หัวข้อ: บรรเทาความโกรธ ด้วยการพิจารณาความเป็นญาติ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 24, 2018, 06:38:40 pm (http://www.madchima.net/forum/gallery/30_24_12_18_6_24_32.jpeg) บรรเทาความโกรธ ด้วยการพิจารณาความเป็นญาติ (อุบายบรรเทาความโกรธประการที่ ๗ ด้วยพิจารณาความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏ) ก็แหละ โยคีบุคคลผู้ซึ่งได้เข้าถึงความเป็นทาสของกิเลสมานานหลายร้อยหลายพันชาติ แม้จะได้พยายามพิจารณาถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อนโดยวิธีดังแสดงมาสักเท่าไรก็ตาม ความโกรธแค้นนั้นก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแล คราวนี้โยคีบุคคลนั้นจงพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฎอันยาวนาน ซึ่งสาวหาเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ โดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้ @@@@@@ แหละเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์สังยุตตนิกายนิทานวรรคว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้นั้นที่จะไม่เคยเป็นมารดากัน ไม่เคยเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่น้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน และไม่เคยเป็นธิดากัน เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายเลย” เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในคนคู่เวรกันอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า สตรีผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติปางก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ตลอดเวลา ๑๐ เดือน ได้ช่วยล้างเช็ดปัสสาวะน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นเหมือนฝุ่นจันทร์หอม ช่วยประคองเราให้นอนอยู่ในระหว่างอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้ทะนุถนอมเลี้ยงเรามาเป็นอย่างดี ฉะนี้ @@@@ บุรุษผู้นี้เคยเป็นบิดาของเรามา เมื่อประกอบการค้าขาย ต้องเดินไปในทางทุรกันดาร เช่น ต้องไปด้วยอาศัยแพะเป็นพาหนะ และต้องเหนี่ยวรั้งไปด้วยไม้ขอเป็นต้น แม้ชีวิตก็ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ครั้นในยามเกิดสงครามประชิดติดพันกัน ทั้งสองฝ่ายก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางครั้งต้องแล่นเรือผ่านมหาสมุทร อันเต็มไปด้วยภัยอันตราย และได้ทำกิจการอย่างอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยความลำบากยากเข็ญ พยายามสั่งสมทรัพย์ไว้ด้วยอุบายต่างๆ ด้วยมั่นหมายว่า จักเลี้ยงดูลูกๆทั้งหลายให้เป็นสุข ฉะนี้ @@@@@@ บุรุษผู้นี้เคยเป็นพี่น้องชายของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นพี่น้องหญิงของเรามา บุรุษผู้นี้เคยเป็นบุตรของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นธิดาของเรามา และแต่ละบุคคลนั้นเคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายประการมาเป็นอันมาก เพราะเหตุฉะนั้น การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้นๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้ ที่มา : วิสุทธิมรรค ฉบับแปลโดย สมเด็จพระพุฒาจารย์(อาจ อาสโภ) และคณะ https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๙_พรหมวิหารนิเทศ_หน้าที่_๑๐๑_-_๑๐๕ (https://th.wikisource.org/wiki/วิสุทธิมรรค_เล่ม_๒_ภาคสมาธิ_ปริเฉทที่_๙_พรหมวิหารนิเทศ_หน้าที่_๑๐๑_-_๑๐๕) |