สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2020, 06:31:12 am



หัวข้อ: คุณย่าโม "นางฟ้าถือดาบ"
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 04, 2020, 06:31:12 am

(https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2020/02/%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4-696x392.jpg)


ท้าวสุรนารีอนุสาวรีย์

ถามโดยมะเขือม่วง : น้าชาติ อยากทราบประวัติ การจัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี

ตอบ : ก่อนจะถึงรายละเอียด เกี่ยวกับอนุสาวรีย์ ขอพาไปอ่านสาส์นสมเด็จ (ลายพระหัตถ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีโต้ตอบกันในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ เนื้อหากล่าวถึงศิลปะ วรรณคดี และการปกครอง) โดยลายพระหัตถ์ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2477 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีไปถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า

“จะทูลถวาย เรื่องกรมศิลปากร เขากำลังปั้นรูปท่านผู้หญิงโม้กันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเป็นอนุสาวรีย์ประตูชัยโคราช มีขนาด สูง 4 ศอก เลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้า สไบเฉียง อนุสาวรีย์รายนี้เดิมทีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ชัย) เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้างๆ

@@@@@@

เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า แกเคยเห็นท่านผู้หญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่าเป็นทางเดินแล้วจะเอารูปปั้นไปตั้งอุดเสีย มิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะแล้วนำแบบกลับไป”

“ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบอยู่ตัวเล็กๆ หลายตัว ท่าต่างกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชาย เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย


(https://www.khaosod.co.th/wp-content/uploads/2020/02/Thao_Suranari_Monument_I.jpg)

ต่อมาอีกสองสามวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้น่าเอ็นดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวงดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี…มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือมาถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่อ ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา”

“เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ก็ประหลาด ดูในพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ซึ่งถวายมา ไม่เห็นแสดงแผลงฤทธิ์อะไร เป็นแต่คุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมจึงยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ”

@@@@@@

และต่อไปนี้คือ ข้อมูลอนุสาวรีย์จากวิกิพีเดีย เมื่อท้าวสุรนารีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยา มหิศราธิบดีผู้เป็นสวามีได้ฌาปนกิจ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีสร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุด พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็นพระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็กบรรจุอัฐิท้าวสุรนารีขึ้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ.2442)

ต่อมากู่นั้นทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาพร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งกรมศิลปากรได้มอบให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับพระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเชิญอัฐิมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และตั้งอนุสาวรีย์ที่หน้าประตูชุมพล

@@@@@@

อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ท้าวสุรนารีแต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพฯ นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ

เริ่มก่อสร้างในปี 2476 มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2477 และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุแห่งชาติ เมื่อ 3 มกราคม 2480 ครั้นปี 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการและประชาชนชาวนครราชสีมานำโดยนายสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมใจกันสร้างฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าว สุรนารีขึ้นใหม่ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2510



ที่มา : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย น้าชาติ ประชาชื่น
ขอบคุณ : https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_3512049 (https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_3512049)