สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มกราคม 07, 2019, 07:51:46 am



หัวข้อ: เปิดกรุ..พุทธรูปยุคแรกของโลก
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 07, 2019, 07:51:46 am

(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2018/12/2018-12-30_025612.jpg)


เปิดกรุ..พุทธรูปยุคแรกของโลก


วันนี้ขอนำสมาชิกไปสักการะพระพุทธรูปยุคแรกของโลก ที่ถูกเก็บรักษาไว้ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอินเดีย เมืองกัลกัตตา ซึ่งนับเป็นสถานที่ ที่เก็บรวบรวมพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณไว้มากที่สุดในอินเดีย เพื่อจักยังศรัทธาความเลื่อมใสแห่งท่านทั้งหลายให้บังเกิด ณ บัดนี้

พระพุทธรูปคันธาระ นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก


(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2018/12/2018-12-30_025637.jpg)

การสร้างพระพุทธรูปหรือพุทธปฎิมา เกิดขึ้นครั้งแรกของโลก โดยฝีมือของช่างแคว้นคันธารราฐ เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๓๗๐ ที่ได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน เพราะอินเดียสมัยนั้นเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งเคยกรีฑาทัพมา ตั้งแต่ในราว ๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาล พวกเขาได้ถือรูปแบบเคารพเดิมที่เป็นเทพเจ้าของตนที่เคยปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมา ประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้น

เมื่อพวกเขาหันมานับถือศาสนาพุทธ การสร้างพระพุทธรูปครั้งแรกจึงเกิดขึ้นที่นี่ จึงถือว่าเป็นการผสมผสานระหว่างกรีกโรมัน (อิทธิพล Grego-Roman) และอินเดียโบราณ ที่สัมพันธ์กับมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ของพระพุทธเจ้า อย่างลงตัว พระพุทธรูปคันธาระจึงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีพุทธศิลปงามที่สุด และเก่าแก่ที่สุดของโลก มีอายุราว ๒๐๐๐ ปี จนได้รับการยอมรับในระดับสากลนิยมจากนักสะสมและพิพิธภัณฑ์นานาชาติทั่วโลก


(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2018/12/2018-12-30_025716.jpg)

ลักษณะสำคัญทางศิลป์ของพระพุทรูปยุคคันธาระก็คือ พระพักตร์คล้ายเทพอพอลโล มีเส้นพระเกศาหยิกสลวย ( ยังไม่เป็นก้นหอยเหมือนในยุคหลัง ) มีพระรัศมี ( Halo ) อยู่หลังพระเศียร ตามความเชื่อของกรีกที่ทำรูปปั้นเทพต่างๆ ห่มผ้าคลุมแบบริ้วธรรมชาติ มีอุณาโลมระหว่างคิ้ว มีอุษณีษะศีรษะ ( มวยผมโป่งตอนบน ) พระกรรณยาว พระพุทธรูปคันธารราฐ มีทั้งที่ทำด้วยปูนปั้น ( Stucco ) หินเขียว และหินดำ ( Schist )

พระยามิลินท์ ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงให้รุ่งเรืองอย่างมาก หลังการล่มสลายของวงศ์เมาริยะ เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูป จำหลักหินขึ้นอย่างมากมาย เป็นศิลปกรรมแบบกรีกผสมอินเดีย เรียกตามเมืองที่ตั้งว่า ศิลปคันธารราฐ (อิทธิพล Grego-Roman) ท่านได้ทรงสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ขึ้นมามากมาย

ส่วนใหญ่สลักจากหินเทาอมเขียว (Schist stone) โดยยึดรูปแบบศิลปกรีกและเฮเลนนิค ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้ศิลปะใดๆ ในยุคหลังต่อมาจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 13 ที่มีอิทธิพลต่อศิลปของมถุรา ในแคว้นอุตรประเทศ แห่งสาธารณรัฐอินเดียปัจจุบัน ที่สร้างพระพุทธรูปส่วนใหญ่ทำจากหินทรายแดง ( Red Sand Stone)


(http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2018/12/2018-12-30_025737.jpg)

คราวหน้าจักนำพระพุทธรูปางต่างๆ ยุคต่าง ๆ จากภายในพิพิธภันฑ์นครกัลกัตตาแห่งอินเดีย ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าร้อยองค์นำเสนอสาธุชนสมาชิกผู้สนใจต่อไป

         ท่านคมสรัญญ์ อินเดีย
         ๒๓ กันยายน ๒๕๕๒



ขอบคุณที่มา :-
dhamma.serichon.us/พุทธศาสน์ร่วมสมัย/เรื่องเล่าจากอินเดีย/เปิดกรุ-พุทธรูปยุคแรกขอ/ (http://dhamma.serichon.us/พุทธศาสน์ร่วมสมัย/เรื่องเล่าจากอินเดีย/เปิดกรุ-พุทธรูปยุคแรกขอ/)