หัวข้อ: อิ่มเอมใจไหว้พระ 11 วัด กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประทับสมเด็จพระสังฆราช 20 พระองค์ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 04, 2017, 09:35:08 am (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412401.JPEG) "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" 1 ใน 11 วัด อิ่มเอมใจไหว้พระ 11 วัด กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ประทับสมเด็จพระสังฆราช 20 พระองค์ ประเทศไทยของเรามีศาสนาประจำชาติอย่างพระพุทธศาสนามาช้านาน ประวัติศาสตร์เรื่องราวต่างๆ จึงมักอยู่คู่กัน อย่างเรื่องราวของสมเด็จพระสังฆราชฯ ประมุขแห่งคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีที่มาจากหลากหลายวัดด้วยกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ขสมก. จัดกิจกรรม "ไหว้พระ 11 วัด...รัตนโกสินทร์" โดยการจัดรถเวียนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 14 พ.ค. 2560 โดยให้บริการฟรี ทุกวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ ในช่วงเวลา 09.00 - 17.00 น. ฉันเลยขอแนะนำทุกคนว่าในเส้นทางนี้มีวัดไรกันบ้าง (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412402.JPEG) "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร" เริ่มวัดแห่งแรก “วัดระฆังโฆสิตาราม” วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ยกเป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ นั่นคือ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิม ศรี สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดที่สองที่อยู่ในเส้นทางที่จะพูดถึง นั่นคือ "วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร" วัดที่มีสมเด็จพระสังฆราชฯสถิตมากที่สุด โดยมีถึง 4 พระองค์ด้วยกัน นั่นคือ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 และ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระองค์ที่ 3 สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ 4 และ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อวัดสลัก สร้างในสมัยอยุธยา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร นั้นถือว่าเป็นอีกวัดที่มีความเก่าแก่และสำคัญอย่างมากอีกแห่งกรุงเทพ โดยเป็นวัดที่ชาวกรุงเทพและชาวไทยรู้จักกันเป็นดี อีกทั้งเป็นวัดที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412403.JPEG) "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" วัดที่สาม คือ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร" หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดโพธิ์” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยวัดแห่งนี้เป็นที่ประทับ สมเด็จพระสังฆราช 2 พระองค์ด้วยกัน นั่นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรงฺสี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช พระนามเดิม ปุ่น สุขเจริญ ฉายา ปุณฺณสิริ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412404.JPEG) "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" วัดที่สี่ที่จะแนะนำ นั่นคือ "วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก วัดราชประดิษฐฯ จึงเป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นวัดที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต และเป็นองค์เดียวที่สถิตอยู่วัดแห่งนี้ (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412405.JPEG) "วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร" วัดต่อมา คือ "วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง โดยเป็นที่ประทับสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 พระองค์ นั่นคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (องค์ปัจจุบัน) (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412406.JPEG) “วัดสุทัศนเทพวราราม” “วัดสุทัศนเทพวราราม” เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” พระอุโบสถของวัดสุทัศน์ จัดว่าเป็นพระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ วัดแห่งนี้เป็นที่ประทับ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาต่อกันที่ "วัดราชบุรณราชวรวิหาร" เป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อ "วัดเลียบ" ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดนี้เป็นวัดหนึ่งตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ และวัดราชประดิษฐ์ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดเลียบ เสร็จแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานนามว่า "วัดราชบุรณะ" เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412407.JPEG) พระตำหนักเพ็ชร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อกันที่ "วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร" เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) และพระพุทธชินสีห์ วัดแห่งนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช 3 พระองค์ด้วยกัน นั่นคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412408.JPEG) “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” “วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร” เป็นวัดโบราณในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน และเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย ช้างโสภา) พระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412409.JPEG) "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร" มาต่อกันที่วัดรองสุดท้าย อย่าง "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร" เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัด เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณ) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 14 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นเอง และวัดสุดท้าย "วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร" วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นเคียงคู่กับวัดโสมนัสราชวรวิหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมสาย กรมขุนราชสีหวิกรม เป็นนายช่าง การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2411 ในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่าวัดนามบัญญัติ เป็นการชั่วคราวก่อน เมื่อสิ้นรัชกาลจึงค่อยเรียกนามพระราชทานว่าวัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ที่แห่งนี้ และนี่เป็น 11 วัด ที่มีคุณค่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดขึ้น หากใครสนก็สามารถไปเที่ยวเยี่ยมชมกันได้ รับรองต้องประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000003412410.JPEG) ขสมก. คอยจัดรถไว้บริการ "ไหว้พระ 11 วัด…รัตนโกสินทร์" สำหรับกิจกรรม "ไหว้พระ 11 วัด…รัตนโกสินทร์" เส้นทางวัดมหาธาตุฯ-วัดพระเชตุพนฯ-วัดราชประดิษฐฯ-วัดราชบพิธฯ-วัดสุทัศน์-วัดราชบูรณะ-วัดบวรนิเวศฯ-วัดสระเกศ-วัดเบญจมบพิตร-วัดมกุฎกษัตริยาราม และวัดระฆัง จัดขึ้นระหว่าง 1 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2560 โดยให้บริการฟรี !!! ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ ในช่วงเวลา 09.00-17.00 น. ขอบคุณภาพข่าวจาก http://manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000032895 (http://manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000032895) |