สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 17, 2020, 05:43:19 am



หัวข้อ: “พระมหามัยมุนี” เมืองนี้ คือ ผู้มีชัย
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 17, 2020, 05:43:19 am

(https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2020/05/ปริศนา-2073-696x417.jpg)



“พระมหามัยมุนี” เมืองนี้ คือ ผู้มีชัย

“พระมหามัยมุนี” ของพม่าสามารถเทียบได้กับ “พระแก้วมรกต” 2 นัย

นัยแรก ชื่อของพระพุทธปฏิมา คำว่า “มัย” มาจาก “เมียะ” แปลว่า “แก้วมรกต” อันเป็นความหมายเชิงอุปมาอุปไมยว่าเป็นพระพุทธรูปที่สูงค่า แต่ในความเป็นจริงแล้วใช้วัสดุอื่นสร้าง

นัยที่สอง หากกษัตริย์รัฐต่างๆ พระองค์ไหนสามารถครอบครองพระมหามัยมุนีได้ ก็เท่ากับเป็นการประกาศชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของนครนั้นๆ ว่าคือผู้มีชัย ไม่ต่างอะไรไปจากการเคลื่อนย้าย “พระแก้วมรกต” จากรัฐสู่รัฐของทางล้านนา ล้านช้าง สุดท้ายจบลงที่กรุงเทพมหานคร

@@@@@@

ยะไข่ อารกันเมืองที่ทำให้ถูกลืม

ตํานานความเป็นมาของพระมหามัยมุนี เริ่มต้นที่รัฐยะไข่ หรือแคว้นอารกัน รัฐโบราณรุ่นเก่าที่อยู่ใกล้อินเดียมากที่สุดของพม่า ซึ่งปัจจุบันมีประชากร “ชาวโรฮิงญา” อาศัยอยู่ และดูเหมือนว่า “ออง ซาน ซูจี” ตั้งใจจะปิดหูปิดตาแสร้งมองไม่เห็นความสำคัญของเมืองนี้

ตำนานกล่าวว่า พระมหามัยมุนีสร้างตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธเจ้าพร้อมสาวก 500 รูปเสด็จผ่านมา พระเจ้าจันทรสุริยากษัตริย์เมืองยะไข่ได้จัดวังให้ประทับ พร้อมกับขออนุญาตหล่อรูปเหมือนของพระพุทธองค์ไว้กราบไหว้บูชา โดยมีความตั้งใจหล่อให้เสร็จภายใน 1 วัน

ปรากฏว่าทุกส่วนของพระพุทธรูปหล่อเสร็จสมบูรณ์หมด ยกเว้นพระนลาฏ (หน้าผาก) หล่ออย่างไรทองก็ไม่ติด ทำให้พระพุทธองค์ต้องทรงนำ “ไคล” จากพระอุระ (อก) ปั้นเป็นก้อนปิดลงไปบนพระนลาฏให้

เมื่อหล่อเสร็จแล้วพระพุทธองค์ยังได้ประทาน “ลมหายใจ” ใส่พระพุทธรูปองค์นี้อีก และเมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับ พระพุทธรูปมหามัยมุนีก็ทำท่าจะลุกขึ้นถวายความเคารพ แต่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้

ข้อความทั้งหมดเราสามารถเห็นเรื่องราวที่เล่าขานกันแบบ “ตำนานซ้อนตำนาน” หลายแง่มุม เป็นการโยงเอาตำนานพระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงในเขตล้านนา-พม่าเข้ามาผสมปะติดปะต่อในลักษณะ “ยำใหญ่ใส่สารพัด” ได้ชัดเจนมากที่สุดองค์หนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็น ตำนานพระเจ้าทันใจ (การหล่อให้เสร็จภายใน 1 วัน) ตำนานไคลพระเจ้า (การปาดเหงื่อไคลมาร่วมสร้างพระพุทธรูป) และตำนานพระเจ้าแก่นจันทน์แดง (การที่พระพุทธเจ้ายกมือขึ้นตรัสห้ามพระไม้แก่นจันทน์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล)

เหนือสิ่งอื่นใด คือความขัดแย้งระหว่าง “ตำนาน” กับ “ประวัติศาสตร์ความน่าจะเป็น” เพราะอายุสมัยที่ระบุในตำนานไม่สอดคล้องกับทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลป์ว่าอินเดียเริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปราว พ.ศ.600

