สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 26, 2018, 07:27:17 am



หัวข้อ: เมื่อขุนหลวงนารายณ์ ทรงมีความสงสัย เรื่องกฎแห่งกรรม
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 26, 2018, 07:27:17 am

(https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2018/04/4DQpjUtzLUwmJZZPEb3bi7EYaZW94vuCmSpxmXjF1CS2.jpg)


เมื่อขุนหลวงนารายณ์ ทรงมีความสงสัย เรื่องกฎแห่งกรรม

นอกจากทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสนพระทัยในฝ่ายอาณาจักรแล้ว ยังสนพระทัยในฝ่ายศาสนจักรด้วย มีหลักฐานปรากฏเป็นเอกสารว่า ขุนหลวงนารายณ์ทรงสนพระทัยในคำสอนของพระพุทธศาสนา และมีพระประสงค์ทราบความกระจ่างในหลักธรรมนั้นๆ เช่น ทรงมีความสงสัยเรื่อง กฎแห่งกรรม

พระองค์ทรงตั้งพระราชปุจฉา (คำถาม) ต่อพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายกระทู้ ดังปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์เรื่อง “ประชุมพระราชปุจฉา” (เป็นเอกสารที่รวบรวม พระราชปุจฉาของพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์) แต่มีพระราชปุจฉาประการหนึ่ง ที่สามารถสร้างความกระจ่าง ในความเชื่อเรื่อง กฎแห่งกรรม ของชาวพุทธได้ ประชุมพระราชปุจฉา ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาที่ทรงคุณค่า แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์ไทย

    @@@@@@

    สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตั้งพระราชปุจฉา ถึงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กับพระธรรมไตรโลก ว่า
    “มีชายคนหนึ่งเข้าไปในป่า แล้วต้องเจอภัยจากช้างและเสือ ชายผู้นั้นปลงว่า ถ้าหากมีกรรมต่อช้างและเสือก็จะต้องถูกช้างและเสือทำร้าย แต่ถ้าหากไม่มีกรรมกับช้างและเสือ สัตว์นั้นก็จะไม่ทำร้าย
     พอชายผู้นั้นเข้าไปปะทะกับช้างและเสือ จึงถูกช้างและเสือทำร้ายจนตาย
     หากเป็นเช่นนี้แสดงว่า ชายผู้นี้มีกรรมหรือไม่มีกรรมกับช้างและเสือกันแน่.?”


     สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จึงวิสัชนา (ตอบ) ว่า
    “หากจะตอบเรื่องกรรมนั้น ไม่สามารถพิจารณาได้จากชาติปัจจุบัน มันต้องพิจารณาเรื่องกรรมที่ทำมาแต่อดีตชาติ ดังตัวอย่างที่ว่า ชายใดอย่ากล้าหาญ อย่าขี้ขลาด และอย่าประมาทเกินไป ต้องมีสติคอยระวัง ผู้มีความรู้ไม่สมควรสรรเสริญคนเหล่านี้
     ขอยกตัวอย่างดังพระมหาชนกได้เจรจากับนางมณีเมขลาว่า ผู้ใดเห็นพาลมฤคราช(สัตว์ร้าย) มีอาทิ คือ ช้างและเสือที่ดุร้ายแล้ว ไม่หนีทั้งยังให้สัตว์เหล่านั้นทำร้าย ชายผู้นี้ย่อมเป็นผู้หาความเพียร เพื่อให้ตนเองรอดจากอันตราย และรักษาชีวิตตนเองไว้ไม่ได้ จึงส่งผลให้ตนเองเดือดร้อนในภายหลัง”


(https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2018/04/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%93%E0%B9%8C-1.jpg)


     พอจบวิสัชนาของสมเด็จพุทธโฆษาจารย์แล้ว พระธรรมไตรโลกถวายวิสัชนาต่อว่า
    “คนที่เชื่อกรรมแล้วไม่ได้พิจารณาด้วยความถูกต้อง ย่อมเป็นผู้มี “ปุพพเหตุกทิฐิ” คือเป็นผู้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าผิด หากไม่มีกรรมเก่าก็จะไม่มีกรรมใหม่ พระพุทธเจ้าบัญญัติมิให้ภิกษุปีนต้นไม้ แต่เมื่อมีภัยมาก็ทรงอนุญาตให้ภิกษุปีนต้นไม้หนีเพื่อรักษาชีวิตไว้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ห้ามภิกษุอยู่ในที่ที่มีสัตว์และปีศาจร้าย นั่นเอง”

พระราชปุจฉาแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชข้อนี้ แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในเรื่องของกฎแห่งกรรม โดยยกเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งเข้าป่า แล้วเผชิญภัยจากช้างและเสือ ชายผู้นี้เชื่อว่ าตนเองไม่ได้ทำกรรมไว้กับสัตว์ทั้งสอง ช้างและเสือจะไม่ทำร้ายตนอย่างแน่นอน แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ชายผู้นั้นจบชีวิตลงด้วยการถูกช้างและเสือทำร้าย หากเป็นเช่นนี้จะตัดสินได้หรือไม่ว่า ชายคนนี้มีกรรมหรือไม่มีกรรมกับสัตว์ทั้งสอง


(https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2018/04/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%93%E0%B9%8C-2.jpg)

สรุปจากวิสัชนาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั้งสองแล้วพบว่า เรื่องกรรมของชายผู้นี้สามารถอธิบายได้ด้วยทรรศนะเรื่องกรรมในผลข้ามภพข้ามชาติ แต่ก็สามารถอธิบายเรื่องกรรมกับการรักษาตัวให้รอดจากภัยอันตรายได้ว่า คำว่า “กรรม” คือ “การกระทำ”

บางทีการกระทำบางอย่างของชายผู้นี้อาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งสองทำร้ายจนตายก็เป็นได้ เช่น การเคลื่อนไหวตัวจนทำให้สัตว์ทั้งสองกลัว จึงต้องทำการป้องกันตัวเองตามสัญชาตญาณ ด้วยการจู่โจมทำร้ายชายผู้นี้จนถึงแก่ความตาย

หรือมองในอีกแง่มุมหนึ่งว่า การกระทำ(กรรม) สามารถช่วยให้ชายผู้นี้รอดจากภัยของสัตว์ทั้งสองได้ เช่น การปีนขึ้นต้นไม้ดังมีปรากฏในพุทธบัญญัติ การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายหนีภัยจากสัตว์ร้ายและปีศาจด้วยการปีนต้นไม้นั้น แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องการรักษาชีวิตของตนให้รอดจากอันตรายเป็นเรื่องสำคัญ หรืออย่างที่ปรากฏในคำตรัสของพระมหาชนกถึงเรื่องการรักษาตัวรอดให้พ้นภัยนั้นเป็นสิ่งที่ดีนั่นเอง



ข้อมูลจาก : ศึกษาและวิเคราะห์วิสัชนาของพระภิกษุที่ปรากฏในพระราชปุจฉาแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ภาพจาก :  ru-young  Tnews  Silpa-mag และ ไทยรัฐ
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/85644.html#cxrecs_s