สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 11, 2020, 06:47:33 am



หัวข้อ: สุข-ทุกข์อยู่บนเหรียญคนละด้าน แต่เหรียญไม่ได้มีแค่สองด้าน
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 11, 2020, 06:47:33 am

(https://i0.wp.com/goodlifeupdate.com/app/uploads/2020/03/currency-70581_1920-1.jpg?w=846)


สุข-ทุกข์อยู่บนเหรียญคนละด้าน แต่เหรียญไม่ได้มีแค่สองด้าน
ธรรมะโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปัญโญ

เราคุ้นเคยอยู่กับการเห็นเหรียญมีสองด้าน เห็นแต่ว่ามีด้านหัวกับก้อยเท่านั้น เปรียบเหมือนความรู้สึกของเราที่มีต่อสิ่งที่ได้สัมผัสสัมพันธ์ ถ้าไม่ยินดีก็ยินร้าย ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ชอบก็ชัง เป็นไปตามที่กิเลสตัณหาโปรแกรมไว้ในจิต ความรู้สึกชอบย่อมนำมาซึ่งความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเสพ อยากสัมผัสสัมพันธ์ อยากให้สิ่งนั้นคงอยู่ในสถานะนั้นต่อไป เป็นกิเลสฝ่ายราคะ หรือโลภะ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของกามตัณหาและภวตัณหา

ครั้นรู้สึกไม่ชอบ ไม่ยินดี ไม่พอใจ ไม่อยากสัมผัสสัมพันธ์ อยากให้สิ่งนั้นผ่านไปโดยเร็ว ก็เป็นกิเลสฝ่ายโทสะ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของวิภวตัณหา

ความชอบและความไม่ชอบมีสาเหตุมาจากความหลง หรือ โมหะ อันเป็นกิเลสอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้หลงยึดติดอยู่กับความยินดียินร้าย

@@@@@@

การที่เรามีความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ไปในทางยินดีหรือยินร้าย เป็นเพราะจิตของเราขาดความเที่ยงธรรม ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลาง หากจิตตั้งอยู่ตรงกลาง วางอุเบกขา จิตก็จะปลอดจากความรู้สึกโลภ โกรธ หลง สภาวะของจิตในขณะนั้นก็จะเป็นสภาวะจิตของนิพพานนั่นเอง

ที่เราคุ้นเคยว่าเหรียญมีสองด้าน คือด้านหัว สมมติว่าเป็นมุมมองด้วยความชอบ (โลภะ) และด้านก้อย สมมติว่าเป็นมุมมองด้วยความชัง (โทสะ) การมองแต่ด้านใดด้านหนึ่งก็นับเป็นมุมมองที่มาจากความหลง (โมหะ) เพราะที่จริงแล้วเหรียญไม่ได้มีเพียงสองด้านเท่านั้น ระหว่างด้านหัวกับด้านก้อย ยังมีด้านสันเชื่อมอยู่ ด้านสันคั่นกลางระหว่างด้านหัวกับด้านก้อยอยู่นั่นเอง หากเราเอาด้านสันของเหรียญตั้งลง ก็เท่ากับว่าเราวางเหรียญไว้อย่างเป็นกลาง ไม่เอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มุมมองด้านสันของเหรียญคือมุมมองที่เป็นกลาง หรือเป็นอุเบกขา ไม่เอาจิตไปอยู่ข้างฝ่ายโลภ ฝ่ายโกรธ และฝ่ายหลง จิตจึงปลอดจากอำนาจของกิเลส นี่แหละคือสภาวะจิตของนิพพาน ณ ขณะนั้น


ที่มา :  นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ โดย 4 พระผู้นำทางปัญญาแห่งยุคสมัย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
Image by (El Caminante) from Pixabay ,Secret Magazine (Thailand)
ขอบคุณ ; https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/197753.html
By ying ,8 March 2020