หัวข้อ: นางสุปปิยา สตรีผู้มี สัจจะและศรัทธา อันยิ่งใหญ่ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กันยายน 05, 2018, 06:17:01 am (https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2017/03/%E0%B8%9B%E0%B8%81-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2.jpg) นางสุปปิยา สตรีผู้มี สัจจะและศรัทธา อันยิ่งใหญ่ คุณอาจเคยรู้สึกแปลกใจและทึ่งในความงามอันน่ามหัศจรรย์ของสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์ในสมัยโบราณสร้างขึ้นมา ทั้งๆ ที่เครื่องไม้เครื่องมือในยุคนั้นแทบจะไม่มี คุณอาจเคยสงสัยว่า เพราะเหตุใดมนุษย์ตัวเล็กๆ จึงสามารถแกะสลักภูผาที่ใหญ่มหึมาเป็นรูปเคารพได้สำเร็จ หรือไม่เข้าใจว่าคนในสมัยก่อนสร้างพีระมิดได้อย่างไร เชื่อหรือไม่ว่า “ศรัทธา” ทำให้มนุษย์สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างที่เหลือเชื่อได้อย่างไม่น่าเชื่อ… @@@@@@ ครั้งพุทธกาลมีสตรีผู้หนึ่งนามว่า สุปปิยา เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาอันยิ่งใหญ่และมีสัจจะที่น่าชื่นชม แม้เธอจะไม่ได้สร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตให้โลกประจักษ์ ทว่าศรัทธาอันสูงส่งที่เธอมี ทำให้เธอตัดสินใจทำในสิ่งที่คนทั่วไปไม่กล้าทำและคงไม่เคยมีใครทำมาก่อน นางสุปปิยา ผู้นี้มีสามีชื่อ นายสุปปิยะ ทั้งสองคนเป็นชาวเมืองพาราณสีสองสามีภรรยาคู่นี้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า หนึ่งในกิจวัตรประจำวันของทั้งสองคือ การเดินทางไปถวายภัตตาหารแด่ภิกษุสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆ วันหนึ่งถือเป็นคราวโชคดีของสองสามีภรรยา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนาโปรดชาวพาราณสี และเพียงครั้งแรกที่นางสุปปิยาได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์…นางก็บรรลุโสดาบันทันที จะเป็นด้วยความปรารถนานับแต่อดีตชาตินานนับแสนกัปที่นางปรารถนาจะสร้างกุศลกรรมให้พระศาสนาได้มากที่สุด หรือความมุ่งมั่นตั้งใจในชาติปัจจุบันก็สุดจะเดา จึงทำให้นางสุปปิยามีจิตเมตตาภิกษุผู้อาพาธ คอยไต่ถามทุกข์สุขและอาการอาพาธของภิกษุในทุกๆ วัด เพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาอยู่เสมอ @@@@@@ ครั้งหนึ่งนางสุปปิยาได้ทราบว่า มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธจากการดื่มยาถ่ายและต้องการฉัน “น้ำเนื้อต้ม” เพื่อบำรุงกำลัง เมื่อเห็นว่าไม่เกินกำลังแต่อย่างใด นางจึงตกปากรับคำภิกษุรูปนั้นเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า “ลูกจะนำมาถวายพระคุณเจ้าในเช้าวันพรุ่งนี้” พูดจบนางก็รีบมอบหมายให้หญิงรับใช้ไปหาซื้อเนื้อที่ตลาดทันที วันนั้นแม้หญิงรับใช้จะเพียรหาเนื้อจนทั่ว แต่ก็ไม่มีร้านไหนมีเนื้อขายเลย เพราะเหตุว่าเป็นวันห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หญิงรับใช้จึงกลับมาแจ้งนางสุปปิยา