สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 23, 2016, 10:42:56 am



หัวข้อ: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 23, 2016, 10:42:56 am


(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_23_08_16_10_44_22.jpeg)



วิธีคิดแบบ "วิภัชชวาท"

วิธีคิดแบบวิภัชชวาท เป็นวิธีคิดวิเคราะห์ในลักษณ์แง่ต่างๆ กัน ดังนี้

1. จำแนกโดยแง่ด้านความจริง แบ่งเป็น ๒ วิธี คือ
    1.1 จำแนกไปทีละด้าน ทีละประเด็น
    1.2 จำแนกทีละด้านจนครบทุกด้าน ทุกประเด็น
2. จำแนกโดยส่วนประกอบ วิเคราะห์แยกแยะออกไปเป็นองค์ ประกอบย่อยๆ เช่น สัตว์บุคคลออกเป็นนามและรูป เป็นขันธ์ ๕
3. จำแนกโดยลำดับขณะ แยกแยะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ตาม ลำดับความสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ซอยออกไปเป็นขณะๆ ตามลำดับเวลา ลำดับขั้นตอน ลำดับเหตุ ลำดับผล แต่ละระยะ เหตุการณ์
4. จำแนกโดยความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย สืบสาวหาสาเหตุปัจจัยต่างๆ ที่สัมพันธ์สืบทอดกันมาของสิ่ง หรือปรากฏการณ์
5. จำแนกโดยเงื่อนไข มองหรือแสดงความจริงใจโดยพิจารณา เงื่อนไขประกอบด้วย จึงจะสรุป

 st12 st12 st12 st12

6. จำแนกโดยทางเลือก หรือความเป็นไปได้อย่างอื่น เช่น ผู้ที่คิด ควรตระหนักว่า
    6.1 หนทาง วิธี การ หรือความเป็นไปได้ อาจมีได้หลายอย่าง
    6.2 ในบรรดาหนทาง วิธีการ หรือความเป็นไปได้หลายอย่างนั้น บางอย่างอาจดีกว่า ได้ผลกว่า หรือตรงแท้กว่าอย่างอื่น
    6.3 ในบรรดาทางเลือกหลายอย่างนั้น บางอย่าง หรืออย่างหนึ่งอาจเหมาะสม หรือได้ผลดีสำหรับตน หรือสำหรับกรณีนั้นมากกว่าอย่างอื่น
    6.4 ทางเลือก หรือความเป็นไปได้ อาจมีเพียงอย่างเดียว หรือหลายอย่าง แต่เป็นอย่างอื่น คือ ไม่ใช่ทางเลือกหรือความเป็นไปได้อย่างที่ตนกำลังปฏิบัติ หรือกำลังเข้าใจอยู่ในขณะนั้น
7. วิภัชชวาทในการตอบปัญหา ซึ่งมี 4 แบบ คือ
    7.1 ปัญหาที่ควรตอบอย่างเด็ดขาด
    7.2 ปัญหาที่ควรแยกแยะหรือจำแนกตอบ
    7.3 ปัญหาที่ควรตอบโดยย้อนถาม
    7.4 ปัญหาที่ควรยับยั้งไม่ควรตอบ


ที่มา : http://mediacenter.mcu.ac.th (http://mediacenter.mcu.ac.th)
ขอบพระคุณข้อมูลจาก : trueplookpanya


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 23, 2016, 10:58:13 am
 
(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_23_08_16_10_56_42.jpeg)


ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา ลักษณะที่ 5 : เป็นวิภัชชวาท

ลักษณะที่ 5 พระพุทธศาสนาเป็น “วิภัชชวาท” ดังที่ได้เป็นคำสำคัญในการสังคายนาครั้งที่ 3 ซึ่งพระโมคคัลลีบุตรติสเถระเป็นประธาน ครั้งนั้นพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้อุปถัมภ์การสังคายนา เรียกว่าเอกอัครศาสนูปถัมภก
     พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสถามพระโมคคัลลีบุตรติสเถระว่า
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร สอนอย่างไร.?
     พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทูลตอบว่า
     พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชชวาที

    วิภัชชวาทเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของคำสอนในพระพุทธศาสนา
    ที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นวิภัชชวาที หรือเป็นวิภัชชวาทะนั้น วิภัชชวาท คือ อะไร
    คือ การแสดงความจริงหรือการสอนโดยแยกแยะจำแนก หมายความว่า ไม่มองความจริงเพียงด้านเดียว แต่มองความจริงแบบแยกแยะจำแนกครบทุกแง่ด้าน ไม่ดิ่งไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หลักการแสดงความจริงด้วยวิธีจำแนกแยกแยะอย่างนั้น เรียกว่า วิภัชชวาท

เป็นความโน้มเอียงของมนุษย์ ที่จะมองอะไรข้างเดียวด้านเดียว พอเจออะไรอย่างหนึ่ง เพียงได้เห็นด้านเดียว ก็เหมาสรุปว่านั่นคือสิ่งนั้น ความจริงคืออย่างนั้น แต่ความจริงที่แท้ของสิ่งทั้งหลายมีหลายด้าน จึงต้องมองให้ครบทุกแง่ทุกด้าน

 ans1 ans1 ans1 ans1

พระพุทธศาสนา มีลักษณะจำแนกแยกแยะ ดังที่เรียกว่า วิภัชชวาท คำว่า “วิภัชช” แปลว่า จำแนกแยกแยะ

การจำแนกแยกแยะที่สำคัญ คือในด้านความจริง เช่น เมื่อพูดถึงชีวิตคน ท่านจำแนกออกไปเป็นขันธ์ 5 โดยแยกออกเป็นรูปธรรมและนามธรรมก่อน แล้วแยกนามธรรมออกไปอีกเป็น 4 ขันธ์ แม้แต่ 4 ขันธ์นั้น แต่ละขันธ์ยังแยกแยะจำแนกย่อยออกไปอีก คือแยกแยะความจริงให้เห็นทุกแง่ทุกด้าน ไม่ตีคลุมไปอย่างเดียว ต่างจากคนจำนวนมากที่มีลักษณะตีขลุม และจับเอาแง่เดียวไปเหมาคลุมเป็นทั้งหมด ทำให้มีการผูกขาดความจริงโดยง่าย

แม้แต่ในการตอบคำถามบางประเภท ก็ต้องมีลักษณะของการจำแนกแยกแยะ ไม่ตอบตีขลุมลงไปอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น มีผู้มาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า คฤหัสถ์ คือ ชาวบ้านนั้น เป็นผู้ที่จะยังข้อปฏิบัติที่เป็นกุศลให้สำเร็จ แต่บรรพชิตไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ ใช่หรือไม่

นี่ถ้าตอบแบบลงความเห็นข้างเดียว ที่เรียกว่า เอกังสวาท ก็ต้องตอบดิ่งไปข้างหนึ่ง โดยต้องปฏิเสธ หรือว่ารับ ถ้ายอมรับก็บอกว่าใช่แล้ว คฤหัสถ์เท่านั้นทำสำเร็จ บรรพชิตไม่สำเร็จ ถ้าปฏิเสธก็บอกว่าไม่ใช่ คฤหัสถ์ไม่สำเร็จ บรรพชิตจึงจะสำเร็จ

แต่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น พระพุทธเจ้าตรัสแบบวิภัชชวาท ทรงชี้แจงว่าพระองค์ไม่ตรัสเอียงไปข้างเดียวอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ถ้ามีสัมมาปฏิบัติแล้ว ก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้ามีมิจฉาปฏิบัติ คือปฏิบัติผิดแล้ว ก็ทำกุศลธรรมให้สำเร็จไม่ได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า วิภัชชวาท



(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_23_08_16_10_57_18.jpeg)


อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นมีคนมากราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า วาจาที่ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น พระองค์ตรัสไหม ถ้าเป็นเรา เราจะตอบว่าอย่างไร ถ้าเขามาถามว่า คำพูดที่คนอื่นไม่ชอบใจ ไม่เป็นที่รักของเขา ท่านพูดไหม ท่านจะตอบว่าอย่างไร ถ้าตอบว่าพูดหรือตอบว่าไม่พูด ก็เรียกว่าตอบดิ่งไปข้างเดียว

แต่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอย่างนั้น พระองค์ตรัสว่า ในข้อนี้เราไม่ตอบดิ่งไปข้างเดียว แล้วพระองค์ก็ตรัสแยกแยะให้ฟังว่า
    วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
    วาจาใดเป็นคำจริง ไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
    วาจาใดเป็นคำจริง เป็นประโยชน์ ไม่ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส
    วาจาใดไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ไม่ตรัส
    วาจาใดจริง ไม่เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์ก็ไม่ตรัส
    วาจาใดเป็นคำจริง เป็นประโยชน์ ถูกใจผู้ฟัง พระองค์เลือกกาลที่จะตรัส


เขาถามเพียงคำถามเดียว พระองค์ตรัสแยก 6 อย่าง ขอให้พิจารณาดู อย่างนี้เรียกว่าวิภัชชวาท นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะท่าทีของการสนองตอบหรือปฏิกิริยาต่อสิ่งทั้งหลายแบบชาวพุทธ ซึ่งมีการมองอย่างวิเคราะห์และแยกแยะจำแนกแจกแจง เพื่อให้เห็นความจริงครบทุกแง่ด้าน

 :25: :25: :25: :25:

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในการแยกประเภทคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าตรัสกามโภคี 10 ประเภท แสดงหลักการวินิจฉัยคฤหัสถ์โดยการแสวงหาทรัพย์ โดยการใช้จ่ายทรัพย์ และโดยท่าทีของจิตใจต่อทรัพย์เป็นต้น แล้วแยกประเภทคฤหัสถ์ไปตามหลักการเหล่านี้

หลักการต่างๆ ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ธรรมในพระพุทธศาสนามีลักษณะพิเศษที่มักจะมีเป็นข้อๆ โดยรวมเป็นชุดๆ ดังที่จัดเป็นหมวดธรรมต่างๆ เช่น หมวดสอง หมวดสาม หมวดสี่ หมวดห้า หมวดหก ฯลฯ

      พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักจำแนกธรรม จึงได้รับการเฉลิมพระนามอย่างหนึ่งว่า ภควา
      ภควานั้น แปลได้สองอย่าง คือ แปลว่าผู้มีโชคก็ได้ แปลว่าผู้จำแนกแจกธรรมก็ได้
      นี้เป็นลักษณะที่เรียกว่าวิภัชชวาท คือเป็นนักวิเคราะห์จำแนกแจกธรรม หรือแยกแยะให้เห็นครบแง่ด้านของความจริง



ที่มา: ลักษณะแห่งพระพุทธศาสนา — พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
http://vivattana.blogspot.com/2014/02/b25320501-0030.html (http://vivattana.blogspot.com/2014/02/b25320501-0030.html)


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ สิงหาคม 23, 2016, 08:20:33 pm
 like1
     ขออนุโมทนาสาธุ  ...เยี่ยมๆ  ครับ


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: kobyamkala ที่ สิงหาคม 24, 2016, 09:04:40 am
 st12 st12 st12 like1


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: Hero ที่ สิงหาคม 24, 2016, 09:05:52 am
 st11 st12 st12 เป็นเนื้อหาที่ดีมาก ครับ


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: kingman ที่ สิงหาคม 25, 2016, 09:23:58 am
 st11 st12 st12


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: Admax ที่ สิงหาคม 25, 2016, 12:09:12 pm
 st12 st12 st12 thk56 thk56 thk56


หัวข้อ: Re: วิธีคิดแบบ "วิ ภั ช ช ว า ท"
เริ่มหัวข้อโดย: feel-sad ที่ สิงหาคม 25, 2016, 01:32:08 pm
 st11 st12 st12