สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 05, 2018, 07:20:40 am



หัวข้อ: 5 หลุมพราง ที่พบได้บ่อย ของนักภาวนา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ตุลาคม 05, 2018, 07:20:40 am


(https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2017/08/todd-quackenbush-46471-unsplash.jpg)


5 หลุมพราง ที่พบได้บ่อย ของนักภาวนา

นักภาวนาที่ต้องการเอาชนะทุกข์ทั้งหลาย แม้เราโถมทุ่มความเพียรฟาดฟันกับกิเลสไปแล้วเท่าไหร่ แต่ขึ้นชื่อว่ากิเลส มีหรือที่เราจะเอาชนะมันได้ง่ายๆ ธรรมชาติของกิเลส ย่อมนำหน้าเราอย่างน้อย 100 ก้าวเสมอ เราทุกคนจึงไม่ควรประมาท นิ่งนอนใจว่าฉันไปไกลกว่ากิเลส เก่งกล้ากว่ากิเลส

ผมขอนำเสนอ หลุมพรางที่พบได้บ่อยๆ “ขุดโดยกิเลส ตกหลุมโดยนักปฏิบัติ” เป็นกลเกมของกิเลสที่ทำให้นักปฏิบัติหลายคนพลาดท่าเสียที ขอให้นักปฏิบัติทั้งหลายจงตรวจสอบดูว่า ท่านอยู่ในข้อใดข้อหนึ่งบ้างหรือไม่ จะได้เร่งปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางธรรมต่อไป

    @@@@@@

    1. ปล่อยวางจนกลายเป็นความขี้เกียจ

กลุ่มนี้เกิดจากสามารถละวางสิ่งต่างๆได้ตามสมควร จึงไม่ค่อยทุกข์ร้อนกับเรื่องอะไร มีเรื่องอะไรเข้ามากระทบก็ปลงตกได้เร็ว จิตสงบเย็นทางธรรมอยู่เป็นนิจ เป็นกลุ่มที่มักคิดถึงความตายเป็นอารมณ์ นิพพานเป็นอารมณ์ คิดถึงการเวียนว่ายตายเกิดบ่อยๆ คิดถึงความว่างเป็นอารมณ์ เป็นกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่ค่อนข้างมีสมาธิดี เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ก็จะนำเรื่องที่เห็นมาโยงเข้ากับเรื่องราวของการเกิดขึ้นตั้งอยู่ และดับไป นับเป็นจิตที่ฟุ้งซ่านน้อย แต่จะออกไปทางเซื่องซึม ทำให้เกิดความย่อหย่อนในการทำงาน ปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ อย่างไรจุดหมาย

สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นด้วยการเจริญวิปัสสนาให้มาก อยู่กับปัจจุบันให้มาก 

    @@@@

    2. รู้ธรรมะมากจนกลายเป็นคนฟุ้งซ่าน

กลุ่มนี้เกิดจากคิดวิเคราะห์มาก มักเป็นกลุ่มคนที่ใช้สุตมยปัญญาคือปัญญาที่เกิดจากการอ่าน การฟัง และจินตามยปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการคิดวิเคราะห์  คนกลุ่มนี้เน้นยกสิ่งรอบตัวมาพิจารณา ชอบศึกษาธรรมะในมุมมองของสังคม ปรัชญาและเหตุผล แต่ปฏิบัติทางจิตน้อย ทำให้หลงไปกับธรรมะต่างๆ ที่ตนเองตรึกตรองมาได้ ทว่าไม่สามารถเข้าถึงได้ในระดับสภาวะ คนกลุ่มนี้มักเป็นคนพูดมาก นิยมการวิพากษ์วิจารณ์ และสามารถมีเหตุผลได้ล้ำลึก เนื่องจากรู้จักธรรมะมาก ธรรมะที่รู้มาจึงตลบหลังทำให้กลายเป็นผู้ที่ส่งจิตออกนอกอยู่เสมอ เรียกว่าเรียนธรรมะจากนอกตัว แต่ไม่ชอบเรียนธรรมะจากในตัว

วิธีแก้คือ ให้เจริญวิปัสสนามากๆ ลดการพูด การวิพากษ์วิจารณ์ให้น้อย กำกับกายวาจาด้วยศีลห้า ธรรมะที่มีอยู่ก็จะพัฒนาจากธรรมะแบบจำได้หมายรู้ ไปสู่ภาวะความเข้าใจธรรมในระดับจิต

