สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 24, 2016, 12:03:03 pm



หัวข้อ: ข้อสังเกต ๙ ประการ เกี่ยวกับ "พุทธวจน"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 24, 2016, 12:03:03 pm


(http://webboard.horoscope.sanook.com/forum/?action=dlattach;topic=3760882.0;attach=1253173;image)



ธรรมะของพระพุทธองค์  
โดยอาจารย์เทวฤทธิ์ อยู่สุนทร

พุทธวจน คือ คำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสสอนไว้

      ข้อสังเกต ๙ ประการเกี่ยวกับพุทธวจน
     ๑. พระพุทธเจ้าสามารถกำหนดสมาธิเมื่อจะพูดทุกถ้อยคำจึงไม่ผิดพลาด(ดูพระสูตร ๑)
     ๒. แต่ละคำที่พระพุทธเจ้าพูดเป็นอกาลิโก คือถูกต้อง ตรงจริงไม่จำกัดกาลเวลา(ดูพระสูตร ๒)
     ๓. คำที่พระพุทธเจ้าพูดมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้จนกระทั่งปรินิพพานนั้นสอดรับไม่ขัดแย้งกัน(ดูพระสูตร ๓)
     ๔. พระพุทธเจ้าทรงบอกเหตุความอันตรธานของคำสอนเปรียบด้วยกลองศึก(ดูพระสูตร ๔ )
     ๕. พระพุทธเจ้าทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำสอนของพระองค์เท่านั้นอย่าฟังผู้อื่น(ดูพระสูตร ๕)
     ๖. พระพุทธเจ้าทรงห้ามบัญญัติ เพิ่ม หรือ ตัดทอน สิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว(ดูพระสูตร ๖)
         พระสูตรเพิ่มเติม : ทรงอนุญาต “สงฆ์จงเลิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ถ้าต้องการ” หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ประเด็นคือ
         ก. เฉพาะด้านวินัย คือสิกขาเล็กน้อย เพิกถอนได้แต่ไม่ได้บอกให้เพิ่มเติมได้
         ข. ด้านธรรมะ และสิกขาบทหลักมิได้อนุญาตให้เพิ่มหรือ ตัดทอน
     ๗. สำนึกเสมอว่า ตนเป็นเพียงผู้เดินตามพระองค์เท่านั้นถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ผู้เลิศทางปัญญาก็ตาม(ดูพระสูตร ๗)
     ๘. พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ให้ทรงจำบทพยัญชนะและคำอธิบายอย่างถูกต้องพร้อมขยันถ่ายทอดบอกสอนกันต่อๆ ไป(ดูพระสูตร ๘)
     ๙. พระพุทธเจ้าทรงบอกวิธีแก้ไขความผิดเพี้ยนในคำสอนอันเกิดจากจำผิด อธิบายผิด ความลางเลือน ความบิดเบือนไปจากเดิม ว่าต้องทำอย่างไร (ดูพระสูตร ๙)

     สรุป พระองค์ตรัสแก่พระอานนท์ ให้ใช้ธรรมที่ตรัสไว้เป็นศาสดาแทนต่อไป (ดูพระสูตร ๑๐)

:25: :25: :25: :25:

(พระสูตร ๑) ความสามารถ
อัคคิเวสนะ ! เรานั้นหรือ, จำเดิมแต่เริ่มแสดงกระทั่งคำสุดท้ายแห่งการกล่าวเรื่องนั้นๆ ย่อมตั้งไว้ซึ่งจิตในสมาธิ
นิมิตอันเป็นภายในโดยแท้ ให้จิตดำรงอยู่ ให้จิตตั้งมั่นอยู่กระทำให้มีความเป็นจิตเอก ดังเช่นที่คนทั้งหลายเคยได้ยินว่าเรากระทำอยู่เป็นประจำ ดังนี้.
(พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๒๔๗,พระไตรปิฎก สยามรัฐ ๑๒/๔๖๐/๔๓๐)

(พระสูตร ๒) ความสามารถ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกละ พวกเธออันเรานำเข้าไปแล้วด้วยธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ซึ่งให้ผล
ได้ไม่จำกัดกาล ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน คำที่เรากล่าวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมนี้ อันเห็นได้ด้วยตนเอง ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ควรเรียกให้มาชม ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.
(พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ.๒๕๓๐, เล่ม ๑๒ ข้อ ๔๐๗ หน้า ๔๕๖)

