หัวข้อ: สมุทรสงคราม มาจากไหน.? ค้นหลักฐานเมืองจาก สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 03, 2020, 05:51:49 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/10/อัมพวา-1-696x452.jpg) คลองอัมพวา (ภาพโดย สาวิตรี ถิตตยานุรักษ์ จากหนังสือชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม) สมุทรสงคราม มาจากไหน.? ค้นหลักฐานเมืองจาก สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมุทรสงคราม มาจากคำ 2 คำ คือคำว่า สมุทร กับ สงคราม สมุทร เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต ว่า สมุทฺร ส่วนบาลีว่า สมุทฺท แปลว่า ทะเล ตรงกับภาษาอังกฤษว่า sea มีใช้ในวรรณคดีโบราณมาแต่แรก ๆ เช่น คำสรวลสมุทร (รู้จักทั่วไปในชื่อกำสรวจศรีปราชญ์) เขมรก็ใช้สมุทรที่ตรงกับ sea ในภาษาอังกฤษ คำว่า ทะเล ไทยขอยืมคำเขมรว่า ตอนเล (ton-le) แปลว่า แม่น้ำ มาให้ความหมายใหม่ตรงกับคำอังกฤษว่า sea สงครามแปลว่า ต่อสู้ รบ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํคฺราม ในภาษาบาลีว่า สงฺคราม @@@@@@ สรุปลำดับวิวัฒนาการของเมืองได้ ดังนี้ 1. เมืองแม่กลองมีชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) เจ้าเมืองมีชื่อตำแหน่งว่า พระสมุทรสงคราม (ต่อไปข้างหน้าจะเปลี่ยนชื่อเมืองแม่กลอง ตามนามบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองว่า เจ้าเมืองสมุทรสงคราม) เมืองแม่กลองตั้งอยู่ปลายน้ำแม่กลอง หรือทางลุ่มน้ำแม่น้ำกลองตอนล่าง ในคราวเดียวกันนี้มีชื่อเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนบนอีก 3 เมือง คือเมืองกาญจนบุรี, เมืองไทรโยค และเมืองศรีสวัสดิ์ แสดงให้เห็นความสำคัญของลำน้ำแม่กลองตลอดสาย ทั้งด้านการสงครามและคมนาคมค้าขาย 2. ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) มอญบางพวกตั้งแหล่งพำนักถาวรอยู่ในบริเวณที่ทุกวันนี้คือ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เช่น บ้านนครชุม บ้านม่วง ฯลฯ นานเข้าก็กระจายลงไปทางปากน้ำแม่กลอง แล้วตั้งหลักแหล่งเป็นคนแม่กลอง ดังปรากฏในเอกสารจากหอหลวงสมัยพระเจ้าอุทุมพรว่า “เรือมอญใหญ่ปากกว้าง 6-7 ศอก พวกมอญบรรทุกมะพร้าวห้าว ไม้แสมทะเล และเกลือขาวมาจอดขาย” “เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 3 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ บรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเรา ปลากะพง ปลาทู ปลากะเบนย่าง มาจอดเรือขาย…” คำว่า “ปากใต้” ในข้อความข้างต้นหมายถึง บริเวณโดยรอบปากอ่าวไทย ซึ่งอยู่ทางใต้ของพระนครศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ว่าบริเวณปากใต้ มีเมืองนนทบุรี, เมืองนครชัยศรี, เมืองราชบุรี, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองสมุทรสาคร และเมืองสมุทรปราการ เป็นต้น @@@@@@ 3. หลัง พ.ศ. 2230 ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) มีป้อมเมืองแม่กลอง เป็นป้อมขนาดเล็กเกิดขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองแม่กลอง ดังมีบันทึกของมองซิเออร์เซเบเรต์ ที่อยู่ในคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกว่า “ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2230 ข้าพเจ้าได้ออกจาก (เมือง) ท่าจีน เพื่อไป (เมือง) แม่กลอง ตามทางระหว่างที่ท่าจีนกับแม่กลองนี้มีบางแห่งน้ำตื้น ต้องใช้กระบือลากเรือเหมือนวันก่อน แต่ตอนที่ตื้น… เมืองแม่กลองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองท่าจีนและ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำแม่กลอง และอยู่ห่างทะเลประมาณ 1 ไมล์ น้ำรับประทานในเมืองนี้ เป็นน้ำที่ดี เมืองแม่กลองนี้หามีกำแพงไม่ แต่มีป้อมเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมอยู่ 1ป้อม มุมป้อมนั้นมีหอรบอยู่ 4 แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมากก่อด้วยอิฐ คูหาก็หามีไม่ แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม…” 4. พ.