตำบลท่ากระดานใกล้เมืองไชยา มีลักษณะเหมือนกับพระพิมพ์ที่ได้พบในที่ใกล้เคียงเมืองพุทธคยาในอินเดีย ยอดปราสาทซึ่งมีรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ข้างใต้ในท่าแสดงธรรมเทศนานี้เป็นยอดปราสาทที่เมืองพุทธคยาโดยแท้จริงทีเดียว และพระพิมพ์ที่ได้พบที่เมืองไชยานี้ก็เป็นฝีมือช่างอินเดียกับยอดปราสาทเมืองพุทธคยานั้นโดยไม่ต้องสงสัย

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


ที่มาข้อมูล : หนังสือ จิตรกรรมและศิลปวัตถุ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหนังสือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิมพ์เผยแพร่ครั้งที่ 2 โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2558
ขอขอบคุณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
http://www.matichon.co.th/news/107680 (http://www.matichon.co.th/news/107680)