หัวข้อ: "การวิจารณ์" เป็นกลไกตามธรรมชาติ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มกราคม 29, 2021, 06:15:08 am (https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20210121/news_YTXQZaYOdw151450_533.jpg) "การวิจารณ์" เป็นกลไกตามธรรมชาติ การทดลองของบริษัท เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ให้อิสระที่จะกำหนดวันหยุดพักผ่อนได้ ปรากฏว่า ผลิตภาพของบริษัทดีขึ้น คนเก่งสมัครมาทำงานมากขึ้น ทำไมหลายบริษัทในหุบเขาซิลิคอน (ซิลิคอนแวลเลย์) จึงเลียนแบบกัน ยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมวันลาพักผ่อน ปล่อยให้พนักงานแต่ละคนตัดสินใจอิสระว่าจะพักเมื่อใด นานแค่ไหน กี่ครั้ง สิ่งนี้คงเป็นเรื่องแปลกประหลาด สำหรับผู้บริหารองค์กรจำนวนมาก ในสายตาของผู้บริหารเหล่านี้ การทำเช่นนั้นคงไม่ต่างจากปล่อยเสือเข้าป่า พนักงานคงถือโอกาสหนีงาน เกงาน ขนาดมีกฎเกณฑ์ เมื่อใดที่รัฐบาลประกาศวันหยุด หรือยามปกติ พนักงานยังถือโอกาสลาพักผ่อนพ่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ลากยาว แล้วอะไรทำให้บริษัทในหุบเขาซิลิคอนเหล่านั้นทำเรื่องประหลาดน่าหวาดเสียวอย่างนี้ บริบทกำหนดพฤติกรรม เป็นความจริงที่ถูกมองข้าม บริบทของหุบเขาซิลิคอน เป็นบริบทที่ให้กำเนิดบริษัทใหม่ (startup) ที่จะอยู่ได้ต้องสามารถแข่งขันหนักหน่วง ความล้มเหลวคือความตาย บริบทใหญ่กว่าที่ครอบบริบทแห่งหุบเขาซิลิคอนคือบริบทสังคมอเมริกันซึ่งรัฐมีกฎหมายป้องกันการผูกขาด ที่เอาจริงทำให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องแตกลูกหลานเมื่อโดนกฎหมายเล่นงาน (https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20210121/news_JQeeIApcYN151450_533.jpg?v=202101272110?v=6031) นอกจากนั้นสังคมอเมริกันยังมีเอกลักษณ์ของสังคมเปิด ดึงดูดคนต่างชาติให้เข้าไปทำงานและใช้ชีวิต จะยกเว้นก็ในยุคทรัมป์ครองเมือง ไม่เพียงดึงดูดคน ยังมีระบบสร้างคนนั่นคือระบบการศึกษาซึ่งบางส่วนสร้างคนเก่งระดับโลก ดังที่เราได้ยินชื่อเสียงมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง เอ็มไอที ฮาร์วาร์ด ฯลฯ ปลายแหลมทอง สิงคโปร์เป็นแบบอย่างของรัฐที่ประยุกต์ใช้การนำเข้ามันสมองและสร้างระบบการศึกษาที่ล้ำยุค ทำให้สิงคโปร์ก้าวกระโดดในชั่วอายุรุ่นเดียวจากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวยแบบอเมริกัน เป็นแรงบันดาลใจให้ เติ้ง เสี่ยวผิง นำไปใช้กับจีนจนทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร จนเป็นที่เกรงขามและขัดเคืองของประเทศร่ำรวยเดิม (https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20210121/news_RVfASWlDsH151450_533.jpg?v=202101272110?v=5783) ในบริบทดังกล่าว การดึงดูดคนเก่งเข้าบริษัทคือไม้ตายอย่างหนึ่งในการอยู่รอดและเติบโต ธรรมชาติของคนเก่งคือ รักความเป็นอิสระ การทดลองของบริษัท เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ให้อิสระที่จะกำหนดวันหยุดพักผ่อนได้ ปรากฏว่า ผลิตภาพของบริษัทดีขึ้น คนเก่งสมัครมาทำงานมากขึ้น ย้ายไปที่อื่นน้อยลงจนเน็ตฟลิกซ์ได้รับการจัดอันดับสูงสุดในบรรดาบริษัทแห่งหุบเขาซิลิคอนที่คนเก่งอยากมาทำงานด้วย อย่างไรก็ตาม คำว่าอิสระดังกล่าววางอยู่บนเงื่อนไขเดียวคือ มีอิสระตราบเท่าที่ยังเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่บริษัท และ เน็ตฟลิกซ์ไม่ติดตามว่าพนักงานแต่ละคนลาพักผ่อนเมื่อใด นานแค่ไหน กี่หนต่อปี ถ้าบริษัทอื่นจะเลียนแบบ ถามว่ามีหลักประกันอะไรว่าจะไม่เจ๊ง (https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20210121/news_bTOGDdUdby151450_533.jpg?v=202101272110?v=4315) ในหนังสือ ที่ซีอีโอเน็ตฟลิกซ์เขียนร่วมกับศาสตราจารย์ด้านการจัดการผู้หนึ่ง ระบุว่าขั้นตอนก่อนการให้อิสระนี้คือ การดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ให้มากจนถึงมวลวิกฤติ และการกระตุ้นให้พนักงานทุกระดับวิจารณ์การทำงานอย่างสร้างสรรค์ สม่ำเสมอ กับทุกๆ คนไม่เว้นแม้แต่ซีอีโอ เน็ตฟลิกซ์บอกกับพนักงานว่า บริษัทจ้างคุณมาเพื่อให้แสดงความเห็น นั่นคือให้คุณค่าสูงสุดแก่การแสดงความเห็น (เชิงสร้างสรรค์) ในทางชีววิทยา สิ่งมีชีวิตธำรงรักษาสมดุลระบบร่างกายได้ด้วยการมีระบบป้อนกลับ (feedback) เพื่อให้แต่ละอวัยวะปรับตัวได้อย่างเหมาะสมบรรสานสอดคล้องกันท่ามกลางสิ่งแวดล้อมภายในร่างกายและภายนอกร่างกายที่แปรเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง ฉันใดก็ฉันนั้น การส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานวิจารณ์เช่นที่เน็ตฟลิกซ์ทำย่อมเป็นการเลียนแบบระบบธรรมชาติ ที่ผิดธรรมชาติจึงเป็นการปฏิเสธการวิจารณ์ ซึ่งพบเห็นได้ดาษดื่นไม่ว่าในสังคมใด คอลัมน์ : เวทีชวนคิด โดย : ชวนคิด ขอบคุณ : https://www.dailynews.co.th/article/820448 (https://www.dailynews.co.th/article/820448) พุธที่ 27 มกราคม 2564 เวลา 08.00 น. |