สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 07, 2019, 05:35:24 am



หัวข้อ: คุณสมบัติของผู้ที่บวช 5 ประการ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 07, 2019, 05:35:24 am


(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2019/12/000_NB560-696x464.jpg)


คุณสมบัติของผู้ที่บวช 5 ประการ

ในประเทศไทยตอนนี้ คงเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ผู้หญิงไทยออกบวชกันมากขึ้น แม้สำนักงานพุทธศาสนาจะเคยหน้าแตกไปแล้วในการตอบคำถามสื่อที่มาจากต่างประเทศในรายการสารคดีครั้งหนึ่งว่าประเทศไทยไม่มีภิกษุณี แต่ช็อตต่อมารายการนั้นก็สัมภาษณ์ภิกษุณีไทย ทำให้ผู้ที่ชมรายการตั้งคำถามว่า อ้าว เมื่อกี้เจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่งบอกว่าไม่มีภิกษุณี ทีนี้เราก็มาให้ความสนใจกับภิกษุณีที่บวชกลับมาว่า ท่านบวชมาถูกต้องหรือไม่

มีหลักพิจารณาง่ายๆ ที่ใช้เป็นมาตรฐาน หรือเครื่องมือตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ คือพิจารณาจากสมบัติ 4 ที่ปรากฏในหนังสือคู่มืออุปัชฌาย์ที่พระท่านใช้อยู่ทั่วๆ ไป ในคู่มืออุปัชฌาย์กล่าวถึง สมบัติ 4 แต่ในการศึกษาลงไปในรายละเอียด พบว่า ในคัมภีร์ชั้นฎีกาอธิบายไว้ถึง 5 อย่าง

ขออธิบายนิดหนึ่งก่อนค่ะ องค์ความรู้ในพุทธศาสนานั้นเราอาศัยพระไตรปิฎกเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ต้องมีการอธิบายเพิ่มเติม ความต้องการเช่นนี้ เมื่อปรากฏขึ้น บรรดาพระภิกษุที่เป็นอาจารย์ในอดีตท่านก็เขียนตำราอธิบายเพิ่มเติม

เมื่อพุทธโฆษาจารย์ พระภิกษุชาวอินเดียเดินทางไปศรีลังกานั้น ท่านใช้เวลาอยู่นานที่จะศึกษาภาษาสิงหลที่เป็นภาษาที่ใช้กันในหมู่ชาวศรีลังกาที่นับถือพุทธศาสนา จนมีความชำนาญ แล้วท่านได้รับมอบหมายให้เขียนพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี คำอธิบายเล่มแรกที่ท่านพุทธโฆษาจารย์เขียนเป็นคำอธิบายพระวินัยค่ะ ที่เรารู้จักกันในนามของสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ชั้นอรรถกถา

ส่วนที่ผู้เขียนนำเสนอวันนี้ มาจากคัมภีร์ที่เป็นคำอธิบายอรรถกถาอีกทีหนึ่งเรียกว่า ฎีกา มีชื่อว่า กังขาวิตรณีอภินวฎีกา เขียนโดยพระภิกษุระดับอาจารย์ชื่อท่านพุทธนาคะ ใน พ.ศ.1600 เศษ ในฎีกาเล่มนี้เองที่ผู้เขียนพบว่า ท่านอธิบายคุณสมบัติของการบวชไว้ละเอียดมาก

@@@@@@

คุณสมบัติหลักๆ 4 ประการนั้น ข้อแรกเรียกว่า วัตถุสมบัติ หมายถึง คุณสมบัติของตัวผู้ขอบวชอายุครบ 20 หรือไม่ มีอัฏฐบริขารพร้อมหรือไม่ (จีวร บาตร ฯลฯ) เป็นมนุษย์หรือเปล่า

ที่ต้องถามให้ชัดเจนเพราะมีเรื่องในสมัยพุทธกาลว่า มีนาคปลอมมาบวช ถ้าบวชเป็นภิกษุ ก็ต้องเป็นผู้ชายจริง มีสภาพทางกายที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นชาย เป็นบัณเฑาะว์ ลักเพศ บวชไม่ได้ ลงไปในรายละเอียดว่า ห้ามคนมีสองเพศ ประมาณว่า ข้างขึ้นเป็นเพศหนึ่ง ข้างแรมเป็นอีกเพศหนึ่ง หรือมีอวัยวะทั้งสองเพศปรากฏพร้อมกัน

