สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 13, 2016, 10:26:10 pm



หัวข้อ: แม่โพสพ...ของลูก
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 13, 2016, 10:26:10 pm




แม่โพสพ...ของลูก

ยาย...แม่ของแม่เป็นไทยแท้ วิถีชีวิตคนไทโบราณ...แม่สืบทอดวิชามาจากยาย ไม่แค่ปีนตาลเคี่ยวตาล ถึงฤดูกาล ยังทำนาในท้องร่องสวนมะพร้าว

ตอนลงแขกเกี่ยวข้าว...แขกส่วนใหญ่ใช้เคียว แขกส่วนน้อยรวมทั้งแม่ถนัดใช้ “แกระ” แกระเล็กสั้นกระชับมือ เกี่ยวได้น้อยกว่า แต่ข้าวไม่ช้ำ เด็กอายุ 5-6 ปี อย่างผมชอบมาก หยุดพักคนลงแขกอิ่มข้าว ตามด้วยของหวานขนมปลากริมไข่เต่า

หลังบ้าน มียุ้งข้าว ใต้ถุนบ้านมีครกตำข้าว มีเครื่องสีข้าว...สีกันด้วยสองมือ บางปีแม่เห็นว่าสีข้าวเองเหนื่อยนัก แม่ก็เอาข้าวเปลือกใส่กระสอบลงเรือสำปั้น พายลึกเข้าไปในคลอง เอาข้าวไปสีที่โรงสีนัดตาว่าย

ช่วงเวลาข้าวงาม...แม่ทำขนมต้ม พร้อมธูปเทียน ไปไหว้แม่โพสพ แม่โพสพมีบุญคุณมาก ให้กำเนิดข้าว ช่วยคุ้มครองปกป้องข้าว ให้งอกงามบริบูรณ์ เรื่องเล่าของแม่...มีแค่นั้น

 :96: :96: :96: :96:

เรื่องเล่าของแม่ ไม่มีกลิ่นอาย...เรื่องเล่าของคนไท...เมื่อ 3 พันปี แถวกวางสี แถวยูนนาน มีหมาเก้าหาง ไปขโมยพันธุ์ข้าวจากเทวดาบนฟ้า ถูกเทวดาไล่ฟันหางขาด เหลือข้าวติดหางหมาหางเดียว

ผมเพิ่งอ่านหนังสือ วัฒนธรรมข้าวไทย (บริษัทชนนิยม พิมพ์ กำลังวางขาย) อาจารย์ทองแถม นาถจำนง รวบรวมเรื่องหมาเก้าหางเล่าไว้หลายสำนวน หมามีคุณ มีประเพณีหุงข้าวใหม่ให้หากิน

หมาน่าจะตัวเดียวกันนั้น เดินทางไกลมาถึงแถวภาคเหนือของไทย... ก็กลายเป็น “สิง” เรียก “สิงมอม” เมื่อวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาผสม ภาพเจ้า “สิงมอม” ก็เริ่มเลือนๆไปกลายเป็นพ่อโคสกและแม่โพสพไปในปัจจุบัน

เรื่องเพศแม่โพสพเป็นหญิงหรือเป็นชาย เดิมทีไม่ชัดเจน ที่เชื่อว่าเป็นชาย เรียกพ่อโพสพ หรือปู่ขวัญข้าว ที่มั่นใจว่าเป็นหญิง เรียกแม่โพสพ หรือ “นางข้าว” ตำนานแม่โพสพนั้น...อาจารย์ทองแถม บอกว่า คนภาคกลางภาคใต้ ก็เรื่องหนึ่ง คนทางเหนือทาง อีสาน ก็อีกเรื่องหนึ่ง...กลิ่นอายทำท่าจะเหมือนไปทางคะแนนประชามติ...ร่างรัฐธรรมนูญ

 :25: :25: :25: :25:

ผมขออนุญาต เลือกเอามาเล่าต่อ...สักเรื่องหนึ่ง นางโคสกเป็นเมียพระอินทร์ ก่อนหมดบุญจากสวรรค์ ก็ขอพรพระสวามี เห็นว่ามนุษย์นั้นอดอยากนัก เมื่อเป็นมนุษย์ ขออุทิศร่างเป็นอาหาร ให้มนุษย์ ได้เวลานางโคสกก็จุติลงมาเป็นผู้หญิงสวย มือถือ ดอกปาริชาติเดินเข้าไปในอาศรมฤาษีตาไฟ ฤาษีตนนี้ นั่งหลับตาบำเพ็ญตบะทั้งปี จะลืมตาก็เมื่อฤดูดอกปาริชาติบาน ฤาษีได้กลิ่นดอกปาริชาติก็ แปลกใจ...ลืมตา นางโคสก ก็ไหม้เป็นจุณ

