หัวข้อ: วิจารณ์พระ ว่าสอนผิด ไม่ตรงตามพระไตรปิฎก เป็นบาปหรือไม่.? เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 27, 2018, 06:19:44 am (http://img.amarindigital.com/unsafe/770x433/smart/http://goodlifeupdate.com/app/uploads/2016/05/pra.jpg) วิจารณ์พระ ว่าสอนผิด ไม่ตรงตามพระไตรปิฎก เป็นบาปหรือไม่.? ผู้อ่านถาม : พระอาจารย์คะ สมัยนี้คนเรามีปัญญามากขึ้น จึงมักศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎก แล้วตัดสินว่าพระรูปนั้นรูปนี้สอนผิด การวิจารณ์พระในรูปแบบนี้ ถือว่าบาปไหมคะ ans1 ans1 ans1 พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ ตอบ : ไม่บาปหรอก เพราะว่าตอนหลังคำสอนของ “พระ” เองก็ไม่แน่นอน การศึกษาพระไตรปิฎกถือว่าดีและปลอดภัยเพราะเป็นการเข้าหาคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง จะได้รู้ว่าพระเทศน์สอนอะไรออกนอกลู่นอกทางไม่เป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนหรือไม่ นับว่าเป็นการวิจารณ์เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาไม่ให้มีเสี้ยนมีหนาม เดี๋ยวนี้พระสัทธรรมปฏิรูปหรือพระที่ทำให้ศาสนาเสื่อม ด้วยการไม่ดำรงตนตามคำสอนของพระพุทธองค์เข้ามาปะปนเยอะ อาจทำให้พระพุทธศาสนาไปไม่รอด ดังนั้น ใครเห็นพระไม่ดี สอนไม่ถูก ผิดหลักที่พระองค์ท่านทรงบัญญัติ พวกเราก็ต้องช่วยกันแก้ไข ดูแลสอดส่อง @@@@@@ แต่ก่อนที่เราจะพูดหรือวิจารณ์อะไร เราต้องมีกุศลประกอบในจิต ถ้ามีอกุศลเกิดขึ้นในใจให้ชำระอกุศลก่อนไม่อย่างนั้นแม้จะทำด้วยเจตนาดีแค่ไหนก็ขาดทุนตกนรก แม้พระศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองแต่เราตกนรก แบบนี้คุ้มไหมล่ะ… ชาวพุทธที่แท้จริงต้องไม่ละเลยการละอกุศล ชนะกิเลสในใจตนก่อนแล้วค่อยตำหนิหรือวิจารณ์ผู้อื่น นี่เป็นเรื่องแรกที่ควรทำเวลาเห็นพระสงฆ์ทำผิด พระอาจารย์ไม่ได้ห้ามวิจารณ์พระนะแต่ก่อนจะพูดหรือทำ อย่างน้อยก็ทำใจให้ว่างจากกิเลสก่อนแล้วเรื่องอื่นค่อยว่ากัน @@@@@@ แต่ไม่ใช่ว่าพอพระรูปไหนสอนผิดจากที่เราเคยฟังเคยคิด เคยเห็นปุ๊บ เราก็เอาคำว่า “หน้าที่พุทธบริษัท” ไปทำร้ายทำลายท่านด้วยโทสะ ด้วยความสะใจ รีบลงข่าวหน้าหนึ่งหรือแฉทางสื่อต่าง ๆ แบบนี้แทนที่จะช่วยให้ศาสนาเจริญ ตัวคนที่ออกมาปกป้องศาสนานี่แหละที่จะเป็นคนทำให้ศาสนาเสื่อม เพราะใช้วิธีการที่ไม่ชาญฉลาด มีอะไรเอาไปลงสื่อ สื่อก็เผยแพร่ไปทั่วโลก คนทั่วไปจะมองว่าแม้แต่พุทธบริษัทยังเถียงกัน ทะเลาะกันขนาดนี้ แล้วใครจะมานับถือศาสนาพุทธ เขาอาจคิดว่าถ้าธรรมะดีจริง ทำไมถึงไม่สามารถทำให้พุทธบริษัททั้งสี่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้…แบบนี้ยังจะมีน้ำหน้านำศาสนธรรมออกไปเผยแผ่ให้เขาอยู่อีกหรือ ดังนั้น เราทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ไม่นิ่งดูดาย แต่ทำด้วยความเมตตาปรานี เพื่อความงามของศาสนา ปัญหาใดที่เป็นเสี้ยนเป็นหนามทำให้อายุของศาสนธรรมสั้นลงเสื่อมลงเราก็ต้องแก้ไข ช่วยกันทำให้เป็นรูปธรรม นำเข้าไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก http://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/9644.html (http://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/9644.html) |