สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 25, 2017, 06:49:10 am



หัวข้อ: เปิดตำนาน "องค์พระปฐมเจดีย์" กับ ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ต่อ ๓ รัชกาล
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 25, 2017, 06:49:10 am
(http://img.tnews.co.th/large/tnews_1508833750_1443.jpg)


เหมือนผีหลอก.!! เปิดตำนาน "องค์พระปฐมเจดีย์" กับ ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏเหตุอัศจรรย์ต่อ พระมหากษัตริย์ ๓ รัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี.!!

องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนาน เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระโคตมพุทธเจ้า องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูป ระฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน

ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ ๑ ของประเทศไทยอีกด้วย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน เป็นประจำทุกปี


(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/Phra_Pathom_Chedi2(1).jpg)

พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำหรือทรงมะนาวผ่าซีกแบบเดียวกับพระสถูปสาญจี

แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ มีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของพระมหาเถรศรีศรัทธา อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับ เมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาศาสนาพุทธในประเทศศรีลังกา ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามใหม่ว่าพระปฐมเจดีย์

นอกจากนี้พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเผชิญกับปาฏิหาริย์ขององค์พระปฐมเจดีย์อยู่หลายครั้ง ถึงกับรับสั่งว่า "เหมือนผีหลอก" หลังจากนั้นก็ปรากฏเหตุอัศจรรย์ปาฏิหาริย์อยู่หลายครั้งและเก็บเงียบไว้ จนกระทั่งปาฏิหาริย์นี้ได้เผชิญกับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศ สยามมกุฎราชกุมาร แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์


(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/mongkut.jpg)
(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)


ในเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็น พระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดีมากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะการค้นพบเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์และหลักฐานลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า พระเจดีย์องค์นี้ เดิม ขอมเรียก พระธม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริงๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับ ชาวขอม นั้น แปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน

นอกจากนี้วัดพระปฐมเจดีย์ยังเป็นที่พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสรีรางคารพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ และพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ซึ่งบรรจุไว้ที่ผนังเบื้องหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่พระวิหารทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์


(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1(1).jpg)

(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/ptj13(1).jpg)

(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/Phra-Pathom-Chedi_Thailand(2).jpg)

สำหรับประวัติการสร้างพระปฐมเจดีย์มี ๒ ตำนาน เรื่องแรกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีป ได้ส่งพระมหาเถระ ๕ รูป มีพระโสณะและพระอุตตระเป็นประธานอัญเชิญพระไตรปิฎก มาเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ เวลานั้นตรงกับสมัยของพระเจ้าตวันอธิราชแห่งเมืองทวาราวดี พระมหาเถระทั้ง ๕ มาขึ้นที่เมืองท่าแห่งนี้เป็นแห่งแรกในสุวรรณภูมิ จึงขนานมงคลนามว่า "นครปฐม" และเรียกสืบ ๆ กันมานับแต่บัดนั้น

เรื่องที่สองกล่าวถึงพระยากงผู้ครองนครปฐม มีโอรสองค์หนึ่ง โหรทำนายว่าจะฆ่าพ่อ จึงให้เอาไปลอยน้ำทิ้งเสีย ยายหอมเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรให้ชื่อว่าพาน ต่อมาไปศึกษาศิลปวิทยาการที่เมืองราชบุรี เจ้าเมืองราชบุรีต้องชะตาจึงขอไปเป็นพระโอรส ขณะนั้นเมืองราชบุรีกับนครปฐมเป็นศึกกัน พระยาพานโตเป็นหนุ่มจึงยกทัพมาตีนครปฐม พระยากงทำยุทธหัตถีกับลูกชาย ถูกฟันตายคาคอช้าง พระยาพานเข้าเมืองได้สั่งริบของทุกอย่างเป็นราชบาท แม้แต่มเหสีและนางสนมกำนัลทั้งหมด