ฤาษีเสกน้ำรด...นางโคสกฟื้นคืนชีพ บอกความตั้งใจ แล้วกลายเป็นเมล็ดข้าวใหญ่ ฤาษีใช้ไม้เท้าตีเมล็ดข้าวแตกกระจายไปทั่วโลก ตกในป่าเป็นหัวเผือกหัวมัน ตกในที่ราบเป็นทุ่งเป็นหนอง ก็เป็นข้าวเมล็ดโตเท่าผลแตงโ เมล็ดข้าว มีชีวิตจิตใจ มีปีกบินไปเข้ายุ้งมนุษย์ได้เอง มนุษย์แค่ใช้มีดผ่าก็หุงหากินได้เลย

วันหนึ่ง แม่หม้ายใจร้ายนางหนึ่ง สร้างยุ้งยังไม่เสร็จ ข้าวก็บินเข้ามา นางเห็นว่าข้าววุ่นวาย หลุดปากด่า ทั้งยังใช้ไม่คานตีข้าวแตกกระจาย ข้าวเสียใจ บินหนีเข้าป่า ไปเป็นเผือกเป็นกลอย มนุษย์ไม่มีข้าวกิน ร้อนถึงพระฤาษี ต้องตามไปง้อ นางโคสกใจอ่อน แต่ขอเงื่อนไข

ขอให้มนุษย์นึกถึงบุญคุณ เวลาจะปลูก จะเกี่ยว จะหาบ จะนวดก็ต้องมีพิธีขอต่อนางธรณี พระภูมิ และตาแฮก ต้องแต่งพานหวาน 4 พาน หมาก 4 คำ ยา 4 กอก บูชา มนุษย์จึงมีข้าวกินอีกครั้ง และมีพิธีไหว้แม่โพสพ มาตั้งแต่ครั้งนั้น

 ans1 ans1 ans1 ans1

แม่โพสพ เป็นเรื่องในตำนานครับ คติของเรื่องสอนให้นึกถึงผู้มีคุณ ส่วนแม่ในชีวิตจริง เรามีกันทุกคน แม่ผมปีนต้นมะพร้าว เคี่ยวตาล บ่าปูดโปนเป็นปื้น เพราะแบกหาบกระบอกน้ำตาลมะพร้าว...แม่ทำนาเลี้ยงลูกรอดมาได้ทั้ง 6 คน

วันแม่ทุกปี ผมไปกราบแม่...แม่เอามือลูบหัว ให้ศีลให้พร...แล้วคุยกันเรื่องเก่าๆ เช่นเรื่องแม่อุ้มผมลงเรือ พายไปถึงคลองวัดประดู่ ผ่านบ้านกอไผ่ ไปจอดที่ปากท่อ เดินเท้าไปงานบวชญาติที่ดอนทราย...และหลายเรื่องที่นึกได้แม่ผมตายไปหลายปี ปีนี้ผมไม่มีแม่ให้กราบอีกแล้ว

ใครที่ยังมีแม่ วันแม่ปีนี้เป็นโอกาสดีที่จะต้องไป... เคยกราบก็กราบ เคยกอดก็ต้องกอด โอกาสกราบและกอดแม่นั้น...ถ้าปล่อยให้ผ่านเลยไป จะไม่หวนคืนมาให้ใครอีกเลย.

       กิเลน ประลองเชิง



คอลัมน์ชักธงรบ โดย กิเลน ประลองเชิง 12 ส.ค. 2559
http://www.thairath.co.th/content/687513 (http://www.thairath.co.th/content/687513)


หัวข้อ: Re: แม่โพสพ...ของลูก
เริ่มหัวข้อโดย: บุญเอก ที่ สิงหาคม 14, 2016, 12:17:39 am
 like1 st12 thk56


หัวข้อ: Re: แม่โพสพ...ของลูก
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ สิงหาคม 14, 2016, 11:19:52 pm
ปลูกข้าวออกรวง ต้องอย่าลืมไหว้แม่โพสพก่อนนะ


   เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย ในเรื่อเพาะปลูกจ้า