หัวข้อ: ปริศนาพระฝาง เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ พฤศจิกายน 08, 2020, 06:15:31 am (https://www.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5FZUIB4UtWBErs88IAf3nMXFTvCKh22ArQce20Mb1OB5HiBAE5Bgzh.webp) ปริศนาพระฝาง บ้านเมืองที่ต้องหาคณะกรรมการ มาหาวิธีสมานฉันท์ เพื่อ ระงับความวุ่นวาย อย่างนี้ ผมมักชวนเพื่อนไปไหว้พระ...เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้สงบใจ มีเรื่องระทึกอยู่บ้าง อย่างวันไปไหว้พระพุทธรูปทองโบราณลงจากรถไฟฟ้าที่สถานีอิสรภาพแล้ว ถามทางเดินเข้าซอยไปวัดหงส์ มารู้ข่าวทีหลังเวลาไล่เลี่ยกัน เลยไปถึงสถานีท่าพระ มีเสียงเหมือนระเบิด หยอกเอินทางการเมือง ก็ถือว่าคุณพระช่วย อยู่รอดปลอดภัยไปได้อีกวัน วันนี้ตั้งใจไปวัดเบญจมบพิตร...ครับ ก่อนเดินทางเปิดหนังสืออ่าน เป็นการบ้านล่วงหน้า ศิลปะสถาปัตยกรรมวัดเบญจฯ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชหฤทัยสร้างขึ้นเป็นวัดใหญ่ประณีตงดงามในเชิงช่าง โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงเป็นบรมครูในการช่างและศิลปะ ทรงออกแบบพระอุโบสถ เมื่อแล้วเสร็จมีพระราชประสงค์มีพระพุทธรูปที่งดงาม สมที่จะประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชดำริถึงพระพุทธชินราช ด้วยทรงเห็นว่า “จะหาพระพุทธรูปองค์ใดงามเสมอพระพุทธชินราชนั้น ไม่มีแล้ว” ทว่า “ครั้นจะเชิญลงมา ก็เห็นว่าเป็นหลักเป็นศรีของเมืองพิษณุโลก ประดิษฐานในเมืองนั้นตั้งแต่สร้างมา...” จึงโปรดให้หล่อพระพุทธชินราชจำลอง ถอดแบบพระพุทธชินราช เพื่ออัญเชิญลงมาแทน การหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ทำขึ้นที่พิษณุโลก โดยใช้ทองหนัก 3,940 กิโลกรัม เมื่อสำเร็จแล้ว จึงอัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2444 @@@@@@@ ผมไปกราบพระพุทธชินราชองค์จำลอง ในโบสถ์วัดเบญจฯแล้ว ก็งดงามแม้ไม่จับใจเท่าองค์จริงที่พิษณุโลก แต่เมื่อนึกถึง น้ำพระทัยรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อชาวพิษณุโลก ก็ได้ความซาบซึ้งใจชดเชย รอบอุโบสถวัดเบญจฯ มีพระโบราณศิลปะงามๆหลายยุคสมัยเรียงราย แต่ผมสะดุดใจ องค์ที่อยู่ในซุ้มบุษบก หน้าวิหารสมเด็จฯ คือพระฝาง พระองค์นี้ ศิลปะอยุธยา ปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช หน้าตักกว้างศอกคืบเศษ วัสดุสำริดปิดทอง เดิมท่านเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวางคบุรีมุนีนารถ จังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมเรียกวัดพระฝาง ตามนามผู้สร้าง คือพระพากุลเถรเจ้าอาวาสวัดพระฝาง ซึ่งตอนกรุงศรีอยุธยาแตก ตั้งตัวเป็นหัวหน้าก๊กใหญ่ก๊กหนึ่ง มีบันทึกว่า เมื่อพระเจ้าตากตีเมืองฝางได้ โปรดให้มีละคร ผู้หญิงสมโภชพระฝาง 7 วัน เท่ากับสมโภชพระพุทธลชินราช พระพุทธชินสีห์ ในรัชกาลที่ 5โปรดฯให้อัญเชิญมาวัดเบญจฯ และเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองปี 2444 มีพระราชนิพนธ์ถึงพระฝางว่า“พระอุโบสถที่กล่าวมาแล้วนั้น คือที่ไว้พระฝาง...ฐานยังอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้นพระฝางจึงขาดฐาน...” ปี 2451 มีพระราชหัตถเลขา ถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้น) ความว่า “ให้จำลองรูปพระฝาง ได้สั่งช่างรีบปั้นหุ่นถ่ายรูปไว้ด้วยแล้ว ให้กระทรวงมหาดไทยคิดจัดพระฝางกลับคืนไปไว้ที่เมืองฝาง ตามเดิมให้ทันรดูน้ำนี้” @@@@@@@ อาจารย์วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ผู้เขียนหนังสือพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เขียนทิ้งท้ายว่า “น่าประหลาดใจ ที่การณ์มิได้เป็นไปดังพระราชประสงค์ ด้วยพระฝางยังคงประดิษฐานอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตร จนถึงทุกวันนี้” ย้อนกลับไปอ่าน ตอนมีพระราชปรารภถึงพระพุทธชินราช “เป็นหลักเป็นศรีของเมืองพิษณุโลก” แล้ววกมา หากพระฝาง เป็นหลักเป็นศรีของเมืองฝาง...เมืองสวางคบุรี (หรืออุตรดิตถ์) น่าจะมีพระพุทธรูปคู่เมืองเชิดหน้าชูตากว่าปัจจุบัน. กิเลน ประลองเชิง ขอบคุณ : https://www.thairath.co.th/news/politic/1969776?cx_testId=7&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=0&cx_rec_section=lifestyle&cx_rec_topic=amulet#cxrecs_s (https://www.thairath.co.th/news/politic/1969776?cx_testId=7&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=0&cx_rec_section=lifestyle&cx_rec_topic=amulet#cxrecs_s) กิเลน ประลองเชิง ,6 พ.ย. 2563 05:01 น. |