หัวข้อ: ‘ภิกษุณีรูปแรก’ ในพระพุทธศาสนา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ สิงหาคม 11, 2019, 06:37:27 am :25: :25: :25: สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (17) : ภิกษุณีรูปแรก ในช่วงต้นๆ ไม่มีภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นหลังจากพระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช เพราะฉะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีจึงเป็นภิกษุณีสงฆ์รูปแรก เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จนิวัติกรุงกบิลพัสดุ์ (ครั้งที่เท่าไร ลืมตรวจสอบ) รู้แต่ว่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ อาทิ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ได้ออกบวชเป็นสาวกพระพุทธองค์แล้วช่วงนั้นมีวัดพระเชตวันในเมืองสาวัตถีแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมี อยากบวชเหมือนเจ้าชายทั้งหลายบ้าง แต่ถูกพระองค์ปฏิเสธ เมื่อพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์เสด็จกลับจากนครกบิลพัสดุ์ ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมี พร้อมเหล่าสากิยานีจำนวนมากปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่า มุ่งหน้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทูลขออุปสมบท @@@@@@ พระนางแจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์นำความกราบทูลพระองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธว่า อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรี อย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย ในที่สุดพระอานนท์กราบทูลถามว่า บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า ในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ พระอานนท์กราบทูลถามว่า ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช สตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้ @@@@@@ พระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ แต่ก็ทรงวางกฎเหล็กอันเรียกว่า “ครุธรรม 8 ประการ” ไว้ว่า ถ้าปชาบดีโคตมีสามารถปฏิบัติครุธรรม 8 ประการนี้ได้ พระองค์ก็ทรงยินดีประทานอุปสมบทให้ เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางก็ยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ครุธรรม 8 ประการนั้นคือ 1. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา 100 ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น 2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้ 3. ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ 4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย 5. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย (คือลงโทษกักบริเวณตัวเอง ตามกรรมวิธีของสงฆ์) 6. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย 7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ 8. ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้ (https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2019/08/ขอบคุณภาพจาก-Page-วัดท่าไม้-จังหวัดสมุทรสาคร-696x507.jpg) ขอบคุณภาพจาก Page วัดท่าไม้ จังหวัดสมุทรสาคร ฟังดูแล้วเป็นกฎเหล็กจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ คงเพราะพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้สตรีบวช ทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี ความซับซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของสตรี ที่สำคัญที่สุดทรงเกรงว่า ถ้าอยู่ใกล้ชิดกันมาก จะมีปัญหาในหมู่ภิกษุและภิกษุณี เพราะ “พรหมจรรย์” จะต้องเว้นขาดจากความเกี่ยวข้องทางกามารมณ์ พระภิกษุและภิกษุณีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้ พระพุทธองค์ตรัสว่า สำหรับบุรุษ สตรีเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ และสำหรับสตรี บุรุษก็เป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์เช่นเดียวกัน เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมียืนยันจะบวชให้ได้ และยินดีปฏิบัติตามกฎเหล็กทั้ง 8 ประการอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช การบวชของพระนางสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม 8 ประการ พูดง่ายๆ ทันทีที่พระนางรับปากปฏิบัติครุธรรมอย่างเคร่งครัดก็เป็นภิกษุแล้ว การบวชของพระนางเรียกว่าบวชด้วยการรับครุธรรม (ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา) @@@@@@ เมื่อพระนางได้บวชแล้ว พระนางกราบทูลถามว่า แล้วจะให้ทำอย่างไรกับสตรีที่ตามพระนางมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ให้ภิกษุสงฆ์จัดการบวชให้เสีย การบวชสตรีบริวารของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว (เพราะตอนนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์) มีเรื่องเล่าต่อมา เมื่อสตรีเหล่านี้ได้รับการบวชจากภิกษุสงฆ์ตามพุทธบัญชาแล้ว พวกเธอจึงสำคัญว่าพวกตนเป็นภิกษุณีแท้ แต่พระนางมหาปชาบดีโคตมีมิใช่ภิกษุณีเพราะมิได้ผ่านการอุปสมบทเหมือนพวกตน ความทราบถึงพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่า ก็การรับครุธรรม 8 ประการนั้นแหละเป็นการอุปสมบทของมหาปชาบดีโคตมี หลังอุปสมบทแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีรับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงเคารพในพระพุทธองค์มาก ถึงกับกล่าวว่า รูปกายของพระพุทธองค์ นางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็น “มารดา” ของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ @@@@@@ พูดภาษาสามัญก็ว่า ในทางโลก พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็น “แม่” ของพระพุทธเจ้า แต่ในทางธรรม พระพุทธองค์เป็น “พ่อ” ของพระนาง เท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่ “ธรรมกาย ธรรมเกิน” ดังที่บางพวกบางเหล่าพยายามจะลากความไปเพื่อสนองตัณหาของพวกตน พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลกันว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” คงมิได้หมายความว่า ผู้แก่เฒ่าเพราะอยู่นานดอกนะครับ ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึง “ผู้มีประสบการณ์มาก”มากกว่า ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2562 คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2562 ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_218163 (https://www.matichonweekly.com/column/article_218163) |