แต่ประเภทกายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิงนั้น เคยถามพระภิกษุที่เป็นนักศึกษาในชั้นเรียนสมัยที่ผู้เขียนยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอุปัชฌาย์ ท่านเล่าว่า มีกรณีที่เข้ามาบวชแล้วเข้าไปป่วนในหมู่ภิกษุหนุ่มๆ สร้างความเดือดร้อนให้คณะสงฆ์ อุปัชฌาย์ก็อาจจะพิจารณาไม่ให้บวชได้

ต้องไม่เป็นผู้ที่ทำกรรมหนัก นับตั้งแต่ มาตุฆาต ปิตุฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ทำอันตรายต่อพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต และไม่ทำให้สงฆ์แตกกัน ผู้ที่ทำกรรมหนักเช่นนี้ ย่อมไปสู่นรกภูมิ

@@@@@@

ข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ ต้องไม่ประทุษร้ายต่อภิกษุณี เรายังจำเรื่องราวของสามเณรที่ข่มขืนนางภิกษุณีได้ บุคคลเช่นนี้ จะขาดคุณสมบัติข้อนี้ และกลับเข้ามาบวชไม่ได้

ที่ผู้อ่านอาจจะไม่ทราบ คือ แม้สูงเกินไป หรือเตี้ยเกินไป ก็ไม่ให้บวชค่ะ เพราะการออกบวชเป็นพระภิกษุหรือภิกษุณีนั้น เท่ากับเป็นหน้าเป็นตา เป็นตัวแทนของพระศาสนา เมื่อปรากฏตัวในที่สาธารณะอาจจะไม่เหมาะสม

ท่านผู้อ่านที่สูงอายุหน่อย อาจจะจำเรื่องนางสาวพรหมาได้ เธอสูงถึง 2 เมตร ตอนตายนั้น ต้องตัดศพเป็นสองท่อนเพราะเอาลงโลงไม่ได้ ในกรณีที่เตี้ยเกินนั้นมีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกว่า เวลาไปในละแวกบ้าน ฆราวาสมาลูบหัวด้วยความเอ็นดู เป็นสภาพที่ไม่เหมาะแก่การเป็นพระภิกษุ

ในคุณสมบัติข้อถัดมา คือ ปริสาสมบัติ คือคุณสมบัติในฝ่ายของผู้ให้บวช พระภิกษุที่เป็นผู้บวชให้นั้น ต้องมีพรรษาครบ 10 ในประเทศไทย ต้องได้รับการแต่งตั้ง อุปัชฌาย์ต้องทรงไว้ซึ่งธรรมวินัย และต้องมีความรู้ทางธรรมวินัยที่จะสอนคนอื่นได้ ต้องประกอบด้วยองค์สงฆ์อย่างน้อย 5 รูปในถิ่นทุรกันดาร หากเป็นมัชฌิมประเทศ ต้องมี 10 รูป แต่ที่เห็น บางครั้งท่านก็นิมนต์พระทั้งหมดวัดเลยก็มี ไม่ว่าจะเป็น 20-30 รูป

เวลาที่จะทำสังฆกรรมเช่นการอุปสมบทนี้ พระที่เข้าร่วมที่เรียกว่าพระอันดับนั้น ต้องปลงอาบัติเสียก่อน เพื่อเข้าสู่สงฆ์ที่บริสุทธิ์ เพื่อให้สังฆกรรมนั้นสมบูรณ์

@@@@@@

คุณสมบัติข้อที่สาม คือ กรรมวาจาสมบัติ คือการสวดถูกต้องออกเสียงพยัญชนะและสระถูกต้องตามพระบาลี ข้อนี้เองที่ในฎีกานี้แยกออกไปเป็นสองข้อ คือ การสวดญัตติ และการสวดประกาศ จะต้องระบุชื่อของผู้เป็นอุปัชฌาย์ และผู้ขอบวช ไม่ใช่ชื่อสมมุติ ในศรีลังกายังสวดว่า ติสสะ ซึ่งเป็นชื่อสมมุติของอุปัชฌาย์ และใช้ชื่อสมมุติเรียกผู้ขอบวชว่า นาคิณี เช่นนี้ไม่ถูกต้องตามคำอธิบายของฎีกาเล่มนี้

