หัวข้อ: พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา.!! เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 07, 2019, 06:58:18 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/01/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81-%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81-696x364.jpg) ภาพวาดพระเจ้าตากทรงม้าสู้ศึก ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองตาก (ถ่ายโดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2560) พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา.!! ก่อนที่จะกล่าวถึงเหตุผลว่า เหตุใดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถึงได้ลงพระราชอาญาพระยากาวิละเจ้านายล้านนาถึงขั้นเฉือนหูนั้น จะต้องย้อนเรื่องราวไปที่จุดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่า ดินแดนล้านนาเป็นดินแดนกันชนระหว่างพม่ากับอยุธยามาช้านาน เนื่องด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างสองรัฐ ดินแดนนี้จึงมักตกเป็นประเทศราชของทั้งพม่าและอยุธยาสลับไปมา มีเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้นที่สามารถปกครองตนเองได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเกิดปัญหาแย่งชิงอำนาจภายในก็ทำให้ล้านนาอ่อนแอและถูกยึดครองในที่สุด พระเจ้าบุเรงนองสามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2101 แต่พม่าก็ไม่สามารถปกครองล้านนาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะมักเกิดกบฏขึ้นอยู่ตลอด แม้บางครั้งจะสามารถต่อต้านพม่าจนยึดเมืองคืนได้ แต่พม่าก็ส่งกองทัพมาปราบปรามได้เสมอ @@@@@@ ช่วงก่อน พ.ศ. 2310 เชียงใหม่ปกครองโดยโป่มะยุงวนและมีพระยาจ่าบ้านเป็นขุนนางคนสำคัญของเชียงใหม่ ส่วนเมืองลำปางปกครองโดยเจ้าฟ้าชายแก้ว พระราชโอรสในเจ้าพระยาสุละวะฦาไชยสงคราม (ทิพช้าง) ปฐมวงศ์เจ้าเจ็ดตน แต่ดินแดนล้านนาก็ล้วนอยู่ใต้อำนาจของพม่าทั้งสิ้น ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2314 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพหลวงตีเมืองเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับ ขณะนั้นพระยาจ่าบ้านเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงลอบวางแผนโค่นล้มอำนาจพม่า จึงสมคบคิดกับพระยากาวิละโอรสองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้าชายแก้วเจ้าเมืองลำปาง (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/02/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B0.jpg) พระเจ้ากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ต่อมาได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ภาพจาก wikipedia) พงศาวดาวโยนกระบุว่า แม่ทัพพม่าชื่อโป่สุพลายกทัพจากล้านช้างมาถึงเชียงใหม่ โป่สุพลาก็หมายจะไล่โจมตีทัพของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่พึ่งถอนทัพไป พระยาจ่าบ้านจึงออกอุบายว่าเส้นทางน้ำที่กองทัพเรือของโป่สุพลา จะใช้นั้นเต็มไปด้วยกิ่งไม้และท่อนซุงกีดขวาง จึงขออาสาไปจัดการทางน้ำให้เดินทางสะดวก โป่สุพลาก็หลงเชื่อมอบทหารพม่าและลาว (หมายถึงชาวล้านนา) ให้พระยาจ่าบ้านไปจำนวนหนึ่ง เมื่อกองทัพของพระยาจ่าบ้านมาถึงเมืองฮอดก็สังหารทหารพม่าทั้งหมดแล้ว พาทหารลาวไปเข้าพบเจ้าพระยาจักรีเพื่อขอสวามิภักดิ์ที่เมืองกำแพงเพชร เจ้าพระยาจักรีจึงส่งข่าวถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดังนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงยกทัพหลวงพร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์มายึดเชียงใหม่ได้สำเร็จ ใน พ.ศ. 2317 และทรงแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวชิรปราการครองเมืองเชียงใหม่ และให้พระยากาวิละครองเมืองลำปาง @@@@@@ ในปี พ.ศ. 2318 พม่าจากเชียงแสนก็ยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่และลำปาง ฝั่งพระยาจ่าบ้านต้องถอยร่นมาอยู่เมืองระแหง (ตาก) ขณะที่พระยากาวิละและเจ้าเจ็ดตนพยายามต้านทานพม่าอย่างสุดกำลัง แต่ก็ต้องทิ้งเมืองลำปางแล้วอพยพมาอยู่เมืองสวรรคโลกแทน ในปีถัดมาเมื่อพวกพม่าถอยทัพกลับไป พระยากาวิละพร้อมเจ้าเจ็ดตนจึงกลับเมืองลำปางตามเดิม พระยาจ่าบ้านจะกลับไปเชียงใหม่ตามเดิม โดยสั่งให้เจ้าก้อนแก้วผู้เป็นหลานและเป็นอุปราชเชียงใหม่ขึ้นไปที่ตำบลวังพร้าว เพื่อรวบรวมกำลังพลและเสบียงรอล่วงหน้า อุปราชก้อนแก้วรวบรวมเสบียงไว้ได้จำนวนมาก แต่เมื่อพระยาจ่าบ้านมาถึงกลับไม่ยอมแบ่งปันเสบียง และเกิดวิวาทกันจนพระยาจ่าบ้านสังหารอุปราชก้อนแก้วตาย (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/01/8.jpg) แผนที่เส้นทางเดินทัพกลับในคราวไป “ปราบเชียงใหม่” ปี 2317 ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ขายกทัพไป เนื้อความขาดไป แต่ตอนยกทัพกลับ ได้ระบุเส้นทางเดินทัพ และชื่อบ้านเมืองที่พักค้างแรม และในเอกสารฉบับนี้เองที่เรียกบ้านตากว่า “เมืองตาก” (แผนที่นี้ใช้ Google Map ค้นหาพบว่า ชื่อบ้านเมืองยังคงมีร่องรอยที่ตั้งในปัจจุบัน)พ.