และอาสาจะไปหาซื้อให้อีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น นางสุปปิยาคิดใคร่ครวญกลัวไม่ทันกาลหากจะต้องรอ “เนื้อ” จนเวลาเช้า เพราะกว่าจะเตรียมการทุกอย่างเสร็จ นางก็คงนำน้ำเนื้อต้มไปถวายไม่ทันอย่างที่ได้รับปากไว้อย่างแน่นอน และหากเป็นเช่นนั้นจริง อาการอาพาธของภิกษุรูปนั้นก็อาจกำเริบมากขึ้นไปอีก สร้างความทรมานไม่รู้จบสิ้น…ก่อเป็นบาปกรรมได้ เมื่อมองไม่เห็นทางอื่นที่จะได้เนื้อมา นางสุปปิยาจึงกลับเข้าไปในห้อง ก่อนจะกลั้นใจใช้มีดแล่เนื้อที่ขาขวาออกมาชิ้นหนึ่งและยื่นให้หญิงรับใช้นำไปปรุงอาหาร เมื่อทุกอย่างแล้วเสร็จ นางสุปปิยาจึงวานให้นายสุปปิยะผู้เป็นสามีนำน้ำเนื้อต้มไปถวายภิกษุอาพาธในเช้านั้นแทนนาง เพราะตัวนางเองเกิดป่วยกะทันหัน @@@@@@ พระพุทธองค์ทรงทราบถึงเหตุแห่งศรัทธานั้น เช้าวันต่อมาพระองค์และพระสาวกจึงออกบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านสองสามีภรรยา เมื่อเห็นดังนั้นนายสุปปิยะจึงถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้นิมนต์พระพุทธองค์และพระสาวก ขึ้นรับภัตตาหารบนเรือน ครั้งนั้นแม้นายสุปปิยะจะแจ้งว่า นางสุปปิยาป่วยนอนพักอยู่ในห้อง แต่พระพุทธองค์ก็ยังคงตรัสเรียกให้นางออกมาอยู่หลายครั้ง วินาทีนั้นเอง ได้เกิดอัศจรรย์ขึ้นที่ขาข้างขวาของนาง…เนื้อที่หายไปเริ่มเติมเต็มขึ้นมา ผิวหนังบริเวณที่นางตัดเนื้อออกไปกลับสมานเรียบดังเดิม หนำซ้ำนางยังมีผิวพรรณผ่องใสยิ่งกว่าเก่าเสียอีก นางสุปปิยาสามารถก้าวเดินออกจากห้องได้เป็นปกติ และได้คลานเข้ามากราบพระพุทธองค์ด้วยความปลาบปลื้มยินดียิ่งนัก เมื่อพระพุทธองค์ตรัสถามถึงสาเหตุของอาการไข้ นางสุปปิยาจึงเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดถวายโดยไม่ปิดบัง สร้างความตื่นตะลึงให้ทุกคน ณ ที่นั้น และด้วยอานุภาพแห่งศรัทธานี้ พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องว่า นางสุปปิยาเป็นอุบาสิกาผู้เป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งปวงในการเป็นอุปัฏฐายิกาภิกษุที่อาพาธ @@@@@@ ต่อมาภายหลังพระพุทธองค์มีรับสั่งให้มีการประชุมสงฆ์และได้สอบถามความจากภิกษุอาพาธรูปนั้นจนทราบว่า “ท่านรับฉันน้ำเนื้อมนุษย์ต้มจริงๆ” พระพุทธองค์ทรงติติงพร้อมกับชี้แจงว่า เป็นเรื่องไม่น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่งทั้งแต่นี้และต่อไปในภายภาคหน้า ด้วยเหตุนี้จึงเกิด พุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์ ตามด้วยเนื้อสัตว์ 9 ชนิด ได้แก่ ช้าง ม้า สุนัข งู หมี สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง และเสือดาวนับแต่นั้นมา เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ Secret Magazine (Thailand) Photo by Naganath Chiluveru on Unsplash ขอบคุณที่มา : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/3494.html |