หัวข้อ: “พระปรางค์วัดอรุณฯ” โฉมใหม่ งดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 11, 2017, 06:13:54 am (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345301.JPEG) พระปรางค์วัดอรุณฯ สวยสง่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา “พระปรางค์วัดอรุณฯ” โฉมใหม่ งดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลายปีที่ผ่านมานี้ เวลานั่งเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน “วัดอรุณราชวราราม” ก็จะเห็นการบูรณะซ่อมแซมองค์พระปรางค์ มีโครงเหล็กนั่งร้านบดบังความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ สัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพหานคร ล่าสุดนี้ ได้มีการรื้อนั่งร้านออกแล้ว ฉันเลยได้โอกาสไปเก็บภาพความงดงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ แล้วก็แวะเข้าไปไหว้พระทำบุญให้อิ่มใจ มาวัดครั้งนี้ ฉันเลยเลือกการเดินทางทางเรือ เพราะจะได้เห็นพระปรางค์วัดอรุณฯ แบบเต็มๆ ตา ซึ่งก็สามารถนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาลงที่ท่าน้ำวัดอรุณราชวรารามได้เลย หรือจะนั่งเรือข้ามฟากมาจากฝั่งท่าเตียนก็สะดวกเช่นกัน (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345302.JPEG) องค์พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม สำหรับ “วัดอรุณราชวราราม” มีชื่อเดิมว่า “วัดมะกอกนอก” แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมะกอกนอกมาเป็น “วัดแจ้ง” เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระองค์ได้เสด็จมาถึงที่นี่ในยามแจ้ง ในสมัยกรุงธนบุรี วัดอรุณฯ หรือวัดแจ้งในขณะนั้นถือเป็นวัดประจำวัง เพราะอยู่ในเขตของพระราชวังเดิม จึงไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา และในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น วัดแจ้งแห่งนี้ยังเคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตและพระบางอีกด้วย โดยได้อัญเชิญมายังประเทศไทยเมื่อครั้งที่เราไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 ในครั้งนั้นได้มีการจัดงานสมโภชพระแก้วและพระบางถึง 3 วัน 3 คืนด้วยกัน วัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2 เนื่องจากในขณะที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 นั้น พระองค์ได้ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมแห่งนี้ และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้เป็นการใหญ่ มีการจัดงานสมโภชใหญ่ถึง 7 วัน 7 คืน และพระองค์ยังได้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดแจ้งมาเป็น "วัดอรุณราชธาราม" และเปลี่ยนเป็น "วัดอรุณราชวราราม" ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345303.JPEG) องค์พระปรางค์ประกอบด้วย ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด ในส่วนของ “พระปรางค์” ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่พระปรางค์องค์เดิมที่มีมาตั้งแต่แรก พระปรางค์องค์เดิมนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตร เท่านั้น แต่พระปรางค์ที่เห็นกันในปัจจุบันนี้ได้มีการต่อเติมขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณใหม่หมดทั้งวัด พระปรางค์องค์ที่บูรณะใหม่นี้มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร ที่น่าทึ่งก็คือ การที่จะสร้างพระปรางค์องค์สูงใหญ่อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ และยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ได้นี้แสดงว่าฝีมือของช่างในสมัยนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345304.JPEG) รูปมารแบกกระบี่ องค์พระปรางค์ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด มีสัณฐานดุจเขาพระสุเมรุ ด้วยความกว้างราว 234 เมตร ส่วนตัวเรือนฐานทำการย่อมุมลง และเรือนยอดที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ในแต่ละชั้นมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ส่วนยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345305.JPEG) ยอดปรางค์เป็นนภศูลปิดทอง กลุ่มพระปรางค์ประกอบด้วยของปรางค์ประธานซึ่งมีความสูง 81.85 เมตร และปรางค์ทิศจำนวน 4 ปรางค์ เป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ ปรางค์ทิศตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์ แม้ว่าพระปรางค์จะสร้างมานานแล้ว แต่ก็มีการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่เป็นระยะ ครั้งล่าสุดนี้เริ่มบูรณะเมื่อเดือนกันยายน 2556 มาแล้วเสร็จในปี 2560 นี้ โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม และสามารถเปิดไฟแสดงได้ในเดือนกันยายน 2560 ส่วนในช่วงปลายปี 2560 – ต้นปี 2561 จะจัดงานสมโภชพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345306.JPEG) ยักษ์วัดแจ้ง นอกจากองค์พระปรางค์ ที่เป็นจุดเด่นของวัดอรุณฯ แล้ว ใครที่มาถึงวัดนี้ก็ต้องมาดูยักษ์วัดอรุณ หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ยักษ์วัดแจ้ง" ที่มีเรื่องเล่าว่ายักษ์วัดโพธิ์มาตีกับยักษ์วัดแจ้ง ตีกันจนบ้านเมืองแถวนั้นราบเป็นหน้ากลอง เลยเรียกกันต่อมาว่าท่าเตียน (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345307.JPEG) พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก ภายในพระอุโบสถ เมื่อผ่านยักษ์และซุ้มประตูเข้าไป จะพบกับพระอุโบสถของวัดอรุณฯ ก็มีความงามไม่แพ้ที่ไหนๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธานองค์นี้กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง และที่ฐานชุกชีนี้ยังบรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถยังมีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของครูคงแป๊ะ และครูทองอยู่ ช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังชั้นครู ที่เคยฝากฝีมือไว้ที่วัดสุวรรณารามไว้ด้วยเช่นกัน (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345308.JPEG) พระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ด้านหน้าวัดที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มี “พระราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ประดิษฐานอยู่ ส่วนบริเวณทางเข้าพระปรางค์ มีอาคารหลังเก่าอยู่สองหลัง นั่นคือ “โบสถ์น้อย” และ “วิหารน้อย” (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345309.JPEG) โบสถ์น้อย และ วิหารน้อย โบสถ์น้อย เป็นพระอุโบสถหลังเก่าของวัดอรุณฯ ภายในประดิษฐาน “พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน” ให้ผู้ที่มาเยือนได้สักการะ และทางด้านซ้ายของบรมรูปหล่อ เป็นที่ตั้งของศาลสถิตดวงพระวิญญาณของพระองค์ ตรงข้ามของพระบรมรูปหล่อฯ เป็น “พระแท่นบรรทม” ที่เชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมาประทับในปลายรัชกาล ส่วนด้านหลังของพระบรมรูปฯ ประดิษฐาน “หลวงพ่อรุ่งมงคล” (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345310.JPEG) พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน และศาลสถิตดวงพระวิญญาณ วิหารน้อย หรือวิหารหลังเก่า สันนิษฐานว่า ถูกสร้างมาพร้อมกับโบสถ์น้อยในสมัยอยุธยาที่ตั้งอยู่ข้างด้านข้าง ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุฬามณีเจดีย์” เป็นพระเจดีย์ขนาดใหญ่หล่อด้วยโลหะ มีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลยืนเฝ้าพระเจดีย์อยู่ทั้ง 4 มุม ซึ่งเมื่อครั้งอดีตนั้น วิหารน้อยแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เมื่อครั้งที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว นอกจากนี้ก็ยังมี “พระแท่นบรรทม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” อยู่ด้านในวิหารน้อยด้วย (https://mpics.manager.co.th/pics/Images/560000008345311.JPEG) พระจุฬามณีเจดีย์ ในวิหารน้อย ภายในวัดอรุณฯ ยังมีจุดที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พระวิหารหลวง, หอระฆัง, มณฑปพระพุทธบาทจำลอง เป็นต้น ใครที่มีเวลามากหน่อยก็ลองเดินชมให้ถ้วนทั่ว จะได้เห็นถึงความวิจิตรบรรจง และความงดงามของสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000080469 (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000080469) หัวข้อ: Re: “พระปรางค์วัดอรุณฯ” โฉมใหม่ งดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มหัวข้อโดย: PRAMOTE(aaaa) ที่ สิงหาคม 11, 2017, 09:11:13 pm ไม่มีใครเหมือน
เลียนแบบก็ยากมากๆเลย เอาชามสังคโลกมาตัดปะ งดงาม หาใครลอกเลียนได้ยากแน่ๆ หัวข้อ: Re: “พระปรางค์วัดอรุณฯ” โฉมใหม่ งดงามโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มหัวข้อโดย: ธัมมะวังโส ที่ สิงหาคม 12, 2017, 11:21:33 am st11 st12
|