หัวข้อ: สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ”ความกลัว” เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 11, 2019, 05:49:52 am (https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2017/05/ian-froome-367862-unsplash.jpg) สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ ”ความกลัว” ความไม่แน่นอนคือสัจธรรม มา ”ก้าวข้าม ความกลัว” กับบทความจาก พระไพศาล วิสาโล ความราบรื่น ลงตัว เพียบพร้อม สมบูรณ์ และคาดการณ์ได้ เป็นยอดปรารถนาของผู้คน เพราะทำให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนั้นมั่นคงและปลอดภัย ตอกย้ำความมั่นใจของการอยู่ในโลกนี้ ปราศจากซึ่งสภาวะดังกล่าวเสียแล้ว โลกก็จะกลับกลายเป็นสิ่งไม่ปลอดภัยไม่น่าไว้วางใจ และชีวิตก็แทบจะกลายเป็นนรกไปทันทีในความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ อันที่จริงไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็ได้ เพียงแค่ต้องเจอกับความไม่แน่นอนข้างหน้าว่าทุกอย่างจะราบรื่นลงตัวหรือไร้ปัญหา ความกลัวก็ครอบงำจิตใจทันที อาจถึงกับทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ @@@@@@ ปัญหา อุปสรรค ความพร่องข้องขัดหาได้เลวร้ายอย่างที่เรากลัวไม่ แท้จริงมันมีคุณประโยชน์นานัปการ นอกจากให้บทเรียนอันทรงคุณค่าแก่เราแล้ว มันยังฝึกใจให้เราอดทน เข้มแข็ง ตื่นตัว ไม่ประมาทหรือชะล่าใจ ความไม่แน่นอนที่ปรากฏจนทำให้รู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มั่นคงไร้หลักยึด ยังช่วยกะเทาะเปลือกแห่งอัตตาอันหนาทึบให้แตกออก ทำให้เราอ่อนน้อมต่อโลก ไม่คิดจะควบคุมโลกด้วยอหังการอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็ทำลายกรงขังแห่งอวิชชา ทำให้เห็นโลกและชีวิตตามความเป็นจริง คลายความยึดติดถือมั่น ช่วยให้เราเป็นอิสระมากขึ้น อยู่กับความพร่องข้องขัดได้อย่างไร้ทุกข์ @@@@@@ ใช่หรือไม่ว่า การบรรลุธรรมของพระอริยเจ้าเกิดขึ้นได้ก็เพราะเห็นสัจธรรมดังกล่าวอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีอะไรที่ยึดถือได้หรือน่ายึดถือเลย เมื่อปล่อยวางอย่างสิ้นเชิงจิตจึงหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเมื่อได้เผชิญกับปัญหา อุปสรรค ความพร่องข้องขัด ตลอดจนทุกอย่างที่หวาดกลัว ในที่สุดก็จะพบว่า สิ่งที่น่ากลัวกว่าอะไรทั้งหมด ก็คือความกลัวนั่นเอง ความกลัวทำให้สิ่งเหล่านั้นดูเลวร้ายกว่าความเป็นจริง ทำให้มันกลายเป็นผีที่คอยหลอกหลอนเราจนนอนฝันร้าย เราไม่สามารถเห็นความจริงข้อนี้ได้จนกว่าจะประสบพบเห็นด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราหวาดกลัวนั้นหาได้เลวร้ายอย่างที่เราคิดไม่ ความล้มเหลว ไม่ได้ทำให้เราทุกข์มากเท่ากับความกลัวว่าจะล้มเหลว รวมทั้งความรู้สึกลบทนไม่ได้ อยากผลักไสความล้มเหลวต่างหาก เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยและความตาย มันไม่สามารถทำร้ายจิตใจเราได้จนกว่าเราจะรู้สึกกลัวหรือต่อต้านผลักไสมัน @@@@@@ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ความพร่องข้องขัด ไม่ราบรื่นหรือยากลำบาก ไม่ว่าภายนอกหรือภายใน แต่อยู่ที่ความกลัวหรือรู้สึกลบต่อภาวะเหล่านี้ต่างหาก เมื่อใคร่ครวญต่อไปก็จะพบว่า ความกลัวนั้นสัมพันธ์กับความอยากหรือความปรารถนา ยิ่งอยากให้ชีวิตมีความมั่นคงราบรื่นมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความกลัวว่าชีวิตจะไม่มั่นคงราบรื่นมากเท่านั้น และหากพบว่าชีวิตไม่มั่นคงราบรื่น ใจก็จะต่อต้านผลักไสไม่ยอมรับ ซึ่งก็ยิ่งทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ รากเหง้าของความทุกข์ของคนเราจึงไม่ได้อยู่ที่ความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก แต่อยู่ที่ใจ เราเองที่มีความยึดมั่นให้ชีวิตและโลกมีความมั่นคงปลอดภัย ตราบใดที่ยังมีความยึดมั่นดังกล่าวอย่างหนาแน่น เราจะไม่มีความสุขหรือเป็นอิสระจากความกลัวเลย เพราะไม่ว่าจะพยายามเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่อาจหนีความพร่องข้องขัดและความไม่แน่นอนได้ เพราะนั่นคือธรรมดาโลกนี่คือความจริงที่เราต้องรู้จักและยอมรับ @@@@@@ พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า ความกลัวเป็นสิ่งเลวร้ายไปเสียหมด อันที่จริงมันมีประโยชน์ไม่น้อย ความกลัวทำให้เราเห็นถึงความไม่มั่นคงในจิตใจ เห็นถึงความอ่อนแอภายใน รวมทั้งตระหนักถึงความยึดติดถือมั่น ความปรารถนา และความหลง อันเป็นรากเหง้าของความกลัว การเห็นความกลัวที่เกิดขึ้นในใจจะช่วยให้ เรารู้จักตนเองในมิติที่ลึกขึ้น ความกลัวสามารถเผยสัจธรรมของใจให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน อันได้แก่ ความไม่เที่ยง ความบีบคั้น และความไม่ใช่ตัวตน ดังนั้นเราจึงไม่ควรปฏิเสธความกลัวหรือมองเห็นเป็นศัตรู แต่ควรพร้อมต้อนรับความกลัว แทนที่จะมองว่าเป็นศัตรูอันเลวร้าย ควรมองว่าเป็นครูที่สามารถสอนธรรมให้แก่เรา และช่วยให้เรารู้จักตนเองอย่างแท้จริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราควรเห็นความกลัวตามที่เป็นจริง เห็นทั้งโทษและคุณของมันรวมทั้งสามารถยกจิตเป็นอิสระจากมันได้ ตราบใดที่เราหลงตามมัน มันก็ก่อโทษแก่เราแต่ถ้าต้านมันหรือกดข่มมัน มันก็สามารถก่อกวนรังควานได้อีก @@@@@@ การรู้เท่าทันมันด้วยสติ ตลอดจนเห็นคุณและโทษของมันหรือธรรมชาติของมันตามจริงด้วยปัญญา จะช่วยให้เราพ้นจากอำนาจของมันอย่างแท้จริง ที่มาจากบทความ “ก้าวข้ามความกลัว” joyful life & peaceful death นิตยสาร Secret ปี 2557 ฉบับที่ 138 (26 มี.ค. 57) ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล Photo by Ian Froome on Unsplash ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/4166.html By Chernporn ,16 April 2018 |