ศ. 2321 พระเจ้ากรุงธนบุรีให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบปรามหัวเมืองล้านช้าง ในปีถัดมาแม่ทัพทั้งสองจึงแต่งกองข้าหลวงจำนวน 300 คน ไปตรวจราชการหัวเมืองล้านนา ผ่านทางเมืองน่าน แพร่ และลำปาง แต่ข้าหลวงเหล่านั้นโจรกรรมสิ่งของราษฎร ฉุดหญิงไปกระทำอนาจาร สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ชาวบ้านจึงพากันไปร้องทุกข์พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปาง พระยากาวิละแค้นเคืองใจจึงคุมกำลังคนไปไล่แทงฆ่าฟันข้าหลวงเหล่านั้นตายไปจำนวนมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบเรื่องจึงให้ตราหมายเรียกตัวพระยากาวิละลงมากรุงธนบุรี มีตราไปถึงสามครั้งแต่พระยากาวิละก็ไม่มาเพราะรู้ตัวว่าตนกระทำผิดจะต้องพระราชอาญาอย่างแน่นอน พระยากาวิละ จึงคิดทำความดีความชอบทำราชการเผื่อจะได้การลดโทษโดยยกทัพไปตีเมืองลอและเมืองเทิง โดยกวาดต้อนได้ผู้คนเป็นอันมาก จากนั้นพระยากาวิละและพระยาจ่าบ้านลงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่กรุงธนบุรี พร้อมถวายบรรณาการทั้งสิ่งของและผู้คนที่กวาดต้อนมาได้จากสงครามครั้งนั้น @@@@@@ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระบรมราชวินิจฉัยพิพากษาพระยากาวิละ ข้อหาทำร้ายข้าหลวงและพิพากษาพระยาจ่าบ้านข้อหาฆ่าอุปราชก้อนแก้ว โดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนคนละ 100 ที ส่วนพระยากาวิละมีความผิดอีกประการคือขัดท้องตราไม่มาตามเรียก จึงให้ลงพระราชอาญาตัดขอบหูพระยากาวิละทั้งสองข้าง แล้วเอาตัวทั้งสองไปขังคุก พระยากาวิละขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปทำราชการไถ่โทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีพระบรมราชานุญาตคืนยศพระยากาวิละและให้ปกครองเมืองลำปางตามเดิม แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่ไว้วางพระราชหฤทัยพระยาจ่าบ้านจึงให้จำคุกต่อไป (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2016/06/Screen-Shot-2016-06-09-at-2.55.45-PM-292x420.png) “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์ พิมพ์ครั้งแรกเป็นปกนิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๘๗๕ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๘ พระยากาวิละเมื่อกลับถึงเมืองลำปางจึงรวบรวมกำลังไพร่พลได้ 300 คน ไปตีเมืองเชียงแสนเป็นการทำราชการไถ่โทษ แม้จะขาดเสบียงจนต้องกินน้ำต้มข้าวประทังชีวิต แต่ด้วยความอุตสาหะและความเก่งกล้าของพระยากาวิละจึงพิชิตเชียงแสนได้สำเร็จ ส่วนพระยาจ่าบ้านก็ถูกจองจำจนล้มป่วยและตายในคุกที่กรุงธนบุรี เนื่องจาก “หู” เป็นอวัยวะสำคัญในการได้ยิน “เสียง” การที่พระยากาวิละไม่ยอมลงมาเข้าเฝ้าตามตราหมายเรียกตัวถึงสามครั้งจึงเสมือนเป็นพวกดื้อแพ่งทำเป็น “หูทวนลม” คือได้ยินแต่นิ่งเฉยทำเป็นไม่ได้ยิน ดังนั้นการเฉือนหูจึงเหมือนเป็นการ “แก้เผ็ด” เป็นการลงพระราชอาญาที่รุนแรงและสะท้อนว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแค้นเคืองเจ้ากาวิละอยู่ไม่น้อย อ้างอิง :- - สุรพล ดำริห์กุล.(2545). แผ่นดินล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. - กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. พงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ.(2504). - กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองรัตน์. (ฉบับออนไลน์จาก หอสมุดแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ ตรัง, พงศาวดาวโยนก) ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_27197 (https://www.silpa-mag.com/history/article_27197) เผยแพร่ : วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 หัวข้อ: Re: พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา.!! เริ่มหัวข้อโดย: นิรตา ป้อมนาวิน ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2019, 01:14:59 pm :25: like1 thk56
|