หัวข้อ: ธรรมทาน 3 ระดับ โดย พุทธทาสภิกขุ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 30, 2019, 05:43:43 am (http://www.madchima.net/forum/gallery/30_30_11_19_7_58_07.jpeg) ธรรมทาน 3 ระดับ โดย พุทธทาสภิกขุ ธรรมทานระดับที่ ๑. ความรู้พื้นฐาน ระดับที่ ๑.ให้ความรู้พื้นฐานเบื้องต้นทั่วๆไป เป็นทาน หมายถึง ความรู้สามัญขั้นพื้นฐาน ให้ความรู้แม้แต่เรื่องเรียน ก. ข. ก. กา. เรียนหนังสือหนังหาเบื้องต้น นี้ก็สงเคราะห์เข้าในธรรมทาน ฉะนั้นครูบาอาจารย์ทั่วไป ก็อยู่ในฐานะเป็นผู้ให้ธรรมทานทั้งนั้น แม้แต่พ่อแม่อุตส่าห์สอนลูกสอนหลานให้รู้ประสีประสา นี้ก็เป็นธรรมทาน หรือมากไปกว่านั้นอีก สอนให้มันกินข้าวเป็น สอนให้มันอาบน้ำเป็น สอนให้มันรู้จักรักความดี อย่างนี้ก็เป็นธรรมทาน พ่อแม่สอนลูกเล็กๆ ให้รู้สิ่งที่ควรรู้อย่างพื้นฐาน นี้ก็เรียกว่าธรรมทานแม้สอนหนังสือหนังหา สอนวิชาอาชีพ นี้ก็เรียกว่าธรรมทาน ถึงแม้จะเป็นชั้นต่ำชั้นต้น แต่มันก็เป็นชั้นพื้นฐาน ถ้าไม่มีชั้นพื้นฐานแล้ว ชั้นต่อไปมันก็มีไม่ได้ ฉะนั้นเราจะต้องสนใจ โดยตรงก็สอนไป โดยอ้อมก็ช่วยให้มันสำเร็จ เช่นช่วยสร้างโรงเรียน ช่วยสร้างอุปกรณ์การศึกษาอะไรต่างๆ นี้ก็เป้นการให้ธรรมทานโดยอ้อม เช่นเราให้กระดานดำ ให้อะไรเหล่านี้ เราไม่เรียกว่า วัตถุทาน เราเรียกว่า ธรรมทานโดยอ้อม อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่การที่ทำให้เกิดวิชาความรู้นี้ เราเรียกว่า ธรรมทานโดยอ้อมธรรมทานโดยตรง ก็พูดไปตรงๆ ในเรื่องที่จะต้องพูดนั้น อย่างต่ำก็คือว่าความรู้พื้นฐานการให้ธรรมทานในระดับที่ ๑ ก็จบเพียงเท่านี้ @@@@@@ ธรรมทานระดับที่ ๒. อภัยทาน ทีนี้ก็มาถึงทานอย่างที่สอง เรียกว่า อภัยทาน แม้สิ่งที่เรียกว่า “อภัยทาน” นี้ ก็ต้องมีปฏิคาหก มีผู้รับเหมือนกัน อภัยทาน หมายถึง ให้อภัย คำว่า อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว ให้อภัย คือเราให้ความไม่ต้องกลัวแก่บุคคลนั้น แปลว่า บุคคลนั้นไม่ต้องกลัวเรา นี่คือให้อภัย ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่า นี้มันไม่ใช่ให้ทาน นี่มันไม่รู้ เขาพูดไปทั้งที่ไม่รู้การให้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน แต่เขาเรียกว่า “อภัยทาน” เป็นสิ่งที่ให้กันได้ ให้ได้ทั้งทางกาย ให้ได้ทั้งทางวาจา ให้ได้ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย เขามาขอขมาขออภัยเราก็รับ ทางวาจา บอกอโหสิกรรม ทางจิตใจ เราก็สลัดความโกรธ ความอาฆาตจองเวรอย่างนี้ก็เรียกว่า “อภัยทาน” ทั้งนั้นมีได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทีนี้แยกประเภทให้เห็นชัดว่าอภัยทานนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ อย่าง - อภัยทานอย่างแรก คือ การให้อภัยโทษ ให้ขมาโทษ คือยอมรับการขมาโทษ เรียกว่า ให้อภัยโทษ รับการขอขมานี่ เข้าใจกันดีแล้วไม่ต้องอธิบายก็ได้ - อย่างที่สอง เราไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใครนั่นแหละ คือให้อภัยทานเหมือนกัน เราจงเป็นอยู่อย่างไม่เบียดเบียน อย่างไม่ประทุษร้ายใคร ที่เขาเรียกกันว่า “ศีล” ศีล นั่นแหละคือ อภัยทาน เราไม่ประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หรือแก่น้ำใจ ไม่เบียดเบียนเนื้อตัวของเขา ไม่เบียดเบียนจิตใจของเขา ไม่ทำลายชีวิตของเขาทุกระดับ นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมา จนถึงมนุษย์ จนกระทั่งเทวดา หรือพรหมอะไร ถ้ามันจะมี แปลว่าสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เราไม่เบียดเบียนให้เขารู้สึกกระทบกระทั่งเป็นทุกข์นี้เรียกว่า ให้ความไม่เบียดเบียน ความไม่ประทุษร้าย - อย่างที่สาม แผ่เมตตาจิตอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจเข้าออก นี้ก็คือ อภัยทาน นึกดูแล้วก็น่ารวย ในข้อที่ว่าอภัยทานนี้ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์หนึ่งก็ได้ ต้องเสียหลายแสนนะ แต่ว่าทำอภัยทานนี้ ไม่ต้องให้สตางค์สักสตางค์หนึ่งก็ทำได้ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย อนึ่ง ขอให้รู้ไว้ว่า อภัยทานนี่มันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้นไปอีก คนถือตัว ใครมาขอขมาก็ไม่ยอมให้ แถมทำผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เรื่อย ไม่รักผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น นี่เรียกว่า ไม่มีอภัยทาน ขอให้ตัดสินใจแน่ลงไปว่า เรานี้ตั้งแต่วันนี้ไป จะสะสางเรื่องอภัยทานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับวัตถุทานก็ทำมามากแล้ว แต่เรื่องอภัยทานนี้ดูยังโหรงเหรง นี่ขอให้ไปชำระสะสาง คือทำให้มันมีขึ้น ให้มันครบถ้วน ให้มันถูกต้องว่า ๑. ให้อภัยโทษ ยอมรับขมา ๒. ไม่เบียดเบียน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประทุษร้ายใครหมด ๓. อยู่ด้วยจิตที่แผ่เมตตา ทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอภัยทาน เป็นทานอย่างที่สอง @@@@@@ ธรรมทานระดับที่ ๓. ธรรมทาน ทานอย่างที่ ๓ เรียกว่า “ธรรมทาน” นี้คือให้ธรรมะเป็นทาน คำว่า “ธรรม” ในที่นี้ หมายถึงความรู้ที่เขารู้ แล้วเขาจะพ้นทุกข์ได้ เรียกว่า “ธรรม” ในที่นี้แล้ว “ทาน” ก็คือ การให้ทานที่ ๓ นี้ต้องมีปฏิคาหก คือ ผู้รับอีกเหมือนกัน ธรรมทานนี้ไม่ค่อยเป็นไปเพื่อเรื่องของวิชา ความรู้ของปัญญาไม่ลุ่มหลงง่ายเหมือนวัตถุทาน ธรรมทานนี้มีได้เป็น ๒ อย่าง คือ โดยตรง และโดยอ้อม - โดยตรงเช่น อาตมากำลังพูดเรื่องที่มีประโยชน์ให้ท่านทั้งหลายฟัง อย่างนี้ก็เรียกว่า ให้ธรรมทานโดยตรง ส่วนชนิดที่เป็นไปโดย - อ้อมนั้นก็คือว่า