หัวข้อ: มลพิษทางอากาศในลุมพินี สังเวชนียสถาน สูงกว่าค่ามาตรฐาน 10 เท่า เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มิถุนายน 06, 2017, 08:53:51 am มลพิษทางอากาศในลุมพินี สังเวชนียสถาน สูงกว่าค่ามาตรฐาน 10 เท่า เนปาล : สำนักข่าว BBC ไทยได้รายงานว่า มลพิษทางอากาศในลุมพินี สังเวชนียสถาน สูงกว่าค่ามาตรฐาน 10 เท่า ทั้งนี้ ผลการสำรวจคุณภาพอากาศตามสถานที่สำคัญของเนปาล 5 แห่ง โดยองค์การอนามัยโลกและสถาบันอุตุนิยมวิทยาเขตร้อนของอินเดีย พบว่า สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ตำบลลุมพินีในเนปาล มีระดับมลพิษทางอากาศสูงสุดในประเทศ โดยควันและฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่โดยรอบ เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนบรรดาผู้แสวงบุญต่างต้องสวมหน้ากากป้องกันมลพิษ ขณะเข้าสักการะหรือนั่งสมาธิบริเวณสังเวชนียสถานแห่งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการตรวจวัดปริมาณของฝุ่นละอองขนาดเล็กละเอียด (PM2.5) ที่ลุมพินี พบว่า มีอยู่ 173.035 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ถึงเกือบ 10 เท่า นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ฝุ่นละอองที่ตกค้างบนเสาพระเจ้าอโศกยังพบว่า มีสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมจำนวนมากปกคลุมอยู่ทั้งยิปซัม แคลไซต์ โดโลไมต์ และแม็กนีไซต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของการผลิตปูนซีเมนต์ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งขององค์การยูเนสโกยังพบว่า มลพิษในอากาศจากแหล่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนรอบลุมพินี เริ่มส่งผลกระทบต่อมรดกโลกแห่งนี้อย่างหนัก ทั้งต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ซึ่งฝุ่นละอองจับตัวตามต้นไม้ใบหญ้าเป็นปื้นขาวหนา ทั้งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในท้องถิ่น และอาจสร้างความเสียหายให้กับตัวโบราณสถานในลุมพินีด้วย ส่วนบรรดาพระสงฆ์และนักบวชในพื้นที่ รวมทั้งผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนลุมพินีปีละราว 1 ล้านคน ต่างได้รับผลกระทบจากมลภาวะนี้ด้วย โดยพระภิกษุวิเวกนันทะ ผู้บริหารศูนย์วิปัสสนานานาชาติแห่งหนึ่งที่ลุมพินี บอกกับบีบีซีว่า รู้สึกหายใจไม่สะดวกและไอเป็นบางครั้ง ผู้ที่เข้าไปนั่งสมาธิใกล้วิหารมายาเทวีต่างต้องสวมหน้ากากป้องกันทางเดินหายใจ ผู้แสวงบุญหลายรายต้องเดินทางกลับเร็วกว่ากำหนด เพราะเกิดอาการแพ้และทนสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษไม่ไหว ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเนปาลได้กำหนดให้บริเวณ 15 กิโลเมตรโดยรอบของตำบลลุมพินี เป็นเขตสงวน แต่ก็ยังมีโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ เหล็ก กระดาษ และเส้นก๋วยเตี๋ยว มาตั้งอยู่โดยรอบหลายโรงงาน และเตาเผาอิฐหลายเตายังตั้งรุกล้ำเข้าไปในเขตสงวนนี้ด้วย ทำให้สภาพของมลพิษทางอากาศเลวร้ายลงอย่างมากในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเนปาลซึ่งมีแผนพัฒนาลุมพินีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ให้คำมั่นว่าจะใช้โดรนออกสำรวจหาแหล่งที่มาของมลพิษ และจะจัดการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 198 มิถุนายน 2560 โดย เภตรา http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9600000055668 (http://www.manager.co.th/Dhamma/viewnews.aspx?NewsID=9600000055668) |