หัวข้อ: เทคนิค สร้างภูมิคุ้มกันใจ ให้อยู่บนโลกออนไลน์โดยไม่ทุกข์ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 03, 2019, 05:55:22 am (https://goodlifeupdate.com/app/uploads/2017/06/mobile.jpg) เทคนิค สร้างภูมิคุ้มกันใจ ให้อยู่บนโลกออนไลน์โดยไม่ทุกข์ เชื่อว่าหลายคนใช้เวลามากกว่า 1 ใน 3 ของวัน ไปกับการนั่งเช็คหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ตอบไลน์ ไลค์ไอจี…แม้ว่า โลกโซเชียลจะทำให้เราเป็นคนทันข่าว ทันเหตุการณ์ และสามารถสร้างสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ แต่หากเมื่อไหร่การจมอยู่ในโลกออนไลน์ เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในโลกออฟไลน์ ย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ หากใครกำลังรู้สึกว่า ล็อกอินก็ทุกข์ ล็อกเอ๊าต์ก็อยู่ไม่เป็นสุข เรามี 4 เทคนิค สร้างภูมิคุ้มกันใจ ให้อยู่บนโลกออนไลน์โดยไม่ทุกข์มาฝากค่ะ @@@@@@ ปัญหาที่ 1 : หมกมุ่นจนเสียเวลาชีวิต หากคุณรู้ตัวว่า เมื่อไหร่ที่ได้หลุดเข้าไปในโลกโซเชียลแล้ว คุณก็จะจมอยู่ในโลกนั้นแบบยากที่จะดึงตัวเองกลับมา พอเงยหน้าอีกทีก็หมดวันไปเสียแล้ว งานการที่ตั้งใจทำก็ไม่เสร็จเป็นชิ้นเป็นอัน…นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณมีอาการเสพติดโซเชียลในระดับที่ต้องหาทางแก้ไขได้แล้ว ปัจจุบันมีหลายบริษัทใช้วิธีบล็อกไม่ให้พนักงานท่องโลกโซเชียล เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงานเสียการ แต่วิธีเหล่านี้ไม่จำเป็นเลย หากพนักงานทุกคนพก “สติ” ไปทำงานด้วย การตั้งสติก่อนคลิกทุกครั้งจะช่วยให้เราจัดการความคิด หักห้ามใจตัวเอง และปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากภายในได้ดีขึ้น ถ้าทำได้จิตจะไม่หลงเพลินไปกับความสนุกสนานจากการอ่านข้อความ หรือเล่นเกม รวมทั้งสามารถควบคุมจิตใจไม่ให้จิตตกหมกมุ่นไปกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบางทีอาจไม่มีสาระสำคัญกับชีวิตเราเลยแม้แต่น้อย @@@@@@ ปัญหาที่ 2 : “แชร์” ไว ลืมไปว่าต้อง “เช็ค” ทุกวันนี้มีการโพสต์ข่าวลือข่าวลวงอยู่ตลอดเวลา หลายคนยังไม่ทันจะเช็คข่าวให้ดี ก็รีบแชร์ออกไปให้ไวที่สุด บ้างก็เพื่อเรียกยอดไลค์ บ้างก็เพื่อความสะใจ แต่ไม่ว่าจะเพื่ออะไร การแชร์ข่าวลวงนั้นย่อมส่งร้ายต่อคนที่ตกเป็นข่าวแน่ ๆ เพราะคนส่วนใหญ่มักเชื่อข้อมูลแรกที่ได้ยินได้ฟังมา แม้จะมีการแก้ข่าวภายหลัง แต่ก็น่าเศร้า เพราะน้อยคนจะตามอ่านข่าวเดิมอีกครั้ง เพราะอย่างนี้ การอ่านโพสต์และแชร์ข้อมูลในโลกออนไลน์แต่ละครั้งจึงต้องรู้จักพิจารณาตีความสารต่าง ๆ อย่างเท่าทัน วิธีที่ดีที่สุดคือ การพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้หลัก “กาลามสูตร” (วิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ตนสงสัย หรือหลักความเชื่อ 10 