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ก็คือ พระมหามัยมุนีเมื่อแรกสร้าง ทำขึ้นในรัฐยะไข่หรืออารกันอย่างแน่นอน แต่จะสร้างโดยใครและช่วงพุทธศักราชไหนนั้นยังเป็นที่กังขาอยู่ เหตุเพราะเราไม่อาจเห็นรูปแบบพุทธศิลป์ของพระมหามัยมุนีองค์ดั้งเดิมที่ส่อถึงศิลปะยะไข่รุ่นเก่าได้ชัดนัก ด้วยเหตุที่มีการซ่อมแซมใหม่ในยุคหลังพอกทับแล้วทับอีกเสียจนไม่เห็นเค้าเดิม

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หลายท่านเชื่อว่า ยุคแรกสร้างน่าจะไม่เกินช่วง พ.ศ.1000-1100 ซึ่งตรงกับสมัยทวารวดีตอนต้น ถือว่าเก่าแก่มากแล้ว

ปัจจุบันพระมหามัยมุนีถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่น ทิ้งให้รัฐยะไข่ต้องสร้างพระมหามัยมุนีจำลองขึ้นมาแทนที่ รัฐยะไข่มีสถานะเป็นรัฐกันชนพรมแดนพม่า-บังกลาเทศ ต่อมาชาวเบงกาลี (ต่อมาถูกเรียกว่า “โรฮิงญา”) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมถูกชาวอังกฤษอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่นานกว่า 150 ปี

ดิฉันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสถานการณ์ “โรฮิงญา” กับอาจารย์ชาวพม่าท่านหนึ่งที่เข้ามาสอนภาษาพม่าให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ท่านผู้นี้กล่าวเชื่อมโยงปัญหาเรื่องโรฮิงญากับรัฐยะไข่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยที่คนไทยไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมีประเด็นเรื่อง “พระมหามัยมุนี” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“น่าแปลกที่ออง ซาน ซูจี เพิกเฉยต่อการที่ชาวพุทธรังแกชาวโรฮิงญา ทั้งๆ ที่ในอดีตรัฐยะไข่คือจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนาของพม่า แต่รัฐบาลทำประหนึ่งว่าไม่มีรัฐยะไข่อยู่ในพม่า หรือว่าลึกๆ แล้ว ชาวพม่าต้องการกดข่มไม่ให้รัฐยะไข่มีปากมีเสียง

ด้วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานกว่า 1,500 ปีนั้น ชาวยะไข่ขอทวงคืน “พระมหามัยมุนี” จากเมืองอมรปุระและมัณฑะเลย์มาตลอดไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้ปกครองก็ตาม แต่ชาวโลกไม่เคยได้ยินเสียงเรียกร้องนี้

นโยบายการกำจัด “ชาวโรฮิงญา” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เท่ากับเป็นการเตือนชาวเมืองยะไข่กลายๆ ว่า เมืองของพวกคุณไม่ได้อยู่ในสายตาของรัฐบาลกลางแต่อย่างใดเลยดอกนะ”

@@@@@@

มัณฑะเลย์ – มันดะละแห่งจักรวาล ศูนย์รวมจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่

พระมหามัยมุนีเป็นที่หมายปองของกษัตริย์ยุคจารีตรัฐต่างๆ ไม่ว่ารัฐปยู รัฐมอญ รัฐพุกาม ในยุคที่เรืองอำนาจ ต่างพยายามจะช่วงชิงนำไปเป็นสมบัติประจำแคว้น ด้วยชาวพม่าเชื่อว่า “พระมหามัยมุนี” เป็นตัวแทน “ลมหายใจ” ของพระพุทธเจ้าตลอดนิจนิรันดร์

บางช่วงถูกลักขโมยไปจมโคลนจมดินกลางทุ่ง บางยุคถูกปล้นเผาละลายทองคำไปบางส่วน บางสมัยก็ถูกตัดแขนเฉือนขาไปบางข้าง แต่จนแล้วจนรอดพระมหามัยมุนีก็แคล้วคลาดปลอดภัยยังคงสถิตเสถียร ณ เมืองยะไข่เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2328

