สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มกราคม 28, 2021, 05:54:44 am



หัวข้อ: ชาวพุทธพึงหันมา "ทานมังสวิรัติ" | พระพุทธองค์ "ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์" ในบางกรณี
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 28, 2021, 05:54:44 am
 :25: :25: :25:

ชาวพุทธพึงหันมา "ทานมังสวิรัติ" | พระพุทธองค์ "ห้ามภิกษุฉันเนื้อสัตว์" ในบางกรณี

มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในข้อปฏิบัติ ระหว่างพุทธเถรวาทกับพุทธมหายาน กล่าวคือฝ่ายมหายานจะเน้นปฏิบัติเรื่องการรับประทานมังสวิรัติ ชาวพุทธมหายานจึงเคร่งครัดในเรื่องการไม่เบียดเบียนหรือทำลายชีวิตสัตว์อื่น ข้อปฏิบัติว่าด้วยการไม่รับประทานเนื้อสัตว์จึงนำไปสู่การปลูกฝังจิตใจของชาวพุทธมหายานให้เป็นผู้มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังเช่นพระโพธิสัตว์ที่มีเมตตากรุณาต่อทุกชีวิต

ในภพชาติที่ล่วงมา ก่อนประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ได้ผ่านการบำเพ็ญบารมีในคุณธรรมด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ทาน การเสียสละ และการอุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ แม้ในชาติสุดท้าย เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวชและสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเข้าสู่อรหัตผล แต่ฝ่ายมหายานกลับให้ความสำคัญในเรื่องของการบำเพ็ญทานบารมีและเมตตาบารมีที่พระพุทธองค์ได้สั่งสมมาจนนับชาตินับอสงไขยไม่ถ้วน ยิ่งกว่าการบรรลุธรรมเข้าสู่นิพพานที่พระพุทธองค์ได้บำเพ็ญเพียงในชาติสุดท้ายชาติเดียว

แม้การได้หลุดพ้นจากสังสารวัฏไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดต่อไปจะเป็นความมุ่งหวังของชาวพุทธทั้งหลาย แต่ฝ่ายมหายานกลับหันมาเน้นการปฏิบัติธรรมในส่วนของการให้ทาน การมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ และการช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหลายยิ่งกว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อเอาตัวรอดเข้าสู่นิพพานแต่ผู้เดียว ชาวพุทธมหายานจึงมองเห็นความสำคัญของจิตที่มีเมตตาและมีทานบารมียิ่งกว่าการเข้าสู่นิพพาน

@@@@@@@

ด้วยความทุกข์ยากของสัตว์โลกทั้งหลายที่มีอยู่อย่างท่วมท้น ฝ่ายมหายานจึงไม่ต้องการนิพพานและไม่ต้องการละทิ้งสัตว์โลกทั้งหลายที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด ให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเกิด แก่ เจ็บ ตายแต่ลำพังผู้เดียว พวกเขาต้องการกลับมาเกิดและอยู่ช่วยเหลือสัตว์โลกต่อไป

ชาวพุทธมหายานไม่ต้องการนิพพาน จนกว่าพวกเขาจะได้ขนสัตว์โลกทั้งหลายให้ก้าวพ้นไปจากสังสารวัฏเสียก่อน แม้ว่าพวกเขาจะต้องกลับมาเวียนเกิดเวียนตายและทนทุกข์ทรมานอีกภพกี่ชาติก็ตาม

ภพชาติในปางก่อนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเน้นการปฏิบัติทานและเมตตาบารมีมาตลอดอันยาวไกล การใช้เวลาอันยาวนานจนนับอสงไขยไม่ถ้วนเพื่อบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธองค์จึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธมหายานให้ความสำคัญยิ่ง เพราะเหตุที่ต้องใช้กาลเวลาในการบำเพ็ญบารมีในภพชาติอันยาวไกล อีกทั้งยังต้องทนทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ ในการถือปฏิบัติเมตตาบารมีอย่างแสนสาหัส ชาวพุทธมหายานจึงเน้นการปฏิบัติเรื่องการรับประทานมังสวิรัติเป็นสำคัญ

ชาวพุทธมหายานต้องการดำเนินชีวิตของพวกเขาเพื่อการปฏิบัติธรรมให้เป็นไปตามแบบอย่างที่พระพุทธองค์ได้เคยดำเนินมาก่อนแล้ว นั่นคือการให้ความสำคัญกับการบำเพ็ญทานบารมีที่ชาวพุทธมหายานจะต้องถือปฏิบัติแม้จะใช้เวลาอันยาวนานจนชั่วกัปชั่วกัลป์ก็ตาม ชาวพุทธมหายานจึงพร้อมเสียสละชีวิตและยอมทนทุกข์ทรมานร่วมกับสัตว์โลกทั้งหลายด้วยจิตใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งปวง อันนับเป็นกุศลผลบุญและความศรัทธาตั้งมั่นที่ชาวพุทธมหายานได้เดินตามรอยพระบาทขององค์พระศาสดาที่ได้เคยบำเพ็ญมาก่อนแล้ว

