หัวข้อ: นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ผมคิดว่า..พยายามจะไม่ตาย เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 03, 2019, 05:57:29 am (http://www.madchima.net/forum/gallery/30_03_04_19_5_41_24.jpeg) นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ผมคิดว่า..พยายามจะไม่ตาย ก่อนจะเข้าสาระในเรื่องอื่น ควรวินิจฉัยความในข้อ ๔ ในป้ายนี้เสียก่อน คำว่า "เอาแม่ครัว และคนล้างจานให้บอกทางวัดจะจัดให้" นั้น ถ้าท่านคิดว่า เราจะเลือกดูว่า แม่ครัว หรือคนล้างจาน คนไหนสวยหรือไม่สวย รูปร่างดีไม่ดี นั่นแสดงว่าตีความผิดแล้ว เจตนาทางวัดเขาเพียงจะบอกท่านว่า หน่วยงานของเขาเป็นมืออาชีพมีบริการคนทำอาหาร คนล้างจานแบบครบวงจร ทีนี้เข้าสาระแล้ว การปิ้งย่าง เผา ศพ อบในเตาไร้กลิ่น หรือแบบมีกลิ่นเหมือน หมูปิ้ง บาบีคิวย่างหอมอบอวลชวนน้ำลายไหลอยากกินศพ ก็ควรแยกออกจากวัดให้ชัดเจน การเผาศพไม่ใช่กิจของสงฆ์ อาศัยเหตุเพียงต้องการนิมนต์พระมาทำบุญเท่านั้น สถานที่เผาศพจึงไม่จำต้องตั้งอยู่ในบริเวณวัด ใช้ที่ใดๆก็ได้ แล้วนิมนต์พระไปทำบุญให้ผู้ตาย @@@@@@ ทางภาคเหนือมีรูปแบบแยกป่าช้าออกจากวัดมาแต่โบราณกาล สมัยลาออกจากราชการไปบวชผมเคยธุดงค์ไปตามป่าในทางภาคเหนือ จะปักกลดในป่าช้า บางแห่งบางคืนก็มีผีหัวหน้าป่าช้า เข้ามาหานิมนต์ให้ช่วยบังสุกุล มานิมนต์ตอนกลางคืน พอเวลาออกบิณฑบาตช่วงเช้าจะได้อาหารมาเต็มบาตร (เทียบกับวันก่อนๆ ซึ่งได้ไม่พอฉัน ผีก็ยังติดสินบนพระ เพื่อขอให้รับบังสุกุล) เป็นอันว่าเช้าวันนั้นอิ่มท้อง หลังกระทำการฉันเรียบร้อย ทั้งคณะมี ๔ องค์ เราก็สวดกุสลา ก่อนเก็บบาตรกลดออกธุดงค์ อิสระเที่ยวไปในป่าภาคเหนือต่อไป กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการ ในการจัดตั้งสุสานและฌาปนสถานสาธารณะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ ผ่านมาถึง ๗๔ ปี แต่น้อยแห่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทั้งๆที่เรื่องตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน เป็นเรื่องที่ต้องจัดบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของส่วนราชการ @@@@@@ ทุกวันนี้ วัดบางแห่งทำอาชีพเผาศพ เป็น "บริษัทรับจ้างเผาศพรับเงินทำบุญไม่จำกัด" ถ้าน้อยจัดจะมีเคือง เรื่องมันก็เลยต้องประกาศอัตราขั้นต่ำแบบนี้ อย่างข้อ ๕ ถ้าโยมทำป้ายแบบนี้หน้าบ้าน ตั้งราคาอาหารใส่บาตร แล้วบอกว่ารับไม่ได้ก็นิมนต์ไปบ้านอื่น ก็น่าจะดีเหมือนกัน คือ บริษัทรับเผาแบบนี้ เรียกว่าวัดแต่ไม่มีสาระของความเป็นวัดแต่อย่างใดเลย ลักษณะของวัดในครั้งพุทธกาลนั้น หมายถึง สถานที่เดินจงกรมนั่งสมาธิ เพราะคำขอบวชของพระคือกล่าวว่าขอบวช "เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง" เป็นสถานที่ที่ภิกษุขวนขวายอยู่แต่เพียงเรื่องที่จะทำพระนิพพานให้แจ้งเท่านั้น ตำแหน่งของพระในวัดซึ่งเป็นมืออาชีพด้านการเผา ถ้าเทียบตำแหน่งข้าราชการก็น่าจะใช้ชื่อว่า "นักบริหารจัดการเผาศพมนุษย์ระดับชำนาญการ" (ซี ๗) และก็มีเงินประจำตำแหน่งจริงๆด้วย มีกิจของสงฆ์อันน่าเลื่อมใส คือ จัดการเผาศพมนุษย์และชำนาญการสวดกุสลา @@@@@@ ถ้าเป็น "พระระดับชำนาญการพิเศษ" (ซี ๘) ก็ประมาณว่า จะสวดได้ทุกเวอชั่น ลีลาการสวดมีทั้งแบบพักครึ่งแรก โดยท่านจะฟังเสียงฝาหม้อจานชามกระทบกันดังมาจากในครัว แทนเสียงสัญญาณนกหวีดพักครึ่ง เพื่อให้โยมกินกระเพาะปลาและถั่วเขียวต้มน้ำตาล และพระนั่งมองแอบกลืนน้ำลาย ซึ่งมันจะเป็นปัญหาในตอนเริ่มเตะ เอ้ย เริ่มสวดครึ่งหลังนี่แหละ ซึ่งไม่มีสัญญาณนกหวีดเรียกลงสนาม จู่ๆท่านเริ่มสวดต่อเลย บางทีกระเพาะปลา ถั่วเขียวต้มยังคาในปากและยังเหลืออยู่อีกครึ่งถ้วย กำลังอร่อยแต่จะต้องรีบพนมมือไหว้ ซึ่งเราก็ทำเป็นเนียนว่าเอาจานไปเก็บเพื่อจะมาฟังสวดต่อ และเราก็หายไปนานแอบกินจนเกลี้ยง เพราะถ้าเหลืออยู่เราเกรงใจคนล้างจาน นอกจากนั้นยังมีแบบสวดไม่พักครึ่ง เป็นม้วนเดียวจบ สันนิษฐานว่า คืนนั้นมีหลายศพอาจต้องวิ่งจีวรปลิวไปสวดอีกศาลาหนึ่ง ซึ่งก็เป็นความชำนาญการพิเศษในการบริหารจัดการนั่นเอง บรรณ แก้วฉ่ำ ๒ เมษายน ๒๕๖๒ ขอบคุณบทความจาก เฟซบุ๊ค บรรณ แก้วฉ่ำ https://www.facebook.com/ariyamuck/posts/1238931742935984 (https://www.facebook.com/ariyamuck/posts/1238931742935984) |