พระเจ้าปดุง กษัตริย์กรุงอมรปุระ ได้ส่งกองทัพทหารบุกยะไข่มากถึง 5,000 นาย ลากจูงพระมหามัยมุนีข้ามภูเขาลูกแล้วลูกเล่า ใช้เวลา 4 เดือนเศษ พระเจ้าปดุงเมื่อรู้ว่าพระมหามัยมุนีใกล้มาถึง โสมนัสยิ่งนัก เดินลุยลงไปท่าน้ำอิรวดีลึกในระดับที่น้ำท่วมถึงพระศอเพื่อถวายการต้อนรับพระมหามัยมุนีด้วยพระองค์เอง

การเดินทางไกลระหกระเหินของพระมหามัยมุนีมาจบลงที่เมืองมัณฑะเลย์ (บ้างเขียน “มัณฑะเล” “มัณฑเล”) เมื่อมีการย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระมาอยู่ที่แห่งใหม่ในปี พ.ศ.2400 ตรงกับสมัยพระเจ้ามิงดง

พระมหามัยมุนีได้รับการประดับตกแต่งถวายเครื่องสักการะประเภทแก้วแหวนเพชรนิลจินดา ไข่มุก ทับทิม อัญมณีเลอค่า ละลานตาจนแทบสังเกตไม่เห็นว่าพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้ แท้จริงแล้วมีร่องรอยศิลปะอยุธยาตอนปลายเข้าไปแทรกปนด้วย ในส่วนของสังวาล ทับทรวง กรรเจียกจอน ฯลฯ

การที่อิทธิพลศิลปะอยุธยาเข้าไปมีบทบาทในการทำเครื่องทรงพัสตราภรณ์ของพระมหามัยมุนีเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พม่าได้เกณฑ์ชาวสยามไปอยู่ที่อังวะ อมรปุระ และมัณฑะเลย์จำนวนมหาศาล มีการขนทรัพย์สมบัติอันมีค่าจากพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยาไปด้วย

ศาสตราจารย์ฌ็อง บัวเซอลีเยร์ (Prof. Jean Boisselier) นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงการที่พม่านำเอาประติมากรรมสำริดที่เป็นศิลปะเขมร (สยามตีได้จากกัมพูชา และเคยเอาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาก่อนแล้วยุคหนึ่ง) มาประดับรายล้อมพระราชวังที่กรุงมัณฑะเลย์ว่า

“เป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจที่ถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ในครอบครองของผู้ชนะ ซึ่งมักปฏิบัติพร้อมกับการทำลายศาสนสถานของผู้แพ้ อันเป็นหัวใจของเมืองให้ย่อยยับไป เสมือนเป็นการทำลายล้างสิทธิธรรมของความเป็นกษัตริย์ผู้พ่ายแพ้ลงให้ราบคาบโดยสิ้นเชิง ดังเช่นในคราวที่อยุธยามาตีเมืองนครธมได้ ก็ได้นำรูปสำริดเหล่านี้กลับมายังอยุธยา พร้อมกับทำลายปราสาทนาคพันอันเป็นศาสนสถานสำคัญของนครธม”

ความยิ่งใหญ่ของมณฑลจักรวาลมัณฑะเลย์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ก็คือ การรวบรวมเอางานศิลปกรรมจากอยุธยา (แม้จะเป็นช่างขอมโบราณ) มาประดับรายล้อมองค์พระมหามัยมุนีที่ได้มาจากรัฐอารกัน รัฐแรกในดินแดนพม่าที่มีความเจริญด้านพุทธศาสนา ถือเป็นการรวบตึงแบบ 2 อิน 1

@@@@@@

สู่ “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” กับการท่องเที่ยว

สัดส่วนของพระมหามัยมุนี เห็นได้ว่าพระพักตร์กับพระวรกายไม่ค่อยสมดุลกันเท่าใดนัก เหตุที่มีการพอกทองคำเปลวทับแล้วทับอีกจนหนาเทอะทะ กระทั่งคนในวงการท่องเที่ยวตั้งชื่อใหม่ให้เรียกง่ายๆ ว่า “พระเจ้าเนื้อนิ่ม”

ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ได้มีการทำพิธีกรรม “สีทนต์ล้างพระพักตร์” ให้พระเจ้าเนื้อนิ่มตั้งแต่ตีสี่ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าชมได้ (อันที่จริงคงมีการทำเป็นประเพณีนิยมมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เป็นกิจกรรมภายในของวัด)

ในด้านพุทธศิลป์ของพระมหามัยมุนีนั้น เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งชาวพม่า-ล้านนาเรียกว่า “ปางทรมานท้าวชมพูบดี” หรือปาง “พญาชมพู” ที่อวดอ้างว่าตนเป็นจักรพรรดิเหนือพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงแปลงกายให้ชมพูบดีเห็นว่า สมบัติจักรพรรดินั้นเป็นของนอกกาย

พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระมหามัยมุนีได้กลายมาเป็น “ต้นแบบ” หรือ “พิมพ์นิยม” ของพระประธานตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศพม่า ทำนองเดียวกันกับพระแก้วมรกตหรือพระพุทธชินราชของเรา

ในประเทศไทยแถบตะเข็บพรมแดนไทยพม่า เช่นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก พบพระมหามัยมุนีจำลองหลายองค์ ที่งดงามที่สุดคือ “พระเจ้าพาราละแข่ง” ที่วัดหัวเวียง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน สร้างในปี 2460 โดยช่างชาวไทใหญ่ (ในภาพประกอบนี้) กับอีกองค์ที่มีนัยทางการเมือง คือพระมหามัยมุนีจำลองที่เมืองเชียงตุง

@@@@@@

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง กับทวงคืนจิตวิญญาณชาวพม่า

กลางมหานครเชียงตุง รัฐฉานของพม่า ตรงข้ามกับวัดหัวข่วง ซึ่งเป็นวัด “หน้าหมู่” ของชาวบ้านนั้น เป็นที่ตั้งวัดสำคัญชื่อ “วัดพระแก้ว” ซึ่งมี “พระมหามัยมุนีจำลอง” เป็นพระประธาน (ดังภาพประกอบนี้)

พระมหามัยมุนีจำลองสร้างขึ้นโดย “เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง” รัชทายาทองค์สุดท้ายของเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง เป็นการสร้างขึ้นในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะขณะนั้นพม่าทั้งประเทศตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษหมดแล้ว

ยกเว้นแต่เมืองเชียงตุงเพียงแห่งเดียวที่อังกฤษยังอนุญาตให้มี “เจ้าฟ้า” ได้เป็นองค์สุดท้าย และมีสิทธิ์ปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง

จะมองว่าเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลง “ท้าทาย” อำนาจเจ้าอาณานิคม หรือว่าเป็นการ “ทิ้งทวน” อำนาจเก่าของพม่าแบบจารีต ก็สุดแท้แต่ใครจะตีความ

เพราะการที่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยสร้าง “พระมหามัยมุนี” จำลองขึ้นกลางมหานครเชียงตุงนั้น เป็นนัยที่ต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อันดับต้นของพม่าองค์จริงแม้ไม่สามารถอัญเชิญจากเมืองมัณฑะเลย์ให้มาประทับที่เมืองเชียงตุงได้ก็จริง ด้วยชาวอังกฤษคงไม่อนุญาต

แต่ในนามของ “เจ้าฟ้าองค์สุดท้าย” ที่ยังพอมีอำนาจอันน้อยนิด จักขอชะลอพระมหามัยมุนีที่คนพม่านับถือมาประทับเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ชาวประชา (แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อสายไทใหญ่ ไทขึนก็ตาม) ณ เมืองเชียงตุง

เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลงได้ทำพิธีแห่พระมหามัยมุนีจำลองไปตามท้องถนน เสมือนหนึ่งต้องการสถาปนาเมืองเชียงตุงขึ้นมาแทนที่เมืองหลวงเก่ามัณฑะเลย์ที่ถูกทำลายระบบกษัตริย์ไปแล้ว

ถือเป็น “ลมหายใจสุดท้าย” ของการ “ต่อลมหายใจให้พระเจ้า” ก่อนที่เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินทร์แถลงจะหมดลมหายใจไปในที่สุด


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 พฤษภาคม 2563
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_304887 (https://www.matichonweekly.com/column/article_304887)