หัวข้อ: “ยาดม ยาอม ยาหม่อง” กับ 8 คำถาม ที่คุณอาจลืมว่า เคยสงสัย.!! เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 06, 2017, 09:51:19 am (http://www.mhthailand.com/wp-content/uploads/2017/02/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-0.jpg) “ยาดม ยาอม ยาหม่อง” กับ 8 คำถาม ที่คุณอาจลืมว่า เคยสงสัย.!! ยาสามัญประจำบ้านภูมิปัญญาไทยสุดฮิต สุดฮอต ที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ครองใจสังคมไทย ตั้งแต่เด็กจนโตขนาดที่ไม่มีใครไม่รู้จัก คงหนีไม่พ้น “ยาดม ยาอม ยาหม่อง” มิตรคู่เรือนที่คุ้นเคยของใครหลายคน แต่อย่าให้ความใกล้ทำให้คุณละเลยที่จะรู้จักยาทั้งสาม วันนี้ Men’s Health ของเราจึงขอพาทุกคนมาหาคำตอบกับ 9 ประเด็นคาใจที่หลายคนอาจสงสัยจนลืมไปแล้ว จากหลากผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความรู้แก่เรากัน (http://www.mhthailand.com/wp-content/uploads/2017/02/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-001.jpg) 1. “ติดยาดม” จริงหรือ.? ในทางการแพทย์การ “ติดยา” หมายถึง ร่างกายไม่สามารถหยุดใช้ยานั้นได้ หากหยุดจะมีอาการถอนยาหรือลงแดง แต่การติดยาดม เป็นลักษณะการติดเป็นนิสัย คล้ายกับการที่เราชอบหมุนปากกา ชอบรับประทานอาหารเผ็ด หรือติดหมอนข้างนั่นล่ะครับ วันที่ลืมพกยาดม จะมีอาการอย่างมากคืออยากสูดดมบ้าง แต่เมื่อทำงานหรือเรียนในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้ เรื่องของเรื่อง คือ ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชัดว่าหากใช้ยาดมหลอดติดต่อกันในระยะยาวจะมีผลให้เราติดหรือไม่อ่ะนะ 2. ทำไมจมูกจึงโล่ง.? ตัวยาอย่าง เมนทอล (Menthol) มีฤทธิ์ช่วยลดการทำงานของปลายประสาทรับความรู้สึกระคายเคืองที่ทำให้เราจาม เมื่อสูดยาดมจึงรู้สึกว่าลดอาการจามได้ นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นปลายประสาทรับความเย็น จึงรู้สึกเย็น ซ่า ทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่าหายใจได้โล่งขึ้นนั่นเอง 3. ควรดมยังไง… ขนาดไหน.? สำหรับคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเมนทอล หรือการบูร (Camphor) รวมถึงสารอื่นๆ ในยาดม ล้วนแล้วแต่มีโอกาสทำให้โพรงจมูกระคายเคือง อักเสบ เมื่อใช้ความเข้มข้นสูงๆ จึงไม่ควรยัดหลอดยาเข้าในจมูกค้างไว้ และควรใช้เป็นครั้งคราวเท่านั้น ยาหม่องน้ำ (อีกด้านหนึ่งของปลายหลอด) อย่าหยดลงในจมูกโดยตรง แต่ควรป้ายสำลีหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอกแล้วสูดไอระเหิด หรือทาด้านนอกของจมูกในปริมาณที่น้อย รายที่แพ้สารบางอย่างซึ่งเป็นส่วนประกอบในยาดม หรือมีโรคเกี่ยวกับโพรงจมูก ควรเลี่ยงไปเลยก็จะดี (http://www.mhthailand.com/wp-content/uploads/2017/02/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-2.jpg) 4. อมได้เรื่อยๆ หรือไม่.? ยาอมลูกกลอน โดยทั่วไปทำจากผงสมุนไพรไทย เช่น มะขามป้อม ชะเอมเทศ ฯลฯ (ผู้ผลิตแต่ละรายมักใช้ส่วนผสมที่แตกต่างหลากหลาย) ประสานให้เกาะกันโดยตัวเชื่อม เช่น น้ำผึ้ง เม็ดอมเหล่านี้มีฤทธิ์ในการ “บรรเทา” ได้จริง เช่น ช่วยละลายเสมหะ ลดการระคายคอ ยาที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาถูกต้องไม่ว่าคุณจะมีอาการป่วยหรือไม่ ก็ควรรับประทานในปริมาณที่ฉลากกำหนด เพราะนั่นคือปริมาณที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ว่าอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัย ผู้ที่มีแนวโน้มแพ้สมุนไพร หรือเป็นโรคเบาหวาน