หัวข้อ: มาดูหลักวินิจฉัย : สุรา แปลว่า เหล้า กินแล้วเมา เดินเซโซ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 09, 2020, 06:32:12 am (https://www.jaisangma.com/wp-content/uploads/2020/02/girl-1064664_1280-1024x682.jpg) ศีลข้อที่ ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการดื่มของมึนเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความมุ่งหมายของศีลข้อที่ ๕ นี้ ก็คือ ต้องการให้มนุษย์เรารักษาสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ไม่ทำลายสติสัมปชัญญะของตนเอง เพราะการเสพของมึนเมานั้น เป็นการทำลายสติสัมปชัญญะ เมื่อสติสัมปชัญญะถูกทำลายลงแล้ว ก็เป็นการง่ายที่คนคนหนึ่งจะทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม ผิดกฏหมายบ้านเมือง สุราและเมรัย - สุรา คือ น้ำเมาที่ได้มาจากการกลั่น หรือเหล้านั่นเอง - เมรัย คือ น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เช่น เหล้าดิบ กระแช่ น้ำตาลเมา เป็นต้น พวกยาเสพติดทั้งหลาย เช่น ยาบ้า ฝิ่น กัญชา มอร์ฟีน เป็นต้น รวมความว่า สิ่งเสพติดทั้งหลายทั้งปวง ก็รวมอยู่ในข้อนี้ด้วย หลักวินิจฉัย การที่บุคคลคนหนึ่งจะผิดศีลข้อที่ ๕ ต้องประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ คือ 1. น้ำที่ดื่มนั้นเป็นน้ำเมา 2. จิตคิดจะดื่มน้ำเมา 3. พยายามดื่มน้ำเมา 4. น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป - น้ำที่ดื่มนั้นเป็นน้ำเมา หมายถึง วัตถุ คือสิ่งที่เราจะดื่มหรือเสพนั้นต้องเป็นของมึนเมาจริง ๆ ถ้าคิดว่าจะดื่มเหล้า แต่ไปคว้าเอาแก้วน้ำชามาดื่ม ถึงมีจิตคิดจะดื่มเหล้า แต่วัตถุไม่ใช่ของมึนเมา ก็ไม่ผิด เพราะองค์ไม่ครบ - จิตคิดจะดื่มน้ำเมา คือ ผู้ที่ดื่มหรือเสพนั้น ต้องมีความคิดหรือความตั้งใจที่จะดื่มเหล้าหรือเสพของมึนเมาจริง ๆ ศีลจึงจะขาด ถ้าเอาเหล้ามาเป็นส่วนผสมของยาบางชนิด แล้วเราดื่มยานั้นเข้าไป จิตคิดจะดื่มเหล้าไม่มี อย่างนี้ศีลก็ไม่ขาด เพราะเราตั้งใจกินยา ไม่ได้ตั้งใจกินเหล้า - พยายามดื่มน้ำเมา หมายถึง กิริยาคือการดื่มนั่นเอง ถ้ามีเหล้าอยู่ในมือ มีความคิดจะดื่มเหล้า แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ดื่ม ศีลก็ยังไม่ขาด เมื่อใดที่ทำกิริยาคือการดื่มและน้ำเหล้าล่วงลำคอลงไป ศีลจึงขาด - น้ำเมานั้นล่วงลำคอลงไป คือ เมื่อกลืนของมึนเมานั้นเข้าไป เช่น ดื่มเหล้า เมื่อเหล้านั้นไหลล่วงลำคอลงไป ถือว่าศีลขาด @@@@@@@ โทษของการดื่มเหล้า ๖ ประการ ๑. เหล้าทำให้เสียทรัพย์ ไม่มีสิ่งใดได้มาฟรี ๆ เหล้าก็เช่นกัน เมื่อคิดจะดื่มเหล้า แน่นอนว่าต้องเสียเงินซื้อเหล้า ดื่มคนเดียวก็เสียคนเดียว ดื่มหลายคนก็เสียทรัพย์กันหลายคน หรือถ้ามีคนใจใหญ่หน่อยก็อาจจะเสียทรัพย์แค่คนเดียว คือเสียเงินซื้อเหล้าเลี้ยงเพื่อน แต่ไม่ว่าจะเสียทรัพย์กี่คนก็ตาม เหล้า มันก็ทำให้เสียทรัพย์ทั้งนั้น ๒. เหล้าเป็นเหตุก่อวิวาท เมื่อเหล้าเข้าปาก นิสัยคนก็เปลี่ยน กลายเป็นคนที่มีความกล้าขึ้นมาทันที อะไรชั่ว ๆ กล้าทำหมด กล้าด่า กล้าพูดจายียวนกวนประสาท กล้าสารพัดจะกล้า สุดท้ายก็ก่อการทะเลาะวิวาทกันเองในวงเหล้าบ้าง ทะเลาะกับคนอื่นบ้าง ก่อให้เกิดการทำร้ายกัน และถึงขั้นฆ่ากันตายก็มีมาเยอะแล้ว ๓. เหล้านำโรคมาให้ เหล้าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อทางเดินอาหาร ระบบประสาท ทางเดินโลหิต ต่อมไร้ท่อ และระบบการหายใจ ในวงการแพทย์ต่างประเทศที่วิจัยปัญหาเรื่องสุราอย่างละเอียด ก็ได้สรุปว่า โรคติดสุรา มีอยู่ ๔ ประเภท คือ - โรคเมาสุรา (Pathological) - โรคไข้เหล้า (Delirium Tremens) - โรคเหล้าละลายประสาท (Horsakoff’ syndrome) - โรคเหล้าละลายจิต (Acute hallucinosis) ๔. เหล้าทำให้เสียชื่อเสียง เหล้า เป็นตัวทำลายสติสัมปชัญญะ คนที่มีชื่อเสียง เมื่อดื่มเหล้าเข้าไป ความเมาอาจทำให้ทำอะไรที่เป็นการเสื่อมเสียชื่อเสียง เป็นที่อับอายขายหน้าได้ง่าย ๆ แม้แต่บุคคลทั่วไป เมื่อเมาขึ้นมาแล้ว ย่อมสามารถทำความผิดได้ทุกอย่าง ทุกเวลา เมื่อทำความผิด ย่อมเป็นเหตุให้เสียชื่อเสียงได้ทุกคน ๕. เหล้าเป็นเหตุให้ทำสิ่งที่น่าอดสู วิญญูชนย่อมรักเกียรติรักศักดิ์ศรีของตนเอง แต่เมื่อใครก็ตามที่ได้ดื่มเหล้าไปแล้ว ความเมาอันเกิดจากเหล้าย่อมทำให้เขาทำสิ่งที่น่าอับอายต่อหน้าสาธารณชนได้อย่างไม่มีความรู้สึกกระดากอาย ๖. เหล้าบั่นทอนกำลังปัญญา เหล้า เป็นตัวทำลายสติสัมปชัญญะ เมื่อขาดสติสัมปชัญญะ ปัญญาก็ลดน้อยถอยลงไป คนที่ดื่มเหล้าจนติด จะขาดปัญญาพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ไม่สามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นบุญ สิ่งใดเป็นบาป ขอบคุณ : https://www.jaisangma.com/the-fifth-precept/ (https://www.jaisangma.com/the-fifth-precept/) บทความของ : ใจสั่งมา ,19/02/2020 |