(พระสูตร ๓) ความสามารถ
ภิกษุทั้งหลาย ! นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึงราตรี ที่ตถาคต
ปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ, ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออกซึ่งถ้อยคำใดถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย.
(พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ หน้า ๒๘๕,พระไตรปิฎก สยามรัฐ ๒๕/๓๒๑/๒๙๓)

(พระสูตร ๔) ห่วงใย
ภิกษุทั้งหลาย ! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่. เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น
(ทุกคราวไป). ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น ;

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะ (ตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้ง)เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้งเป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ ; เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงและจักสำคัญไปว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ
ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่; เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิต
เพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่า เป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน จึงพากันเล่าเรียนไต่ถาม ทวนถามแก่กันและกันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร? มีความหมายกี่นัย?” ดังนี้. ด้วยการทำดังนี้เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้, ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็ทำให้ปรากฏได้, ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัยเธอก็บรรเทาลงได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง, หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่างของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่; จัดเป็นบริษัทที่เลิศแล.
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๓๕ ๒,พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ๒๐/๙๒/๒๙๒)

(พระสูตร ๕ เพิ่มเติม) แนะนำทางแห่งนิโรธ
ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทสองจำพวกเหล่านี้ มีอยู่. สองจำพวกเหล่าไหนเล่า? สองจำพวก คือ อุกกาจิตวินีตาปริสา
(บริษัทอาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) โนปฏิปุจฉาวินีตา(ไม่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเองเป็นเครื่องนำไป) นี้อย่างหนึ่ง, และ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสา(บริษัทอาศัยการสอบสวนทบทวนกันเองเป็นเครื่องนำไป) โนอุกกาจิตวินีตา(ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) นี้อีกอย่างหนึ่ง.

ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทชื่อ อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิ-ปุจฉาวินีตา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้คือภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ตถาคต-ภาสิตา- อันเป็นตถาคตภาษิต คมฺภีรา- อันลึกซึ้ง คมฺภีรตฺถา-มีอรรถอันลึกซึ้ง โลกุตฺตรา- เป็นโลกุตตระ สุญฺญฺต-ปฏิสํยุตฺตา- ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก,

เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดีย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมอันกวีแต่งใหม่นั้นแล้ว ก็ไม่สอบถามซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้. เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยไม่ได้ ไม่หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆ ได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิปุจฉาวินีตา.

ภิกษุทั้งหลาย ! บริษัทชื่อ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโน-อุกกาจิตวินีตา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองเป็นเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำของสาวก อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟังไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.ส่วนสุตตันตะเหล่าใด อันเป็นตถาคตภาษิต อันลึกซึ้งมีอรรถอันลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา,เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมเข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่า เป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมที่เป็นตถาคตภาษิตนั้นแล้ว ก็สอบถามซึ่งกันและกัน ทำให้เปิดเผยแจ่งแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้. เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยได้ หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆ ได้.
ภิกษุทั้งหลาย! นี้เราเรียกว่า ปฏิปุจฉาวินีตา-ปริสาโนอุกกาจิตวินีตา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล บริษัท ๒ จำพวกนั้น.
ภิกษุทั้งหลาย บริษัทที่เลิศในบรรดาบริษัททั้งสองพวกนั้นคือ บริษัทปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา (บริษัทที่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) แล.
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า ๕๐๕-๕๐๗, พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ๒๐/๙๑/๒๙๒)



(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_24_12_16_12_01_33.jpeg)


(พระสูตร ๖) ระวัง
อปริหานิยธรรม (ข้อ ๓) ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใด,ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้ ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น.
(ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๓๐๖,พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ๒๓/ ๒๑/๒๑)

(พระสูตร ๗) อย่าหลง
ภิกษุทั้งหลาย ! ตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะได้ทำมรรคที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครรู้ให้
คนรู้ ได้ทำมรรคที่ยังไม่มีใครกล่าวให้เป็นมรรคที่กล่าวกันแล้ว ตถาคตเป็นมัคคัญญู (รู้มรรค) เป็นมัคควิทู (รู้แจ้ง
มรรค) เป็นมัคคโกวิโท (ฉลาดในมรรค).
ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนสาวกทั้งหลายในกาลนี้เป็นมัคคานุคา (ผู้เดินตามมรรค)เป็นผู้ตามมาในภายหลัง.

