สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => ส่งจิตออกนอก (นั่งเล่นคุยกัน) => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 24, 2017, 11:11:19 am



หัวข้อ: เราบ่ผิดท่านมล้าง...ดาบนี้คืนสนอง
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 24, 2017, 11:11:19 am

(http://www.madchima.net/forum/gallery/30_24_07_17_10_51_39.jpeg)


เราบ่ผิดท่านมล้าง...ดาบนี้คืนสนอง

ปุจฉา : ญาติธรรมท่านหนึ่ง ถามว่า.....
มีคำถามค่ะว่า...ถ้ามีคนมาว่าเรา ในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น กรรมก็จะตกอยู่กับเค้าเอง ใช่ไหมคะ.?

วิสัชนา : ขอยกตัวอย่างการกล่าวตู่บุคคลต่างๆ มาแสดง โดยขอแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ปุถุชน อรหันตสาวก และพระพุทธเจ้า

 ans1 ans1 ans1

๑. ระดับปุถุชน

การพูดเท็จ หรือการกล่าวตู่ ภาษาบาลีใช้คำว่า มุสาวาท ขอยกข้อธรรม ในบทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๗.๒ กฎแห่งกรรม มาอธิบายดังนี้

มุสาวาท คือ การมีเจตนากล่าวคำเท็จ เป็นคำพูดที่ไม่จริง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความจริง จะเป็นการพูดด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่น พูด เขียนหนังสือ เขียนจดหมาย หรือประกาศกระจายเสียง ก็จัดเป็นมุสาวาททั้งสิ้น คำพูดเท็จ เป็นคำที่ไม่จริง รวมไปถึงการแสดงกิริยาอาการทางกายด้วย เช่น ส่ายหน้า พยักหน้า ฯลฯ การพูดเท็จจะสำเร็จทางวาจาเป็นส่วนมาก ฉะนั้น คำพูดเท็จ จึงเป็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกายหรือวาจา เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยความคิดจะทำลายประโยชน์เขา

@@@@@

องค์ประกอบของการพูดเท็จ มี ๔ ประการ คือ
๑. เรื่องที่ไม่จริง
๒. มีจิตคิดจะทำให้เขาเข้าใจคลาดเคลื่อน
๓. ความพยายามอันเกิดจากความคิดนั้น
๔. เมื่อพูดแล้วมีคนเชื่อคำพูดนั้น

@@@@@

เรื่องที่ไม่จริง เป็นอย่างไร.?
คือ เรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่ตนเองนาไปกล่าวหรือแสดงให้เขาเข้าใจผิดไปอีกอย่างหนึ่ง ถ้ามีเรื่องไม่จริงนั้นอยู่ในใจเท่านั้นยังไม่ได้กล่าวหรือแสดงออกมาก็ยังไม่เป็นมุสาวาท แต่คิดจะกล่าวเรื่องไม่จริงและมีเจตนาจะทาลายประโยชน์ของผู้ฟัง แล้วกล่าวหรือแสดงออก และผู้ฟังรู้เนื้อความนั้นและเชื่อเนื้อความนั้น ได้ชื่อว่ามุสาวาทแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ทาลายประโยชน์ คำพูดนั้นก็จัดเป็นเพ้อเจ้อ เพราะเรื่องนั้นตกเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ

อนึ่ง ถึงแม้เมื่อคิดจะมุสาวาทและตั้งใจอยู่นิ่งๆ โดยคิดว่า “ถ้าเรานิ่งเฉยอยู่อย่างนี้ เขาจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น” ก็เป็นความพยายามเหมือนกัน เพราะอาการนิ่งนั้นเป็นเพราะจัดแจงแต่งขึ้นด้วยจุดประสงค์จะมุสา

