หัวข้อ: สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได เอกลักษณ์งานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 03, 2020, 05:39:38 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2020/07/ภาพปก-วัดพระสิงห์เชียงราย-696x364.jpg) วัดพระสิงห์ เชียงราย สิงห์หน้าวัด-นาคราวบันได เอกลักษณ์งานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนา เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของวัดทางล้านนาไทย คือหน้าประตูวัดจะนิยมปั้นรูปสิงห์หรือราชสีห์ ส่วนที่ราวบันไดขึ้นวิหาร โบสถ์ หรือสถานที่สำคัญอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จะปั้นเป็นรูปนาคเลื้อยทอดตัวลงมา ซึ่งสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นสัตว์ที่มีในเทพปกรณัม สิงห์หน้าวัด ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกาม ครั้งที่พม่าได้เข้ามาครอบครองดินแดนล้านนาไทย เป็นระยะเวลาที่ยาวนานจึงได้นำเอาความคิดตามคตินิยมของฝ่ายตนเข้ามาเผยแพร่ด้วย จากหนังสือเที่ยว เมืองพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2020/07/สิงห์.jpg) สิงห์หน้าวัดล้านนาไทย อิทธิพลศิลปะพุกาม “เค้ามูลของรูปสิงห์ซึ่งตั้งฟากทางขึ้นบันไดนั้น เดิมราชสีห์ตัวหนึ่งลักราชธิดาของพระยามหากษัตริย์ อัน มีลูกยังเป็นทารกติดไปด้วย 2 คน เอาไปเลี้ยงไว้ ครั้นลูกชายเติบใหญ่ พาแม่กับน้องหญิงหนีกลับมาอยู่ใน เมืองมนุษย์ ฝ่ายราชสีห์เที่ยวตามหา… จึงให้สร้างรูปราชสีห์ขึ้นฝากไว้กับเจดีย์สถานที่บูชา เลยเป็นประเพณีสืบมา (เป็นเค้าเดียวกับเรื่องสีหพาหุ ในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา)” สิงห์หน้าวัด เป็นสิงห์ตัวผู้ (สังเกตจากขนสร้อยคอ) ช่างจะปั้นให้อยู่ในท่านั่งด้วยสองเท้าหลัง งอหางขึ้นพาดไว้กลางหลัง สองเท้าหน้าตั้งยันพื้น อ้าปากแผดสิงหนาท ขนหัวตั้งชัน บางแห่งสิงห์จะคาบสตรีไว้ในปาก เรียกว่า “สิงห์คายนาง” ซึ่งเป็นศิลปะแบบดั้งเดิมของพม่า ต่อมาก็ได้คลี่คลายมาเป็นแบบลักษณะ ของศิลปะล้านนาไทย คือมีขนาดพอเหมาะได้สัดส่วนสวยงาม ไม่สูงใหญ่เทอะทะแบบศิลปะพม่า (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2020/07/สิงห์คายนาง.jpg) สิงห์คายนาง นาคราวบันไดวิหาร โบสถ์ ของล้านนาไทย จะมีลักษณะเฉพาะ กล่าวคือจะมี “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” เศียรนาคจะโผล่ออกจากปาก “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” อีกทีหนึ่ง ข้อนี้เป็นการแสดงปริศนาธรรมของช่างล้านนาไทยยุคโบราณได้อย่างฉลาดแยบคาย ว่ามนุษย์เราหากไม่ปล่อยปละละวาง คิดแต่ตัวกูของกูอยู่ตลอดเวลา ก็จะต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก เช่นเดียวกับ “ตัวมังกร” หรือ “ตัวอม” ที่คาบเศียรนาคไว้ จะกลืนก็ไม่ได้ จะคายก็ไม่ออก ยิ่งคาบหลายเศียรก็ยิ่งลําบากมากขึ้นไปอีก นาคราวบันได เหตุที่นิยมปั้นนาคเป็นราวบันได คงจะเป็นเพราะนาคมีลำตัวยาว เวลาทอดเลื้อยตัวก็ดูงดงาม ไม่ว่าบันไดนั้นจะยาวสักเพียงใด เช่น บันไดทางขึ้นสู่สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง จะปั้นรูปสัตว์ในเทพปกรณัมชนิดใดเป็นราวบันไดได้เหมาะสมและสวยงามเท่ากับนาค คงจะไม่มีแล้ว นาคราวบันไดยุคแรกนั้น ก่อปั้นด้วยอิฐถือปู ทาสีปูนขาว ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็น ก่อ ปั้น ด้วยอิฐถือปูนแล้วปิดทอง ส่วนเกล็ดนาคทำด้วยดินเผาแล้วเคลือบ นำมาติดเรียงกันไปตลอดลำตัว ดูสวยงามมาก นาคราวบันไดมีการปั้นที่ช่างได้พลิกแพลงไปหลายแบบ เช่น ทำเป็นนาคสามเศียร, เจ็ดเศียร, นาคขด ลำตัวเป็นวงก่อนที่จะชูเศียรขึ้น จะเห็นได้ว่า สิงห์หน้าวัด และนาคราวบันได เป็นเอกลักษณ์ของงานประติมากรรมในพุทธสถานล้านนาไทย ที่ให้ทั้งความสวยงามและคติธรรม (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2020/07/วัดพระสิงห์เชียงราย.jpg) วัดพระสิงห์ เชียงราย เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2563 https://www.silpa-mag.com/art/article_52305 (https://www.silpa-mag.com/art/article_52305) ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2537 ผู้เขียน สามารถ จันทร์แจ่ม เผยแพร่ วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2563 |