ประการ) การพิจารณาข่าวสารหรือข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบทั้ง 10 ประการนั้นอาจดูเหมือนยุ่งยาก แต่รับรองว่าทำแล้วจะเกิดผลดีกับตัวคุณแน่นอนเพราะเพียงทำตามข้อแรก คือ “อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา” ก็สามารถป้องกันการตื่นตูมหรือใจเร็วด่วนแชร์ข้อมูลได้เห็น ๆ แล้ว @@@@@@ ปัญหาที่ 3 : เครียดกับความเห็นต่าง เชื่อว่า ต้องมีเพื่อนในเฟซบุ๊กคุณไม่มากก็น้อยที่มีแนวคิดด้านการเมือง ศาสนา หรือการใช้ชีวิตที่แตกต่างกับคุณ จนทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดใจ หลายคนเลือกตัดปัญหานี้ด้วยการลบหรือซ่อนเพื่อนไปเลยก็มี ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเก็บมาเครียดเลยสักนิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ อยากให้คุณฝึก “วิธีคิดแบบวิภัชชวาท” หรือการคิดแบบแยกประเด็นปัญหา ไม่มองปัญหาด้านเดียว การคิดแบบนี้จะช่วยให้คุณมองสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน จนเข้าใจว่า ทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีหลายมุม หลายด้าน ไม่ใช่มีแต่มุมที่คุณคิดเพียงอย่างเดียว และไม่ได้มีแค่ขาวกับดำเท่านั้น พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ เคยกล่าวไว้ว่า หนึ่งคนสองตาสามารถเห็นได้แค่สองมุม แต่ถ้าร้อยตาพันตาก็จะเห็นทั้ง 360 องศา @@@@@@ ปัญหาที่ 4 : สูญเสียความสัมพันธ์ เพราะปุ่มไลค์ คู่รักหลายคู่ทะเลาะกันเพราะแฟนไม่ยอมมาไลค์ข้อความของตัวเองบ้าง ไม่ยอมขึ้นสถานะว่าเป็นแฟนกันบ้าง หึงหวงเพราะแฟนไปกดไลค์ กดเลิฟให้สาว ๆ คนอื่นในเฟซบุ๊กบ้าง ที่เป็นอย่างนี้เพราะเรากำลังหลงผิดคิดว่าตัวตนในเฟซบุ๊กนั้นคือ “ตัวตนของเรา” เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าเคยสอนไว้ว่า “เรา” ไม่มีจริง ที่มีความรู้สึกว่า มีเรา ก็เพราะอาศัยความยึดมั่นสำคัญผิดที่จิตสร้างขึ้น ลำพังกายและใจของเรายังไม่อยู่ในอำนาจบังคับของเราจริง ๆ เลย แล้วจะพูดได้อย่างไรว่ามันคือเรา ฉะนั้นการบังคับหรือคาดหวังใครให้มาไลค์ มาเลิฟเรา จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย พระครูธรรมธร ดร.สาคร สุวทฺฒโน กล่าวไว้ว่า มีความคาดหวังมาก ย่อมทำให้ทุกข์มากเป็นธรรมดา ความทุกข์ จากการคาดหวังเรียกว่า“ทุกข์เพราะมโน” เราคิดไปก่อนแล้วว่าต้องเป็นที่ถูกใจ ต้องดี เมื่อไม่เป็นตามนั้นก็ผิดหวังเสียใจ ลองปล่อยวางมากขึ้นแล้วหันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับคนรอบตัวให้มากขึ้น จะพบว่าความสุขไม่ได้มีอยู่แค่ในโลกออนไลน์ “อย่าทุกข์ใจเพราะความมโนของเราเอง อย่าฝากความสุขไว้ที่การกดถูกใจจากใครบางคน” โลกออนไลน์สอนอะไรดีๆ ให้เราไม่รู้ตัวเลยใช่ไหมล่ะคะ ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/lifestyle/45500.html#cxrecs_s By Minou ,22 February 2018 |