ควรระวังเป็นพิเศษและปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา 5. เลือกยาอมยังไงถึงจะดี.? ก่อนอื่นที่คุณต้องมองหาคือ เลขทะเบียนตำรับยา โดยกลุ่มนี้จะขึ้นต้นด้วยตัว “G” เช่น G432/48 (หรือจ่ายโดยแพทย์แผนไทยที่มีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ) ผู้ผลิต ปริมาณบรรจุ ครั้งที่ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ และเมื่อต้องหยิบใช้ให้คุณสังเกตเสมอว่า หากมีจุดสี หรือฝุ่นขาวเกาะตามเม็ดยา เม็ดอมเยิ้มติดกัน สีเปลี่ยน หรือหากอมแล้วพบว่ามีรสชาติเปลี่ยนไป ก็โยนลงถังขยะได้เลย (http://www.mhthailand.com/wp-content/uploads/2017/02/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%A1-%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87-03.jpg) 6. “กลิ่น” เกี่ยวหรือไม่.? น้ำมันหอมระเหยในยาหม่องหลายชนิดที่มาจากสมุนไพรอย่างไพล เสลดพังพอน หรือน้ำมันสกัดอื่นๆ อย่างน้ำมันยูคาลิปตัส น้ำมันกานพลู น้ำมันเปปเปอร์มินต์ นอกจากจะซึมผ่านผิวหนังแล้ว โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจากการสูดดมยังมีผลต่อระบบลิมบิก (Limbic System) ในสมอง กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) เอนเคฟาลิน (Enkephalin) และเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวล ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและเมื่อยล้า (แต่มีข้อแม้ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นจะต้องใช้น้ำมันหอมระเหยแท้จากสมุนไพรธรรมชาติและมีคุณภาพได้มาตรฐาน) 7. นวดไปทำไม.? การนวดช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนมากขึ้น และลดกรดแลคติค (Lactic Acid) ซึ่งคั่งค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้คลายความเมื่อยล้าและกล้ามเนื้อฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่อันที่จริงอาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังกายตามธรรมดา เพียงแค่หยุดพักก็สามารถหายได้เป็นปกติได้โดยไม่ต้องใช้ยาทา 8. หม่องไทยกับออฟฟิศซินโดรม.? ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) โรคฮิตเรื้อรังของหนุ่มสาวออฟฟิศ ไม่ได้เกิดจากสารคั่งค้างในกล้ามเนื้ออย่างเดียว แต่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อจนเป็นก้อนเล็กๆ เรียกว่า จุดกดเจ็บ (Trigger Point) ทำให้มีการปวดและชาบริเวณรอบจุดนั้นๆ การใช้น้ำมันสมุนไพรและนวดอย่างถูกวิธีนั้นมีประโยชน์มาก แต่ไม่ใช่เท่านั้นเพราะการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อช่วงบ่า ไหล่ และหลังแข็งแรง ก็สำคัญมากเช่นกัน แม้กลุ่มยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งนับว่ามีความปลอดภัยในการใช้สูง และก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อย แต่เมื่อเป็น “ยา” โดยมีการขึ้นทะเบียนยา ก็ย่อมมีข้อบ่งใช้ที่คุณต้องพึงระวัง และหากไม่มีความผิดปกติใดๆ ก็ไม่มี “ความจำเป็น” ต้องใช้ แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้และใช้อย่างถูกต้องแล้ว ควรจับสังเกตร่างกายตัวเองตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจนเป็นนิสัย หากมีสิ่งผิดปกติจากยาที่ดูไร้พิษภัยเหล่านี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เรื่อง ล่ามยา รูปประกอบ นริศรา ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.mhthailand.com/uncategorized/ยาดม-ยาอม-ยาหม่อง (http://www.mhthailand.com/uncategorized/ยาดม-ยาอม-ยาหม่อง) |