เทวดา เห็นว่าพระยาพานทำปิตุฆาตเป็นอนันตริยกรรมแล้ว ยังจะเอาแม่เป็นเมียอีก จึงแปลงร่างเป็นแมวแม่ลูกอ่อนนอนขวางประตู พูดกับลูกถึงเรื่องพ่อแม่ที่แท้จริงของพระยาพาน พระยาพานไปเค้นถามจากยายหอม พอทราบความจริงก็โกรธหาว่ายายหอมปิดบังตน จึงฆ่ายายหอมซะอีกคน ต่อมาสำนึกผิด จึงสร้างเจดีย์สูงชั่วนกเขาเหิน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อธิษฐานขอไถ่บาป


(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C.jpg)
(พระร่วงโรจนฤทธิ์)


นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่องค์มหาเจดีย์ นอกจากพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทรงให้ช่างหล่อเสริมจนเป็นองค์สมบูรณ์ ประดิษฐานอยู่คู่กับองค์มหาเจดีย์สืบมา ประทานนามให้ว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์" มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์มหาเจดีย์เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว ครั้งในหลวงรัชกาลที่ ๖ ยังดำรงพระยศ สยามมกุฎราชกุมาร แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังสนามจันทร์ ทรงพบปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั้งองค์ ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๔๕๒ และทรงมีจดหมายเหตุกราบถวายรายงานต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ความว่า

(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/6(1512).jpg)
(พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)


"...ด้วยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาดึก ๒ ยามกับ ๔๕ นาที ข้าพระพุทธเจ้าได้นั่งเล่นอยู่ที่เรือนสนามจันทร์ มีข้าราชการมหาดเล็กอยู่ด้วยจำนวนมาก เห็นองค์พระปฐมเจดีย์มีรัศมีสว่างพราวออกทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านตะวันตกคือด้านที่เล็งกับสนามจันทร์ทาด้วยฟอสฟอรัสพราวเรือง ตั้งแต่คอระฆังลงมาหน่อยหนึ่ง ตลอดจนยอดมงกุฎ แลยังซ้ำมีเป็นรัศมีพวยพุ่งขึ้นสูงอีกประมาณ ๓-๔ วา ปรากฏอยู่อย่างนี้ ๑๗ นาที จากนั้นก็ดับหายไป เหลือสว่างอยู่แค่ข่องมะหวดลงมาอีกกึ่งนาที ก็ดับหายหมด จนมืดแม้จะมองแต่รูปองค์พระก็ไม่เห็นถนัด ข้าพระพุทธเจ้าได้นับผู้ที่เห็นขณะนั้น ตลอดจนทหารที่อยู่ยามสี่คนเป็นจำนวน ๖๙ คน"

(http://img.tnews.co.th/userfiles/images/photo_%E0%B9%92%E0%B9%90%E0%B9%91%E0%B9%97-%E0%B9%91%E0%B9%90-%E0%B9%92%E0%B9%93_%E0%B9%91%E0%B9%90-%E0%B9%90%E0%B9%91-%E0%B9%95%E0%B9%91.jpg)
(พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕)


พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นผ่านไปทางนครปฐม ก็พบปาฏิหาริย์แบบนี้เช่นกัน มีรับสั่งให้มหาดเล็กตรวจค้นหาดูว่า มีผู้ใดแกล้งทำให้เป็นไปแบบนั้นหรือไม่ ปรากฎว่าไม่มี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้สร้าง "พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย" ภายในพระราชวังสนามจันทร์ หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ เพื่อใช้สำหรับทอดพระเนตรปาฏิหาริย์อีกด้วย


 
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร (https://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร)
http://www.watthakhanun.com (http://www.watthakhanun.com) (วัดท่าขนุน) โดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
https://www.gotoknow.org (https://www.gotoknow.org) โดย ปัญจพล ขำสัจจา
เรียบเรียงโดยเสาวลักษณ์ แสงสุวรรณ : สำนักข่าวทีนิวส์
http://www.tnews.co.th/contents/371479 (http://www.tnews.co.th/contents/371479)