หัวข้อ: คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน.? เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 07, 2019, 06:42:25 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2018/07/C02-1-696x459.jpg) เจ๊กพายเรือขายของกับสาวๆ ชาวสยาม - จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารน้อย วัดกัลยาณมิตร คำว่า “เจ๊ก” มาจากไหน.? อ่านหนังสือ “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนฯ” ของ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ หน้าคำนำพิมพ์ครั้งแรกพูดถึงคำว่า “เจ๊ก” อธิบายไม่กระจ่าง ส่วน “เจ๊กปนลาว” ของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ไม่ได้บอกว่าอะไร เพียงแต่บอกว่าเป็นคำดูถูกสั้นๆ เท่านั้น จึงพยายามค้นคว้าคำว่า “เจ๊กมาเล่าสู่กันฟัง” ทั่วโลกไม่มีใครรู้จักคำว่า “เจ๊ก” แม้แต่คนจีนในเมืองไทยและคนจีนบนผืนแผ่นดินใหญ่หรือชาวจีนไต้หวันต่างไม่รู้จักคำว่า “เจ๊ก” ซึ่งคนไทยเรียกคนจีนเป็นสรรพนามแทนที่จะเรียกว่าคนจีน แต่ใช้คำว่า “เจ๊ก” แทน คำนี้มาจากไหนอย่างไร “เจ๊ก” คำนี้คนไทย และคนไทยเชื้อสายจีนรู้จักมานาน คาดว่าประมาณ ๑๐๐ ปี เป็นคำเรียกของคนไทยเรียกคนที่มีสัญชาติจีน เชื้อชาติจีนเป็น “เจ๊ก” เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นจีนแต้จิ๋ว กวางตุ้ง แคะ ไหหลำ หรือฮกเกี้ยน ถูกเรียกเป็น “เจ๊ก” ทั้งสิ้น @@@@@@ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า คนจีนที่อพยพมาเมืองไทยเป็นคนยากจน เป็นชาวนา ไม่มีการศึกษา ขนบธรรมเนียมไม่นุ่มนวลเหมือนคนไทย จึงมองว่าคนจีนเป็นคนไม่มีกิริยามารยาท พูดจาโฮกฮาก คนไทยถือว่าไม่มีสมบัติผู้ดี นึกจะถ่มน้ำลาย หรือขากเสลดก็จะขากถุยลงบนพื้นบ้าน ไม่ว่าเป็นปูนซีเมนต์ หรือพื้นดิน ทำให้สกปรกน่าสะอิดสะเอียน เวลารับประทานอาหารด้วยตะเกียบก็พูยเอาๆ มูมมาม ซี้ดๆ ซ้าดๆ ตลอดเวลา เป็นที่น่ารังเกียจสำำหรับคนไทย กรรมกรจีนเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่จะตั้งเป็นก๊วนอันธพาลขึ้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสถึงสมาคมอั้งยี่ไว้ว่่า “สมาคมลับของชาวจีน ซึ่งเรียกว่า “อั้งยี่” หรือ “ตั้วเหีย” (ความจริงควรเป็น “ตั้วเฮีย” มากกว่า-ผู้เรียบเรียง) ไม่เพียงเท่านั้นชาวจีนเป็นจำนวนมากติดฝิ่น อันเป็นพฤติกรรมร้าย ๆ ของคนจีนทั้งสิ้น จีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” หรือ “เจ๊กเจ็ก” แปลว่า “อา” หรือ “อาว์” บางทีก็ใช้เรียกชื่อคนที่ไม่รู้จักชื่อหรือคนที่นับถือกันว่า “อาเจ็ก” เป็นเสมือนสรรพนามของคนๆ นั้น @@@@@@ คนไทยได้ยินเสียงคนจีนแต้จิ๋วเรียกน้องของพ่อว่า “อาเจ็ก” ก็เรียกตาม ต่อเมื่อเห็นความประพฤติปฏิบัติในทางไม่ดีไม่มีกิริยามารยาท สร้างพฤติกรรมเป็นนักเลงโต “อั้งยี่” ทำให้เกิดความไม่พอใจ จึงแทนที่จะเรียกว่า “อาเจ็ก” กลับเรียกเป็นว่า “ไอ้เจ๊ก” ด้วยความโมโหโทโส คำๆ นี้จึงกลายเป็นคำที่ดูถูกดูแคลนคนจีนไปโดยปริยายดังที่คุณ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ข้างต้น คนจีนเมื่อถูกคนไทยเรียกว่า “ไอ้เจ๊ก” ก็หาได้ต่อล้อต่อเถียงอะไรไม่ เขาอาจจะไม่เข้าใจคำว่า “ไอ้เจ๊ก” มีความลึกซึ้งแค่ไหนเพียงใด คิดว่าคนไทยเรียกเขาว่าอาเจ็กกระมัง แต่ไหงเรียกว่า “ไอ้เจ๊ก” ไป คงเรียกเพี้ยนไปเอง ไม่เป็นไร @@@@@@ ใครเรียก “เจ๊ก” หรือ “ไอ้เจ๊ก” ก่อนไม่สามารถสืบทราบได้ คาดว่าคงมาจากจุดใหญ่ในกรุงเทพฯ เพราะคนจีนแต้จิ๋วอยู่ในกรุงเทพฯ มาก มีพฤติกรรมเป็นนักเลงโตตั้งสมาคมลับ “อั้งยี่” แล้วคำนี้กระจายไปทั่วประเทศ ถ้าพูดกันตามความรู้สึกของคนไทยแล้วมีความลึกซึ้งว่าเป็นคำเรียก “ชนิดจิกหัวกบาลเรียกกันทีเดียว” แพร่หลายในหมู่สามัญชนทั่วไปทั้งผู้มีการศึกษาและมีการศึกษาต่ำเรียกตามกันไป ส่วนคนจีนแต้จิ๋วเค้าเรียกตัวของเขาเองว่า “ตึ้งนั้ง” หรือ “ตึ้งซัวนั้ง” เขาไม่รู้ความหมายของคำว่า “เจ๊ก” หรือ “ไอ้เจ๊ก” แต่พอมาถึงหลานจีนซึ่งมีการศึกษารู้ซึ้งถึงคำว่า “เจ๊ก” และ “ไอ้เจ๊ก” ดีว่าเป็นคำพูดในเชิงดูถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนที่ซมซานหนีร้อนมาพึ่งเย็น (คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ“คนจีนมาถึงเมืองไทย”เขียนโดย มนัส โอภากุล ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗) ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2537 ผู้เขียน : มนัส โอภากุล เผยแพร่ : วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_18158 (https://www.silpa-mag.com/history/article_18158) |