@@@@@@@

ชาวพุทธมหายานเชื่อว่าการได้บำเพ็ญทานบารมีอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าจะยาวนานสักเพียงใดก็ตาม เมตตาบารมีที่ได้สั่งสมไว้นั้นจะนำพาพวกเขาไปสู่การบรรลุธรรมและเข้าสู่อรหัตผลได้ในที่สุด ทั้งนี้ด้วยกระแสธรรมแห่งทานบารมีที่นำส่งพวกเขาไป เยี่ยงเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้บรรลุธรรมในชาติสุดท้ายภายหลังจากได้บำเพ็ญทานบารมีมาอย่างยาวนาน

การบำเพ็ญทานบารมีกับการกินมังสวิรัติถือเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการให้ทานและให้ชีวิตแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอันเกิดจากจิตที่มีเมตตา จิตที่ไม่ต้องการเบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ต้องการทำลายชีวิตสัตว์อื่น การกินมังสวิรัติจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของชาวพุทธมหายาน พวกเขาเน้นการให้ความเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลายเป็นสำคัญยิ่ง เพราะสัตว์ทุกตัวต่างรักชีวิตและกลัวความตายด้วยกันทั้งสิ้น

จิตที่เปี่ยมด้วยเมตตาได้พาดำเนินไปสู่จิตที่เปี่ยมด้วยธรรม ด้วยเหตุนี้จิตที่เปี่ยมด้วยเมตตาของพระพุทธองค์จึงได้นำพระพุทธองค์ไปสู่การตรัสรู้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระพุทธองค์จะคิดเบียดเบียนและทำลายชีวิตสัตว์อื่น คุณค่าของเมตตาบารมีจึงมีความสำคัญไม่น้อยกว่าคุณค่าแห่งหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ เพราะหากไม่มีทาน ไม่มีเมตตา การบรรลุธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้

ขอให้ชาวพุทธทั้งหลายพึงตระหนักว่า ด้วยพระเมตตาอันสูงยิ่ง พระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์แม้แต่น้อยที่จะให้มีการฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์อื่น การทำลายชีวิตสัตว์อื่นหรือส่งเสริมให้มีการทำลายชีวิตสัตว์อื่นด้วยการกินเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่าและกลืนกินเข้าไปนั้นจะทำให้จิตใจของชาวพุทธกลับกลายเป็นความหยาบกระด้าง แข็งกร้าว และหาความสุขสงบอันประณีตไม่ได้เลย จิตที่มัวหมองและตื่นผวาอยู่ตลอดจาการกินเนื้อสัตว์เช่นนี้ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อชาวพุทธในการปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา ทำให้การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั้งหลายไม่อาจก้าวหน้าได้

(https://www.matichon.co.th/wp-content/uploads/2017/05/ภป-มังสวิรัติ-728x443.jpg)

หากเราปล่อยให้จิตของเราเดินไปสู่ความเสื่อมทรามเช่นนี้ การดำเนินของจิตที่เป็นไปด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่นจึงสวนทางกับจิตที่เปี่ยมด้วยทานบารมีของพระโพธิสัตว์ และขัดแย้งต่อจิตที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาขององค์พระศาสดา ร่างกายอันหยาบกร้านและส่งกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการกินเนื้อสัตว์ และจิตที่มัวหมองอันเป็นผลจากการฆ่าหรือส่งเสริมให้ฆ่าย่อมไม่อาจก้าวเดินต่อไปในทางธรรมและต้องติดอยู่ในสังสารวัฏนี้อีกยาวนาน

ทั้งกายและจิตที่จมอยู่กับซากศพของสัตว์ต่างๆ นานาที่กินเข้าไป จึงเป็นเหตุให้เกิดความยากลำบากให้แก่บุคคลผู้นั้นที่จะพัฒนาและยกจิตใจของเขาเข้าสู่กระแสธรรม เมื่อไม่อาจดำเนินชีวิตในทางธรรม บุคคลผู้นั้นจึงไม่อาจรักษาศีลและไม่อาจปฏิบัติสมาธิภาวนาได้

ดวงวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายที่ถูกฆ่าทำลายจะมาวนเวียนรบกวนการปฏิบัติสมาธิภาวนาและการปฏิบัติธรรมของบุคคลผู้นั้น หนทางชีวิตของเขาจึงติดขัด ไม่อาจก้าวข้ามไปสู่ภพชาติอันประณีตต่อไปได้

ชาวพุทธที่ปฏิบัติธรรมจึงพึงละเว้นการกินเนื้อสัตว์ เมื่อท่านหันมารับประทานมังสวิรัติ จิตของท่านจะเบาสบาย ร่าเริงและเป็นสุข จิตที่บริสุทธิ์แจ่มใสเท่านั้นที่จะเอื้อและเหมาะแก่การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ในลังกาวตารสุกรได้แสดงเหตุที่ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ว่า “ในสังสารวัฏ คนที่ไม่เคยเป็นบิดามารดา ไม่เคยเป็นพี่น้องกัน ไม่มี สัตว์ทุกตัวตนมีความสัมพันธ์กันทั้งสิ้นไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง”