@@@@@

ผลของมุสาวาท
การส่งผลในปฏิสนธิกาล(เมื่อเกิด/นำเกิด) : การทำบาปที่ครบองค์ประกอบทั้ง ๔ แล้ว จัดเป็นอกุศลกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อกรรมนี้ส่งผล จะนำไปเกิดในอบายภูมิ
การส่งผลในปวัตติกาล(หลังจากเกิดจนตาย) : ถ้าบาปนี้ไม่ส่งผลนำไปเกิดในอบายภูมิ บุคคลนั้นได้มาเกิดเป็นมนุษย์ กรรมนี้ก็จะตามส่งผลได้ในปวัตติกาล หรือเมื่อพ้นโทษจากอบายภูมิแล้ว เศษกรรมยังตามมาส่งผลในปวัตติกาลนี้อีก

@@@@@

ผลในปวัตติกาล(หลังจากเกิดจนตาย)
- เจตนากรรมของมุสาวาทจะส่งผลทำให้ตาส่อน เพราะเหตุที่เวลากล่าวคำเท็จจะมีอาการ เช่น คอยก้มหน้าต่ำ คอยเบนสายตาหลบ ไม่กล้าสบตากับผู้ที่ตนพูดด้วย เพราะมุ่งจะกล่าวคำเท็จ
- มีฟันเกไม่เรียบชิดกัน เพราะเหตุที่คำเท็จนั้น
- เปล่งออกมาเพื่อทำลายประโยชน์ ปากมีกลิ่นเหม็นเพราะคำที่มุ่งทาลายประโยชน์ เป็นคำที่น่ารังเกียจเหมือนปล่อยลมเสียออกมาทางปาก
- คนไม่เชื่อถือในคำพูด พูดติดอ่าง หรือเป็นใบ้ เพราะกรรมของมุสานั้นส่งผล
- ทำให้ใครๆไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความเชื่อถือคำพูด เป็นต้น

@@@@@

การงดเว้นจากการกล่าวคำเท็จจะมีอานิสงส์ส่งผลในปวัตติกาล เช่น เป็นคนหน้าตาแจ่มใส ตาไม่ส่อน ไม่เข ฟันไม่เก ปากมีกลิ่นหอม จะกล่าวเรื่องใดพูดอะไรสั่งการใดๆ ก็มีคนเชื่อฟัง ลูกน้องบริวารน้อมรับฟังคำสั่ง และทำตามเพราะเชื่อในคำพูด ไม่พูดติดอ่าง ไม่เป็นใบ้ เป็นต้น

 ans1 ans1 ans1

๒. ระดับอรหันตสาวก

- ตัวอย่างเช่น มีเรื่องเล่าว่า พระโกกาสิกะ(พระโกกาลิกะ เป็นพระพวกเดียวกับพระเทวทัต) กล่าวว่า พระสาริบุตรและพระโมคคัลลานะว่า มีความปรารถนาลามก พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามปรามถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่ฟัง ต่อมาไม่ช้าก็เป็น โรคพุพอง มีแผลใหญ่ขึ้นทุกที่ จนถึงต้องนอนบนใบตอง มีน้ำเหลืองและโลหิตไหลคล้ายปลาที่ถูกขอดเกล็ด ในที่สุดก็ทำกาละด้วยอาพาธนั้น และไปเกิดในปทุมนรก

- อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ภิกษุหนึ่งกล่าวตู่พระสารีบุตรว่า ชายสังฆาฏิของพระสารีบุตรเฉี่ยวตนเองแล้วไม่ขอโทษ เพราะถือตนว่า เป็นอัครสาวก พระพุทธเจ้าเรียกพระสารีบุตรมาอธิบาย พระเถระได้กล่าวคุณของตนด้วยอุปมา ๙ อย่าง เช่น “จิตของตนเสมอด้วยแผ่นดิน บุคคลย่อมทิ้งของอันสะอาดบ้าง ย่อมทิ้งของอันไม่สะอาดบ้าง ลงในแผ่นดิน” เป็นต้น เมื่อพระเถระกล่าวคุณของตน ความเร่าร้อนเกิดขึ้นในสรีระทั้งสิ้นของภิกษุผู้กล่าวตู่แล้ว. ทันใดนั้น ภิกษุนั้นหมอบลงใกล้พระบาทพระพุทธเจ้า ประกาศโทษในเพราะความกล่าวตู่ ด้วยคำอันไม่จริง พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระเถระมา แล้วตรัสว่า "สารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษนี้เสีย, ตลอดเวลาที่ศีรษะของเขา จักไม่แตกโดย ๗ เสี่ยง"