     @@@@

    3. ยึดมั่นกฎแห่งกรรมในแง่มุมที่ผิดพลาด

คนกลุ่มนี้เชื่อเรื่องกรรมสูง แต่ไม่เข้าใจรอบด้าน ทำให้กลายเป็นคนไร้ความเมตตา เพราะไปคิดว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อพบเห็นเหตุการณ์อะไร ก็มักนำเรื่องกฎแห่งกรรมเข้าไปจับ โดยเห็นว่ อะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมเก่า คนนี้ลำบากก็เพราะกรรมเก่าคนนั้นถูกคนรักทิ้งก็เพราะกรรมเก่า เจออุบัติเหตุก็เพราะกรรมเก่า แผ่นดินไหวมีคนตายก็เพราะกรรมเก่า ใครจะสุขหรือทุกข์ก็เพราะกรรมเก่า ทุกคนเคยทำอะไรไว้ ก็จะได้รับผลกรรมนั้นตอบแทน การคิดเช่นนี้ก็ไม่ผิด แต่หากคิดแล้วขาดการเอาใจเขาไปใส่ใจเรา ย่อมทำให้กลายเป็นคนไม่รู้ร้อนรู้หนาว ละเลยต่อการช่วยเหลือเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายโดยไม่รู้ตัว

วิธีแก้ไขคือ ให้เจริญพรหมวิหารสี่ให้มาก จิตใจที่เคยเชยชาก็จะอ่อนโยนลงได้

    @@@@

    4. ศรัทธาจนกลายเป็นความยึดติด

คนกลุ่มนี้เป็นบุคคลที่มีความศรัทธาสูง ชอบทำบุญทำทานเป็นชีวิตจิตใจกลัวบาปกรรม ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมความดีเป็นกลุ่มคนที่วางตนอยู่ในกรอบของศีลธรรม แต่ขาดหลักคิดแบบโยนิโสมนสิการคือ ยึดมั่นในตำรามากจนไม่นำหลักธรรมไปคิดทบทวนถึงเหตุผลทำให้ขาดความแยบคายในธรรม จึงพลาดไปจากเป้าหมายสูงสุด นั่นคือการมีปัญญาเป็นของตนเอง

วิธีแก้คือ หมั่นเจริญหลักคิดแบบโยนิโสมนสิการและหลักกาลามสูตรบ่อยๆ น้อมเอาหลักธรรมที่ศึกษามาเป็นอารมณ์วิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ศรัทธาและความรู้ทางธรรมที่มีอยู่บวกกับปัญญา ซึ่งไม่ได้เกิดจากสัญญาลากไปก็จะทำให้จิตสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

     @@@@

     5. มีปัญญามาก จนลำพองในธรรม

คนกลุ่มนี้โดยมากจะเน้นการเจริญวิปัสสนาเป็นหลัก สามารถรับรู้ความคิดและสภาพจิตของตนได้ตามความเป็นจริงทำให้รู้สึกว่า ตนเองเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลมกว่าคนอื่น เป็นเหตุให้ปัญญาตลบหลัง ถูกสัญญาที่แฝงตัวเข้ามาลากไปรวมกับกิเลสเป็นกิเลสซ้อนกิเลส ส่งผลให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรา มีทิฐิมานะไม่ค่อยเปิดใจรับการตักเตือนจากบุคคลอื่นได้ง่ายเพราะคิดว่าตนเองรู้ทุกอย่าง

วิธีแก้ไขคือให้รู้จักคุณธรรมของความอ่อนน้อมถ่อมตนฟังคำตักเตือนของกัลยาณมิตรรอบตัว และเจริญสมถะกรรมฐานให้มากขึ้นเมื่อจิตมีพลังสมาธิทัดเทียมกับปัญญา ก็จะเกิดความก้าวหน้าทางธรรมได้อย่างแท้จริง

@@@@@@

นอกจากหลุมพรางทั้งห้าข้อนี้แล้วการปฏิบัติธรรมนั้นยังมีหลุมพรางอีกหลายๆ ประการด้วยกันผู้ปฏิบัติจะต้องหมั่นสำรวจตรวจสอบตนเอง คุณธรรมทั้งหลายที่มีอยู่ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นเปรียบดังเครื่องมือ ที่ผู้ปฏิบัติทุกคนต้องใช้ให้ครบทุกชนิด ทั้งวิธีคิดวิธีกำกับกายวาจา วิธีกดข่มกิเลสเบื้องต้น วิธีลดความฟุ้งซ่านวิธีหาอุบายธรรม และวิธีขัดเกลาจิตใจให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง

ทุกอย่างที่พูดมานี้ต้องเดินไปพร้อมๆ กันอย่างสมบูรณ์ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้การปฏิบัติขาดสมดุลยภาพ ทำให้เกิดเป็นวิปัสสนูปกิเลสได้หมายความว่า เกิดกิเลสที่แฝงมากับการพัฒนาจิต ทำให้การปฏิบัติผิดทิศผิดทางปฏิบัติธรรมแต่ไม่ได้ธรรม กลับสร้างกรรมเข้ามาแทนที่โดยไม่รู้ตัว



คอลัมน์ Heart and Soul นิตยสาร Secret
เรื่อง พศิน อินทรวงค์
รูปภาพ คุณTodd Quackenbush www.unsplash.com (http://www.unsplash.com)
ขอบคุณเว็บไซต์ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/67521.html (https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/67521.html)
By Therranuch ,11 March 2018


หัวข้อ: Re: 5 หลุมพราง ที่พบได้บ่อย ของนักภาวนา
เริ่มหัวข้อโดย: ธัมมะวังโส ที่ ตุลาคม 05, 2018, 01:17:30 pm
 st12