@@@@@@@

ด้วยเหตุนี้องค์พระศาสดาจึงไม่ตรัสอนุญาต “ภิกษุใดปรารถนา ก็จงกินเนื้อสัตว์” กล่าวคือไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุฉันเนื้อสัตว์ เว้นแต่การฉันนั้นจะเป็นไปตามพระวินัยที่พระพุทธองค์ได้วางไว้คือ 1 ไม่ได้เห็น 2 ไม่ได้ยิน และ 3 ไม่ได้รังเกียจสงสัย การกินเนื้อสัตว์โดยมีเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนี้ย่อมแสดงว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับการกินเนื้อสัตว์

แต่ด้วยข้อจำกัดที่ภิกษุสงฆ์ต้องอาศัยชาวบ้านในเรื่องปากท้อง และเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมของชนชั้นพราหมณ์ในครั้งพุทธกาลที่ยังมีการฆ่าสัตว์บูชายัญ ทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนาได้มีโอกาสวางรากฐานและเผยแผ่สืบต่อไป การจะเคร่งครัดห้ามฉันเนื้อสัตว์เสียทีเดียวย่อมกระทบต่อหมู่สงฆ์ที่ต้องอาศัยอาหารจากชาวบ้านเพื่อการปฏิบัติธรรม และยังอาจกระทบต่อพระพุทธศาสนาจนไม่อาจลงรากปักฐานสืบต่อไปได้

ชาวพุทธมหายานได้ตระหนักถึงความศรัทธาของพวกเขาในการกินมังสวิรัติ พวกเขาเชื่อมั่นและศรัทธาในเรื่องของเมตตาและทานบารมี แต่ฝ่ายเถรวาทกลับยึดติดอยู่กับพระธรรมวินัยที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกว่าด้วยการฉันเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่รังเกียจ ฝ่ายเถรวาทจึงยอมรับการกินเนื้อสัตว์ ชาวพุทธเถรวาทจึงเพิกเฉยต่อทานบารมีและเมตตาบารมีอันเป็นพระประสงค์อันแท้จริงของพระพุทธองค์ที่ไม่ต้องการให้เบียดเบียนทำลายชีวิตสัตว์อื่น

@@@@@@@

การกินเนื้อสัตว์ทำให้ชาวพุทธเถรวาทไม่ใส่ใจต่อความทุกข์ยากของสัตว์อื่น ไม่เห็นความสำคัญของชีวิตของสัตว์อื่น ทำให้ชาวพุทธเถรวาทกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เมื่อเป็นคนเห็นแก่ตัวจึงมักเกิดความโลภได้ง่าย ความโลภเป็นเหตุทำให้ชาวพุทธเถรวาทปฏิบัติธรรมน้อยลง แต่กลับไปหลงใหลในเรื่องโภคทรัพย์และยศถาบรรดาศักดิ์ ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเป็นไปอยู่เช่นนี้ ชาวพุทธเถรวาทจึงตกอยู่ในความเสี่ยงภัยจากการที่จิตใจของพวกเขากำลังเหินห่างออกไปจากหลักธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา สิ่งแปดเปื้อนทางโลกธรรมและวัตถุสิ่งของได้เข้ามาบดบังวิถีแห่งธรรมของชาวพุทธไปจนหมดสิ้น ทั้งนี้เพราะเหตุที่มาจากการที่พวกเขากินเนื้อสัตว์นั่นเอง

กายและจิตของพระพุทธองค์ที่เข้าสู่อรหัตผลจึงบริสุทธิ์สะอาดและเปี่ยมด้วยกุศลมูล กายและจิตของพระพุทธองค์จึงไม่ยอมรับอกุศลกรรมและสิ่งแปดเปื้อนใดๆ ที่เข้ามากระทบต่อกายและจิตของพระองค์ สุกรมัททวะ อันได้แก่ อาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุนทะถวายแก่พระพุทธองค์อันประกอบด้วยเนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ธาตุกายและจิตที่บริสุทธิ์สะอาดของพระองค์ไม่อาจยอมรับได้ รวมทั้งภิกษุสาวกทั้งหลายที่ติดตามพระพุทธองค์ไปด้วยต่างล้วนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ตรัสแก่นายจุนทะให้นำอาหารเหล่านั้นไปฝังเสีย

การฉันสุกรมัททวะจึงเป็นเหตุทำให้พระพุทธองค์ประชวร กายสังขารที่ประกอบด้วยธาตุอรหันต์ของพระพุทธองค์ต้องแตกดับลงเพราะไม่อาจทนต่อสิ่งแปดเปื้อนได้

                           ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ



คอลัมนิสต์ : ชาวพุทธพึงหันมาทานมังสวิรัติ โดย ประสิทธิ์ พฤกษาจารสิริ
ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_556675 (https://www.matichon.co.th/columnists/news_556675)
วันที่ 13 พฤษภาคม 2560 - 13:50 น.