ผู้ที่ช่วยสนับสนุนให้เป็นได้อย่างนี้ เช่นอาตมาต้องการจะพิมพ์หนังสือให้มัน แพร่หลายอย่างนี้ มีเยอะแยะหลายคนช่วยจัดพิมพ์ นี่เขาก็เป็นผู้ให้ธรรมทานโดยอ้อม ในเมื่อ อาตมาเป็นผู้ให้ธรรมทานโดยตรงธรรมทานมีได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แล้วก็ต้องมีผู้รับ ทานจึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าให้ไปแล้วไม่มีใครรับ มันก็เป็นหมันเหมือนกัน จะพิมพ์หนังสือ แต่ถ้าไม่มีใครอ่าน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร หรือเทศน์ให้เท่าไรๆถ้าไม่มีใครฟัง มันก็ไม่มี ประโยชน์อะไร นี้เรียกว่า ต้องมีปฏิคาหก @@@@@@ สรุปธรรมทาน เพื่อง่ายต่อการจดจำ ท่านพุทธทาสได้ขมวดเรื่องเกี่ยวกับธรรมทาน ไว้สั้นๆ ดังนี้ - ให้ความรู้พื้นฐาน ก. ข. ก. กา. ให้มันรู้จักกินรู้จักนอน รู้จักอะไร ก็เรียกว่า ธรรมทานขั้นต้น - ทีนี้ให้แสงสว่างแก่จิตใจ ให้ทางเดินชีวิตที่ถูกต้อง ให้ชีวิตเดินถูกทาง อย่างนี้ก็เรียกว่า ธรรมทานแท้ - ทีนี้ให้ผลของความสงบเย็นเลย ที่นี่และเดี๋ยวนี้เลย ก็เรียกว่า ให้นิพพานเป็นทาน รวมทั้ง ๓ ประการนี้เรียกว่าธรรมทานทั้งนั้น" จากนั้น ท่านพุทธทาสได้เน้นอีกว่า "จงพยายามให้มีการให้ธรรมทานให้มาก เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ ในบรรดาทานทั้งหลายนั้น ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งหลายทั้งปวง นี่พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญธรรมทาน ว่าชนะทาน ทั้งปวง" นี้หมายความว่า ท่านหมายถึง ทานประเภทที่มีผู้รับทีนี้ในบรรดาทานที่มีผู้รับกันแล้ว ธรรมทานสูงกว่าทานไหนๆหมด จนชนะเลยจะเป็นวัตถุทาน ให้สิ่งของก็ดีจะเป็นอภัยทาน ให้อภัยก็ดี จะเป็นธรรรมทาน การให้ความรู้ก็ดีใน ๓ อย่างนี้ ธรรมทาน การให้ความรู้นี้ชนะ แต่ต้องเป็นความรู้จริง และดับทุกข์ได้ นี้เป็นอันว่า ทาน ๓ อย่างนี้ ชี้แจงหมดไปแล้ว ในบรรดาทานที่ต้องมีผู้รับ" สัปดาห์หน้า ท่านพุทธทาสจะพูดถึงทานพิเศษชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นทานที่ไม่ต้องมีผู้รับ ทานที่ว่านั้นก็คือ สุญญตาทาน ส่วนเนื้อหาจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามกัน ที่มา : http://www.dhammathai.org/store/giving/giving01.php (http://www.dhammathai.org/store/giving/giving01.php) ที่มา : http://www.dhammathai.org/store/giving/giving02.php (http://www.dhammathai.org/store/giving/giving02.php) ที่มา : http://www.dhammathai.org/store/giving/giving09.php (http://www.dhammathai.org/store/giving/giving09.php) ที่มา : http://www.dhammathai.org/store/giving/giving10.php (http://www.dhammathai.org/store/giving/giving10.php) Webmaster 5 มี.ค. 2562 |