ภิกษุทั้งหลาย ! นี้แล เป็นความผิดแผกแตกต่างกันเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน เป็นเครื่องกระทำให้แตกต่าง
กัน ระหว่างตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะ กับภิกษุผู้ปัญญาวิมุตต์.
(อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า ๗ ๒๑,พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ๑๗/๘๑/๑๒๕)

(พระสูตร ๘) คงคำสอน
ภิกษุทั้งหลาย ! มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้ ย่อมทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป.
     สี่ประการอะไรเล่า? สี่ประการ คือ
    (๑) ภิกษุทั้งหลาย ! พวกภิกษุในธรรมวินัยนี้ เล่าเรียนสูตรอันถือกันมาถูก ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันถูก ความหมายแห่งบทพยัญชนะที่ใช้กันก็ถูก ย่อมมีนัยอันถูกต้องเช่นนั้น.
    ภิกษุทั้งหลาย ! นี่เป็นมูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป……….
    ...ฯลฯ....
    (๓) ภิกษุทั้งหลาย ! อีกอย่างหนึ่ง, พวกภิกษุเหล่าใดเป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน ทรงธรรม
ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท) พวกภิกษุเหล่านั้น เอาใจใส่บอกสอน เนื้อความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่น ๆ, เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรทั้งหลาย ก็ไม่ขาดผู้เป็นมูลราก(อาจารย์) มีที่อาศัยสืบกันไป.
    ภิกษุทั้งหลาย! นี่เป็นมูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่เลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป……….
    ...ฯลฯ....
    (ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หน้า ๓๕๕,พระไตรปิฎกบาลี สยามรัฐ๒๑/๑๙๘/๑๖๐)

(พระสูตร ๙) พร้อมป้องกัน
หลักใหญ่เพื่อตรวจสอบวินิจฉัยธรรมวินัย(มหาปเทส ๔) เมื่อมีผู้กล่าวอ้างในแบบต่างๆ ว่า “นี้เป็นพุทธวจน” เพื่อ
สอบสวนเทียบเคียงพระธรรมวินัย
    (๑) (หากมี) ภิกษุในธรรมวินัยนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า“นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา”...
    (๒) (หากมี) ภิกษุในธรรมวินัยนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุในอาวาสชื่อโน้นมีสงฆ์อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า “นี้เป็นธรรมนี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา”...
    (๓) (หากมี) ภิกษุในธรรมวินัยนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้เป็นเถระอยู่จำนวนมากเป็นพหูสูตเรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา”...
    (๔) (หากมี) ภิกษุในธรรมวินัยนี้กล่าวอย่างนี้ว่า ผู้มีอายุในอาวาสชื่อโน้นมีภิกษุผู้เป็นเถระอยู่รูปหนึ่งเป็นพหูสูตรเรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า “นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัยนี้เป็นคำสอนของพระศาสดา”...

    เธอทั้งหลายยังไม่พึงรับรอง ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของผู้นั้น เธอพึงกำหนดเนื้อความเหล่านั้นให้ดี แล้วนำไปสอบสวนในสูตร นำไปเทียบเคียงในวินัย
    - ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ไม่ได้พึงสันนิษฐานว่า
    “นี้มิใช่พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนั้นจำมาผิด” เธอทั้งหลายพึงทิ้งเหล่าคำนั้นเสีย
    - ถ้าบทพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในสูตรก็ได้ เทียบเข้าในวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า
    “นี้พระดำรัส ของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแน่นอน และภิกษุนั้นรับมาด้วยดี” เธอทั้งหลายพึงจำมหาปเทส...นี้ไว้.
    (มหาปเทส ๔ พระไตรปิฎกแปลไทย มจร. ๑๔/๕๓/๔๑, มหาปรินิพพานสูตร มหา.ที่. ๑๐/๑๔๔/๑๑๒

(พระสูตร ๑๐) ใช้คำสอนแทนพระองค์
อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว
พวกเราไม่มีพระศาสดา ดังนี้
    อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น
    อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดีที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลายธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายโดยกาลล่วงไปแห่งเรา
    (มหาปรินิพพานสูตร มหา.ที. ๑๐/๑๕๙/๑๒๘)

     อานนท์ ! ความขาดสูญแห่งกัลยานวัตรนี้ มีในยุคแห่งบุรุษใด
     บุรุษนั้นชื่อว่า เป็นบุรุษคนสุดท้ายแห่งบุรุษทั้งหลาย...
     เราขอกล่าวย้ำกะเธอว่า...เธอทั้งหลายอย่าเป็นบุรุษพวกสุดท้ายของเราเลย



เครดิต พุทธวัจนะ ธรรมะจัดสรร..เพื่อการเผยแผ่คำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ ถวายเป็นพุทธบูชา
http://webboard.horoscope.sanook.com/forum/?topic=3760882 (http://webboard.horoscope.sanook.com/forum/?topic=3760882)