สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 10, 2020, 06:25:24 am



หัวข้อ: พระพุทธศาสนาเถรวาท กับ ม.67 ในรัฐธรรมนูญ
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 10, 2020, 06:25:24 am

(https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200708/news_ibFgPVMBwu133032_533.jpg)


พระพุทธศาสนาเถรวาท กับ ม.67 ในรัฐธรรมนูญ

รากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีแต่จะลุกลามขยายตัวในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และความเจริญผาสุกของประชาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นกฎหมายสูงสุดที่มีการประกาศใช้ปกครองประเทศมาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บรรจุถ้อยคำ “พระพุทธศาสนาเถรวาท” ปรากฏอยู่ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67

ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทําลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดําเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”


(https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200708/news_aTSKUzWNhy133047_533.jpg?v=20200710004?v=3577)

ปัญหาหลักที่เกิดกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยจำแนกได้สองประการ ประการแรกคือผู้ขอบวชเป็นภิกษุไม่มีความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาและไม่มีอัธยาศัยในการครองสมณเพศ วัดไม่มีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ขอบวชเป็นภิกษุอย่างถูกต้องและเหมาะสม เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของภิกษุอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) และการอบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) รวมถึงมีการล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ 227 ข้อ ไม่มีภูมิธรรมในการเผยแผ่ความรู้ทางพระพุทธ​ศาสนา​แก่อุบาสกและอุบาสิกาได้อย่างถูกต้อง

ประการที่สองคือ อุบาสกและอุบาสิกาซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์ มีการนับถือพระพุทธศาสนาที่ประพฤติปฏิบัติตามบรรพบุรุษ หรือบิดา มารดาอย่างผิดๆ ไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมอย่างถูกต้อง จึงเป็นคนเชื่อง่าย ตื่นมงคลในสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งมงายในไสยศาสตร์อย่างไม่มีเหตุผล จึงเป็นผู้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ไม่มีพระรัตนตรัยอันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ทำบุญด้วยความโลภ เชื่อในเดรัจฉานกถา และเดรัจฉานวิชา ยึดถือในวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ไม่เชื่อในกฎแห่งกรรม โดยเข้าสู่พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์หรือตัดกรรม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น

@@@@@@

รากเหง้าของปัญหาที่เกิดกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้มีแต่จะลุกลามขยายตัวในวงกว้างยิ่งขึ้นส่งผลกระทบต่อความเจริญมั่นคงของประเทศชาติ และความเจริญผาสุกของประชาชนเพราะคนในชาติมีแต่ความเห็นผิด ไม่เห็นโทษของการกระทำทุจริตทั้งทางกายและวาจาไม่ละอายชั่วกลัวบาป

การดำรงพระพุทธ​ศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงจึงต้องปฏิรูปกิจการสงฆ์ ซึ่งมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเพื่อให้พระพุทธ​ศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป กล่าวคือในทางโลกฝ่ายอาณาจักรซึ่งมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

(https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20200708/news_WMpUJJmLVT133048_533.jpg?v=20200710004?v=7866)

ในทางธรรมฝ่ายพุทธจักรซึ่งมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ จะต้องมีการบริหารจัดการกับการทำหน้าที่ของภิกษุอย่างเข้มงวดกวดขันให้เป็นไปตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด จะเป็นผลดีต่อ อุบาสก และอุบาสิกา เกิดการยอมรับและศรัทธาในวัตรปฏิบัติที่ตรงตามพระธรรมวินัย วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางทางศาสนา​ในชุมชนจะต้องเป็นสถานที่สงบสำหรับการศึกษาพระธรรมของผู้คนทั่วไปในสังคม และเป็นที่บำเพ็ญกุศล​เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธ​ศาสนากับภิกษุในพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของอุบาสกและอุบาสิกาอย่างแท้จริง

คณะกรรมการขับ​เคลื่อน​ยุทธศาสตร์​แห่งชาติ​และการปฏิรูป​ประเทศ​มีบทบาท​สำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง​เป็นไปตามพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา​เถรวาท​ตามรัฐธรรมนูญ​ฉะนั้นคณะกรรมาธิการ​ของสภาผู้แทนราษฎร​และวุฒิสภา​ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกิจการคณะสงฆ์จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง​และจริงจังเพื่อให้สำนักงานพระพุทธศาสนา​แห่งชาติและมหาเถรสมาคมประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด เมื่อพุทธบริษัท​มีความเห็น​ถูก (สัมมาทิฏฐิ) ​มากขึ้นสังคมไทยจะมีความสงบสุขตามที่คนในชาติ​มุ่งหวังกันไว้



คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขอบคุณภาพจาก : Pixabay
ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/article/783736 (https://www.dailynews.co.th/article/783736)
พฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2563 เวลา 10.00 น.