สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ เมษายน 26, 2016, 08:30:00 am



หัวข้อ: กระทรวงวัฒนธรรมสร้างพลังชุมชน ด้วยมิติศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 26, 2016, 08:30:00 am






วธ.สร้างพลังชุมชนด้วยมิติศาสนา

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับผู้นำ 5 ศาสนา สร้างพลังชุมชนเข้มแข็งเน้นความปรองดอง ใช้ศาสนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในความหลากหลายของประเทศไทย

วันนี้( 25 เม.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กรมการศาสนาได้จัดการประชุมเสวนา 5 ศาสนา หัวข้อ “การเผยแพร่ศาสนาในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ ในประเทศไทย” ซึ่ง มีผู้นำศาสนา 5ศาสนา ผู้แทน หน่วยงาน องค์กร ร่วมงานกว่า 100 คน โดย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้ง ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ และเชื้อชาติ ซึ่งในอดีตก็สามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขเรื่อยมา แต่ปัจจุบันอาจมองว่า สังคมไทยมีความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจกันในบางประเด็น

ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้นำศาสนาทั้ง 5 จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องคำสอนที่มีความต่างกัน แต่สามารถอยู่ร่วมกัน เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และเผยแพร่คำสอนไปสู่ศาสนิกชนได้ถูกต้อง และหลังจากนี้ วธ.จะลงพื้นที่ชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนา เพื่อบูรณาการจัดกิจกรรมสร้างพลังชุมชุมให้เข้มแข็งมากขึ้น

 ans1 ans1 ans1 ans1

พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ยุคนี้ถ้าไม่มีการทำความเข้าใจการเผยแผ่ศาสนาให้เพื่อนต่างศาสนา อาจทำให้การปฏิบัติต่อกันไม่ถูกต้องได้ ดังนั้นการเผยแพร่ศาสนาจะต้องเพิ่มเติมจากที่บรรพบุรุษทำไว้ คือ นอกจากการสอนศาสนิกชนของแต่ละศาสนาแล้วยังจะต้องให้ความรู้แก่เพื่อนต่างศาสนา เพื่อให้เข้าใจในคำสอนของแต่ละศาสนา และในฐานะชาวพุทธต้องพยายามเรียนรู้เข้าใจลัทธิของเพื่อนต่างศาสนา และเคารพในความแตกต่าง ที่สำคัญยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เวลาบริโภคข่าวสารมักจะเลือกที่ด้านเดียว ซึ่งนำไปสู่การขุดหลุมทางความคิด ปิดกั้นความเข้าอกเข้าใจ

ดังนั้นในการเผยแผ่ศาสนาหากมีข้อมูลที่ทำให้ไม่เข้าใจกันมากขึ้นก็จะเกิดความแตกแยกได้ และอย่านึกว่าเป็นเรื่องเล่น เพราะอิทธิพลของวิธีคิดในยุคนี้ทำให้ประเทศไทยแตกแยกทางการเมืองถึงทุกวันนี้ ยิ่งเรื่องศาสนาก็ยิ่งไปใหญ่ เพราะฉะนั้นองค์การยูเนสโกจึงแนะว่าในยุคที่บริโภคข่าวสารเฉพาะให้เปิดหูเปิดตาให้มากขึ้น รวมถึงในการเผยแพร่ศาสนาให้เป็นไปเพื่อความสมานฉันท์ ปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยยึดหลักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยอมรับในความแตกต่าง เพื่อเผยแพร่การสร้างความรู้ความเข้าใจ และแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างอะไรที่ทำให้วงแตกให้หยุดเสีย

 :25: :25: :25: :25:

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักจุฬาราชมนตรี และกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชาวมุสลิมในประเทศไทยต้องขอบคุณศาสนาพุทธ ที่มีบุญคุณอันใหญ่หลวงต่อการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม เนื่องจากความเอื้ออาทรที่มาจากคำสอนของศาสนาพุทธที่ไม่เบียดเบียนกัน ถือเป็นคำสอนทางจริยธรรมที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้การอยู่ร่วมกันของต่างศาสนิกเอื้อต่อกัน

ทั้งนี้การอยู่ร่วมกันของพี่น้องต่างศาสนิกไม่ใช่เพื่อเป็นศัตรูกันหรือก่อสงคราม เพราะในคำสอนอิสลามไม่มีเรื่องนี้ แต่ยังเป็นปัญหาของสังคมมุสลิมที่มีอยู่ในโลกและถูกมองในแง่ความสุดโต่ง และความเข้าใจคลาดเคลื่อน การเอาศาสนามาอ้างเพื่อสร้างความรุนแรง สร้างความแตกแยกในสังคมไม่ควรมี เพราะเป็นเรื่องเลวร้ายมาก ซึ่งในภาคใต้ก็เป็นอีกสถานการณ์หนึ่งและท้ายที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ และความสุดโต่งบางอย่างที่เกิดขึ้นจากลัทธินิยม

อย่างไรก็ตามเวลานี้สำนักจุฬาฯกำลังทำเรื่องทางสายกลางในแบบของอิสลาม นำเสนอให้สาธารณชนทุกศาสนาได้รู้ว่า ทางสายกลางในแบบอิสลาม คือ ความเป็นธรรม อยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ขณะเดียวกันมุสลิมยังมีความบกพร่องเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพราะจะเรียนเฉพาะอิสลาม หลายคนคิดว่า เรียนศาสนาพุทธเป็นบาปถือเป็นค่านิยมโบราณ เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การให้เกียรติกัน


ขอบคุณภาพข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th/education/393865 (http://www.dailynews.co.th/education/393865)