ศ. 2308 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดให้ยกทัพเรือไปตั้งค่ายรับพม่า เรียก “ค่ายบางกุ้ง” (ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม) 5. พ.ศ. 2309 หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี (นามเดิม ทองด้วง ภายหลังปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์) แต่งงานกับ นาค ธิดาคหบดีมอญ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม พ.ศ. 2310 มีบุตรชื่อฉิม (ต่อไปข้างหน้าคือรัชกาลที่ 2) เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตรงกับขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน จ.ศ. 1129 ที่บางช้าง อัมพวา เมื่อรัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชย์ บรรดาพระญาติของสมเด็จพระราชชนนี (นาค) ก็เป็นราชนิกุลตั้งแต่นั้นมา เรียกกันว่า “ราชนิกุลบางช้าง” 6. ปลาย พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราช รวบรวมไพร่พลจากเมืองจันทบุรีขับไล่กองทัพพม่าพ้นจากพระราชอาณาเขตแล้ว ให้ไพร่พลชาวจีนจากหัวเมืองชายทะเลทางเมืองชลบุรี, ระยอง กับเมืองอื่น ๆ ในลำน้ำแม่กลองมารวมอยู่รักษาค่าย จึงเรียกกันว่า ค่ายจีนบางกุ้ง @@@@@@ 7. พ.ศ. 2444 สมุทรสงครามเป็นจังหวัด แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม, อำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา - อำเภอเมืองสมุทรสงคราม โยกย้ายสถานที่และเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง เริ่มจากชื่ออำเภอลมทวน ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดจวน, พ.ศ. 2444 สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่เป็นครั้งแรกที่ริมแม่น้ำแม่กลอง (ระหว่างปากคอลงแม่กลอง-คลองลัดจวน) ,พ.ศ. 2465 เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอแม่กลอง, พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสมุทรสงคราม - อำเภอบางคนที สมัยกรุงศรีอยุธยา อำเภอบางคนทีขึ้นกับเมืองราชบุรี ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงธนบุรีมีเมืองแม่กลองแล้วได้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม และบ้านบางกุ้ง (ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น), ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่อำเภอบางคนทีรวมอยู่กับอำเภอดำเนินสะดวก ตั้งเป็นอำเภอริมคลองแพงพวย เรียกอำเภอแพงพวย ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี, ครั้น พ.ศ. 2440 ให้ยุบอำเภอแพงพวย ตั้งเป็นอำเภอใหม่ 2 อำเภอ คืออำเภอสี่หมื่น และอำเภอดำเนินสะดวก, พ.ศ. 2454 ให้ยุบอำเภอสี่หมื่น แล้วย้ายที่ว่าการอำเภอใหม่ไปตั้งที่ริมแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออก ตำบลกระดังงา ใต้ปากคลองบางคนที เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอบางคนที ตั้งแต่นั้น - อำเภออัมพวา เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ทำการอำเภอยุคแรกอาศัยศาลาการเปรียญของวัดอัมพวันเจตาราม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท้ายตลาด ตำบลบางกะพ้อม ครั้งสุดท้ายได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองจนถึงปัจจุบัน แต่คงใช่ชื่ออัมพวา เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก ข้อมูลจาก : สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม, กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2549 เผยแพร่ : วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2563 เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ : 15 ตุลาคม 2562 ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_40313 (https://www.silpa-mag.com/history/article_40313) |