ท่านธัมมนันทาเอง ต้องกราบเรียนพระกรรมวาจาจารย์ล่วงหน้า และเขียนฉายาของผู้ขอบวชแต่ละกลุ่มขึ้นไปให้ท่าน ในการอุปสมบทนั้น ทำได้เพียงครั้งละ 3 รูป การบวชเป็นสังฆกรรมที่สงฆ์ทำ เพราะฉะนั้น กลุ่มผู้ที่เข้ามารับอุปสมบทต้องน้อยกว่าสงฆ์ สังฆกรรมนั้นจึงจะเป็นที่ยอมรับได้ จึงต้องให้แน่ใจว่าพระกรรมวาจาจารย์มีชื่อของผู้ขอบวชถูกต้อง

พระคู่สวดที่ยืนคู่กันเวลาสอบถามอันตรายิกธรรมผู้ขอบวชนั้น รูปหนึ่งเป็นกรรมวาจาจารย์ คือผู้สวดประกาศขอให้สงฆ์พิจารณา อีกรูปหนึ่งทำหน้าที่เป็นอนุสาวนาจารย์ ผู้สอน แต่ท่านมักจะยืนคู่กัน เราเรียกว่าพระคู่สวด โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าท่านทำอะไร

ในการสวดประกาศต่อสงฆ์ก็เช่นกัน ต้องระบุทั้งชื่อของอุปัชฌาย์และผู้ขอบวชแต่ละรายให้ชัดเจน ฝ่ายสงฆ์เองก็ต้องมีความพร้อม กล่าวคือ ไม่ต่ำกว่า 5 รูปในเมืองที่ห่างไกล และไม่ต่ำกว่า 10 รูปในมัชฌิมประเทศ

@@@@@@

ในข้อที่สี่ หรือเป็นข้อที่ห้าของฎีกา คือคุณสมบัติของการสมมุติสีมาให้เป็นสถานที่ที่ทำพิธีอุปสมบท ทางฝ่ายเถรวาทก็ใช้สีมาที่สมมุติตามเงื่อนไขขั้นตอนของเถรวาท ผู้เขียนจำได้ว่า ตอนที่ท่านธัมมนันทาไปร่วมในงานอุปสมบทภิกษุณีที่อินเดียนั้น ใช้สถานที่ของวัดภิกษุณีเวียดนาม ซึ่งเป็นมหายาน วัดนี้ หากท่านผู้อ่านเคยไปเวสาลีมาแล้ว เป็นวัดที่อยู่ตรงข้ามกับวัดไทยของหลวงพ่อ ดร.ฉลอง

ตอนที่ไปจัดงานอุปสมบทที่นั่น ภิกษุณีสงฆ์เถรวาทต้องไปสมมุติสีมาใหม่ เป็นภาษาบาลีตามแบบเถรวาท เพื่อให้ขั้นตอนการอุปสมบทถูกต้องตามพระวินัยที่ทางฝ่ายเถรวาทยึดถือปฏิบัติ คราวนั้น มีภิกษุณีสัทธาสุมนา ภิกษุณีที่อาวุโสสูงสุดของศรีลังกา และได้รับการแต่งตั้งจากมหานายกพร้อมภิกษุสงฆ์ทางฝ่ายศรีลังกา

นอกจากนั้น ก็มีภิกษุณีอาวุโสที่สุดของเวียดนามและไทย ท่านธัมมนันทาก็ร่วมด้วยในการอุปสมบทที่เป็นประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา รายละเอียดเช่นนี้เองที่สังคมพุทธต้องมีความตื่นตัว

การอ่านคัมภีร์ระดับฎีกาทำให้เข้าใจพระวินัย ซึ่งเป็นตัวบทกฎหมายของสงฆ์มากขึ้น คัมภีร์เล่มนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ในปัจจุบันด้วย



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2562
คอลัมน์ : ธรรมลีลา
ผู้เขียน : ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_253566 (https://www.matichonweekly.com/column/article_253566)