หัวข้อ: ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤษภาคม 19, 2020, 07:07:35 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/07/ยูเดีย01-696x441.jpg) ภาพ “ยูเดีย” วาดโดยโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ไขปริศนาภาพ “ยูเดีย” ภาพกรุงศรีอยุธยาที่เก่าแก่และงดงามสุด เมื่อฮันนีมูนทริป(ก.ค. ๒๕๖๐) ผมขอแฟนไปอัมสเตอร์ดัม เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ เพื่อดูภาพๆ หนึ่ง ภาพที่มีความหมายสำหรับผม และคนไทยทุกคน ผมน่าจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่เปิดเผยว่าภาพนี้ใครวาด วาดเมื่อไหร่ เคยแขวนที่ไหน และอยู่รอดมาได้อย่างไร ไม่อยากเชื่อว่าภาพกรุงศรีอยุธยา เก่าแก่และงดงามสุด เกือบถูก (ฝรั่ง) ทำลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภาพยูเดียหรือกรุงศรีอยุธยาเป็นภาพมุมกว้าง (๙๗ x ๑๔๐ ซม.) วาดในขณะที่สิ่งปลูกสร้างและสถานที่สำคัญต่างๆ ยังอยู่ครบสมบูรณ์ ทำให้เราสามารถจินตนาการสภาพภูมิทัศน์ รูปลักษณ์ของกรุงศรีอยุธยา ว่าเป็นเกาะเมืองห้อมล้อมด้วยแม่น้ำหลายสาย ตัวเมืองมีกำแพงอิฐล้อมรอบ ป้อมปืนและประตูเมืองเรียงรายเป็นระยะๆ พื้นที่พระนครแบ่งออกเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย จัดเป็นระเบียบสวยงาม อีกทั้งถนนและคูคลองล้วนเชื่อมโยงต่อกันดุจตาข่าย จนราชธานีได้รับสมญานามว่า “เวนิสตะวันออก” (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/07/ยูเดีย02.jpg) ภาพ “ยูเดีย” แขวนอยู่เหนือหัวผมพอดี ถ่ายโดยภรรยาเมื่อ ๒ ก.ค. ๒๕๖๐ ภาพวาดสีน้ำมัน “ยูเดีย” เป็นงานวิจิตรศิลป์ สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากความวิจิตรโอฬารของพระราชวังหลวง อาคารบ้านเรือนและศาสนสถาน ถนนที่ปูด้วยอิฐ สะพานที่ก่อด้วยไม้หรือศิลาแลง ล้วนแลดูตระการตา ภาพนี้จึงเป็นผังเมืองกรุงศรีอยุธยาที่น่าทึ่งที่สุด เอกสารไทยล้วนระบุว่า ภาพนี้วาดโดยจิตรกรนิรนามชาวฮอลันดาในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ตรงกับสมัยพระเจ้าปราสาททอง ข้อเท็จจริงคือภาพนี้เป็นผลงานของโยฮันเนส วิงโบนส์ (Johannes Vingboons) จิตรกรและนักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา วาดราว พ.ศ. ๒๒๐๕-๐๖ ต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (VOC) ได้ว่าจ้างให้จิตรกรวาดภาพเมืองท่าสำคัญในเอเชียตะวันออกจำนวน ๑๐ ภาพ ซึ่งกรุงศรีอยุธยาคือหนึ่งในนั้น ภาพชุดนี้เคยแขวนประดับบนผนังห้องประชุม Heren XVII (สุภาพบุรุษทั้ง ๑๗) หรือคณะผู้บริหารของบริษัท ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ฮอลันดา ภายหลังที่บริษัทยุติบทบาท ภาพเหล่านี้ได้ถูกนำไป “เก็บรักษา” ที่กระทรวงอาณานิคม กรุงเฮก (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/07/ยูเดีย03.jpg) ภาพ “ยูเดีย” (ขวาล่าง) เคยแขวนไว้ด้านหลังโต๊ะประชุมกรรมการ (Heren XVII) บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ปลายรัชกาลที่ ๓) ข้าราชการนิรนามท่านหนึ่งได้เขียนบันทึกว่าภาพจำนวน ๓ ภาพได้ถูกทำลาย และในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ (ต้นรัชกาลที่ ๕) ข้าราชการอีกท่านนาม V. de Stuers รายงานว่าภาพที่หลงเหลืออีก ๗ ภาพ (รวมถึงภาพ “ยูเดีย”) ถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างกองดินเตรียมทำเป็นปุ๋ย หากปล่อยไว้ อีกไม่นาน มรดกวัฒนธรรมของฮอลันดา(และสากล) อาจสูญหายไปอย่างถาวร (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/07/ยูเดีย04.jpg) บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาในเมืองอัมสเตอร์ดัม รายงานชิ้นนี้ทำให้ทางการตื่นตัว ขนย้ายภาพ “ยูเดีย” และภาพเมืองท่าสำคัญอื่นๆ ที่วาดโดยวิงโบนส์ อาทิ Canton (กวางตุ้ง), Lawec (ละแวก), Couchyn (โคชิน) ฯลฯ ไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ไรคส์มิวเซียม (Rijksmuseum) อัมสเตอร์ดัม ใครแวะไปอัมสเตอร์ดัม นอกจากจะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Van Gogh, บ้าน Anne Frank ผมอยากเชิญชวนให้แวะไปพิพิธภัณฑ์ไรคส์ (เดินจากพิพิธภัณฑ์ Van Gogh ราว ๕-๑๐ นาที) บอกลายแทงให้เลย ห้อง ๒.๙ ครับ เขียนเสียยาว อยากบอกเล่าความเป็นมาของภาพกรุงเก่า อยากให้เราภูมิใจในแผ่นดินครับ หาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” (มติชน, ๒๕๔๙, น.๔๑-๔๕) แต่งโดย ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (ชื่อคุ้นๆ) ผู้เขียน : ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ผู้เขียนหนังสือ “กรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง” เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_10944 (https://www.silpa-mag.com/history/article_10944) |