หัวข้อ: ใครเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก.? ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 20, 2019, 06:23:20 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/04/Rama9-696x388.jpg) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพาเป็นปฐม นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายน้ำอภิเษก (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงวัฒนธรรม 2560)ใครเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก.? ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 นี้ ประกอบด้วยพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก, พิธีถวายน้ำอภิเษก, พิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ฯลฯ สำหรับ “น้ำ” ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญนี้ได้แก่ น้ำจากสระ 4 แห่งที่เมืองสุพรรณบุรี คือ ระเกษ, สรแก้ว, สระคา และสระยมนา ซึ่งในพราราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชาธิบายว่า “…เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัย…” ภายหลังมีการเพิ่มเติมน้ำจากแหล่งต่างๆ ตามแต่ละรัชกาล ดังเช่น @@@@@@ สมัยรัชกาลที่ 1-4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สายที่สมมติว่าคือ “เบญจสุทธิคงคา” ดังนี้ แม่น้ำบางปะกง บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสาคร, แม่น้ำเพชรบุรี ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี ถึงรัชกาลที่ 5 นอกจากใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากแหล่งน้ำดังที่กล่าวมาเพื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 และเมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2416 มีการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดียได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ที่ได้จากการเสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2415 นำมาเจือในน้ำที่ใช้สรงพระมุรธาภิเษก ฯลฯ @@@@@@ เช่นเดียวกับผู้ถวายน้ำอภิเษกที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละรัชกาล การรับน้ำอภิเษกครั้งรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 พราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก รวมทั้งน้ำพระมหาสังข์ และน้ำเทพมนต์ ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ทรงให้ราชบัณฑิตเข้ามาเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษกเป็นครั้งแรก พราหมณ์พิธีถวายน้ำพระมหาสังข์ พราหมณ์พฤติบาศถวายน้ำเทพมนต์ โดยผู้ถวายน้ำได้แก่ 1. กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติวงศ์ 2. พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ 3. สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ 4. พระวรวงศ์เธอ กรมขุนรามอิศเรศ 5. พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศร 6. พระเจ้าพี่นางเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ 7. เจ้าพระยาคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม 8. พระยาศรีพัฒนราชโกษา และพราหมณ์ถวายน้ำสังข์อีก 7 คน 1. หลวงศรีสิทธิชัยหมอเฒ่า 2. พระมหาราชครูพิธี 3. พระครูอัษฎาจารย์ 4. หลวงจักรปาณี 5. หลวงราชมุนี 6. หลวงศิวาจารย์ 7. หลวงเทพาจารย์ @@@@@@ ถึงรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ตัดทอนจำนวนผู้ถวายน้ำให้น้อยลง หากการก็ไม่ได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ดังที่พระองค์ทรงบันทึกไว้ในประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า “…เมื่อครั้งบรมราชาภิเษกทูลกระหม่อมปู่ก็ดี, ครั้งทูลกระหม่อมก็ดี, ผู้ถวายน้ำเคยมีแต่พระที่เป็นผู้ทรงเคารพนับถือ, เจ้านายฝ่ายน่า, และขุนนางผู้ใหญ่บางคนเท่านั้น หาได้มีฝ่ายในถวายด้วยไม่, แต่ครั้งเมื่อทูลกระหม่อมทรงทําพระราชพิธีรัชดาภิเษก, ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝ่ายในถวายน้ำด้วย ครั้นปรึกษากันในพวกท่านเจ้านายผู้ใหญ่เมื่อก่อนที่จะมีงานหน่อยหนึ่ง, ฟังๆ เสียงดูเห็นออกกล่าวกันอยู่โดยมากว่าทูลกระหม่อมได้ทรงทําการพระราชพิธีรัชดาภิเษกขึ้นไว้เพื่อให้เป็นแบบแผนสําหรับจัดการพิธีราชาภิเษกต่อไป, แต่ฉันเองไม่ใคร่จะพอใจเชื่อเช่นนั้น, และเห็น ว่าการถวายน้ำกันมากเช่นนั้นดูเป็นการฟันเฟือนัก, ครั้นว่าจะบอกว่าให้งดฝ่ายในถวายน้ำเสียที่เดียวก็ดูจะกลายเป็นรังเกียจเสด็จแม่ไปด้วย ซึ่งตามความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย. ฉันจึงได้ตกลงตัดทอนจํานวนผู้ถวายน้ำให้น้อยลง, คือ - พระ 2, คือกรมหลวงวชิรญาณ (อุปัชฌาย์) กับพระองค์เจ้าพระสถาพร (กรรมวาจาจารย์), - ฝ่ายใน 2, คือเสด็จแม่ กับสมเด็จป้า, - ฝ่ายน่า, ทูลกระหม่อมอา (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์, กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช) แทนเจ้านาย, กับเสด็จลุงแทนเสนาบดี @@@@@@ ฝ่ายเสด็จลุงเมื่อได้ทรงทราบว่าฉันกะเช่นนั้น ก็ให้เกิดวิตกขึ้นมาว่าจะมีผู้นินทาได้ว่าเลือกเฉพาะแต่พระญาติที่สนิท เท่านั้น จึงขอให้ฉันเพิ่มพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี กับพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เข้าไปด้วยอีก 2 พระองค์, และส่วน ฝ่ายน่าดูเหมือนจะต้องการให้เพิ่มกรมหลวงนเรศร์เข้าไปด้วยอีกองค์ 1 ความอันนี้ทราบไปถึงกรมหลวงวชิรญาณ (โดยกรมนเรศร์ นําไปทูล) เลยกลายเป็นทรงขอเพิ่มจํานวนขึ้นอีก, และกะมาเสร็จว่าผู้ใดถวายน้ำในตําแหน่งอะไรบ้าง ตามที่กรมหลวงวชิรญาณทรงกะตัว มานั้นดังต่อไปนี้ - พระภิกษุ 4 กรมหลวงวชิรญาณวโรรส, อุปัชฌาย์, พระองค์เจ้า พระสถาพรพิริยพรต, กรรมวาจาจารย์, สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์ วัดอรุณราชวราราม), สําหรับคณมหานิกาย พระพิมลธรรม (ยัง วัดโสมนัสวิหาร) สําหรับคณธรรมยุติ - ฝ่ายใน 7 เสด็จแม่, สมเด็จป้า, พระนางเจ้าสุขุมาล, ทั้ง 3 องค์ นี้ “ยกเป็นที่นับถือ” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน, สําหรับเจ้านายรัชกาลที่ 2, พระอัครชายา, สําหรับเจ้านายรัชกาลที่ 3 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์สิริเชฐ, สําหรับเจ้านายรัชกาล ที่ 4, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร, สําหรับเจ้านายรัชกาลที่ 5. - ฝ่ายน่า 4 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธวงศ์วรเดช, “ยกเป็นที่นับถือ, กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์, สําหรับเจ้านายรัชกาลที่ 4, กรมหลวงเทววงศ์วโรประการ, สําหรับเสนาบดี, พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นจันทบุรีนฤนาถ, สําหรับเจ้านายรัชกาลที่ 5.” @@@@@@ ถึงรัชกาลที่ 9 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับ ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา(ทิศตะวันออก) เป็นปฐม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำทิศทั้ง 8 ถวายน้ำอภิเษก(เดิมคือราชบัณฑิต และพราหมณ์ถวาย)เป็นนัยแสดงถึง “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ส่วนการถวายน้ำพระมหาสังข์และน้ำเทพมนต์ คงเป็นพราหมณ์ เช่นเดิม ขอบคุณข้อมูลจาก :- ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กรมศิลปากรจัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ธันวาคม 2530 ดร.นนทพร อยู่มั่งมี, ผศ.ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, เสวยราชสมบัติกษัตรา. สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2562 ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 , สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2545 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2560 https://www.silpa-mag.com/history/article_31472 (https://www.silpa-mag.com/history/article_31472) เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2562 |