หัวข้อ: “พระนอนหงาย” กับตำนานเรื่อง “พระยาพิชัยดาบหัก” ร่วมปฏิสังขรณ์ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 23, 2020, 06:07:24 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/02/5-696x522.jpg) พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง หรือพระนอนหงาย ที่วัดราชคฤห์ “พระนอนหงาย” กับตำนานเรื่อง “พระยาพิชัยดาบหัก” ร่วมปฏิสังขรณ์ วัดราชคฤห์วรวิหาร มีพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง หรือพระนอนหงาย ซึ่งมีอายุเก่าแก่นับตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเอกาทศรถ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีความสมบูรณ์อย่างมาก ในหนังสือประวัติวัดราชคฤห์วรวิหาร พ.ศ. 2549 ได้ให้ข้อมูลประวัติพระนอนหงายในสมัยกรุงธนบุรีเพิ่มเติมว่า “พระยาพิชัยดาบหัก ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วิหารเล็กแล้ว จากนั้นก็บูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง (พระนอนหงาย) เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลให้แก่เพื่อนทหารที่เป็นข้าศึกและชาวบ้านที่ล้มตายเป็นจำนวนมาก เพราะตนเป็นต้นเหตุเป็นเหมือนการชดใช้ถ่ายกรรมที่ตนได้ฆ่าคนตายไป ดังนั้นชาวบ้านจึงนิยมมากราบไหว้ขอถ่ายกรรมและขอพร เพื่อให้ประสบความสำเร็จ มีโชคมีลาภ เป็นการแก้ร้ายให้กลับกลายเป็นดีกันเป็นจำนวนมาก” (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/02/6.jpg) พระปรางค์พระยาพิชัยดาบหัก ที่เชื่อกันว่าบรรจุอัฐิของพระยาพิชัย ณ วัดราชคฤห์ ด้านหลังขวามือคือพระวิหารใหญ่ ซ้ายมือคือ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองบนภูเขามอประวัติของวัดราชคฤห์มีอยู่หลายสำนวน และพระยาพิชัยดาบหักก็มักจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวเหล่านี้อยู่ด้วย แต่จากที่ ทัศน์ ทองทราย ไปค้นหาข้อมูลมาทั้งหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 4 วัดสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมศิลปากร พ.ศ. 2525 และหนังสือประวัติวัดราชคฤห์ โดย ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2528 ระบุเพียงว่า “ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี คงมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด เพราะเชื่อว่าพระยาพิชัยดาบหัก แม่ทัพสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้สร้างพระอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันคือพระวิหารใหญ่ และพระปรางค์ด้านหน้าพระวิหารใหญ่” (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2017/02/2-1.jpg) พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ สมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่ สุรินทร์ มุขศรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เรื่องของพระยาพิชัยมีข้อน่าสังเกตคือ หากพระยาพิชัยเป็นผู้สร้างโบสถ์ที่วัดนี้ท่านควรจะสร้างขึ้นช่วงใด เนื่องจากดูตามประวัติแล้วพระยาพิชัยมีเวลาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงธนบุรีน้อยมากเพราะต้องออกจากสงครามตลอด ครั้นปี ๒๓๑๒ ได้ขึ้นไปเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพิชัย เพื่อคุมกำลังป้องกันพม่าอยู่ทางหัวเมืองเหนือ จนเสร็จศึกที่เมืองเชียงใหม่ในปี ๒๓๑๗ พระยาพิชัยจึงมีโอกาสตามเสด็จลงมากรุงธนบุรีอีกครั้ง แต่อยู่ได้ไม่ถึงปี อะแซหวุ่นกี้ก็ยกมาล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ พระยาพิชัยขึ้นไปรบพร้อมกับทัพหลวง และหลังศึกคราวนี้ท่านรักษาการอยู่ที่เมืองพิชัยจนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” ประวัติวัดราชคฤห์จึงยังมีความคลุมเครือ แต่ก็มีความน่าสนใจให้ศึกษา และยังมีพระพุทธรูปลักษณะพิเศษที่หาชมได้ยาก ชาวพุทธหรือผู้สนใจประวัติศาสตร์ท่านใด หากได้แวะเวียนไปย่านธนบุรี ก็น่าพิจารณาหาโอกาสเข้าเยี่ยมชมวัดเก่าแก่แห่งนี้ดู อ้างอิง : “วางดาบ ถ่ายกรรม ก่อเขา จารึก คลุมเครือ” ที่วัดราชคฤห์วรวิหาร. ทัศน์ ทองทราย. นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2552 ผู้เขียน : วันชนะ กล่ำแก้ว เผยแพร่ : วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_6153 (https://www.silpa-mag.com/history/article_6153) |