 ans1 ans1 ans1

๓. ระดับพระพุทธเจ้า

การกล่าวตู่พระพุทธองค์ด้วยถ้วยคำอันเป็นเท็จ มีผลอย่างเดียวคือ ตาย

- ยกตัวอย่าง เช่น นางจิญจมาณวิกา นางจิญจมาณวิกากล่าวตู่พระพุทธเจ้า ทำทีเป็นตั้งครรภ์ โพนทะนาว่า พระพุทธเจ้าเป็นพ่อของเด็กในครรภ์ พอความแตก ถูกประชาชนลงทัณฑ์ด้วยไม้ด้วยก้อนหิน สุดท้ายถูกธรณีสูบลงไปยังอเวจีนรก

- อีกตัวอย่างหนึ่งคือ นางสุนทรี นางสุนทรีถูกพวกอัญญเดียรถีย์จ้างวานให้ทำลายพระพุทธเจ้า นางประกาศว่า ฉันอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระสมณโคดม ต่อมานางถูกฆ่าตาย พระราชาได้ค้นหาความจริง จนทราบว่า พวกอัญญเดียรถีย์ได้จ้างนักเลงฆ่านางสุนทรี สุดท้ายพระราชาได้สั่งประหารพวกอัญญเดียรถีย์และนักเลงคนนั้น

 ask1 ans1 ask1 ans1

ตอบคำถามที่ว่า ...ถ้ามีคนมาว่าเรา ในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น กรรมก็จะตกอยู่กับเค้าเอง ใช่ไหมคะ.?
ตอบว่า...คนพูดเท็จได้รับวิบากกรรมแน่นอน แต่จะได้รับอย่างไร.? เมื่อไหร่.? ตอบไม่ได้ ตอบยาก

เรื่องกรรมนี้ พระพุทธองค์ไม่ให้ปุถุชนคิด เป็นเรื่องอจินไตย(ไม่ให้คิด คิดมากไปอาจจะผิดเพี้ยนฟั่นเฟือนได้) คำอธิบายที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เป็นคำตอบกว้างๆ ไม่สามารถเจาะจงหรือฟันธง ให้ชัดเจนได้ อีกนัยหนึ่งคือ ไม่สามารถหาคำตอบที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ได้

@@@@@

ตัวอย่างเช่น มีคนมากล่าวหาผมว่า มีเมียแล้ว ทั้งที่ผมยังไม่มี คนทั่วไปอาจคิดว่า ต่อไปคนคนนั้นจะถูกคนอื่นกล่าวหาอย่างนั้นเช่นกัน คล้ายๆกับว่า "ดาบนั้นคืนสนอง" แนวคิดเช่นนี้อาจเป็นไปได้ แต่ก็อาจเป็นไปอีกทางหนึ่ง เช่น ต่อไปคนที่กล่าวหาผมด้วยคำเท็จคนนั้น อาจจะไม่มีใครเชื่อคำพูดเค้าอีกเลย เป็นต้น

ผมคงอธิบายได้เท่านี้ พูดมากกลัวผิด อาจเลยไปถึง ตู่คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ นรกจะกินหัว...



อ้างอิง :-
๑. บทเรียนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ ชุดที่ ๗.๒ กฎแห่งกรรม ของ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๒. กระทู้ : อยากทราบ โทษ ของการปรามาส พระรัตนตรัย ที่มีมาในพระไตรปิฏก ครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5925.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=5925.0)
๓. กระทู้ : โทษของการกล่าวตู่พระสารีบุตร "ศีรษะแตกเจ็ดเสี่ยง"
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3202.0 (http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3202.0)