หัวข้อ: เที่ยววัดเก่าเมืองนนท์ “วัดปราสาท” ยลโบสถ์มหาอุดอันงดงามสมัยอยุธยา เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2021, 05:20:35 am (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184701.JPEG) วัดปราสาท เป็นอีกหนึ่งวัดโบราณของจังหวัดนนทบุรี เที่ยววัดเก่าเมืองนนท์ “วัดปราสาท” ยลโบสถ์มหาอุดอันงดงามสมัยอยุธยา “วัดปราสาท” เป็นอีกหนึ่งวัดโบราณของจังหวัดนนทบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นปีที่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184702.JPEG) อุโบสถก่ออิฐถือปูนศิลปะสมัยอยุธยา ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่ “อุโบสถ” มีลักษณะการสร้างแบบก่ออิฐถือปูนศิลปะสมัยอยุธยา ตัวอุโบสถลักษณะคล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมัยกรุงศรีอยุธยา มีประตูทางเข้าอุโบสถ 3 บาน ไม่มีการสร้างหน้าต่าง ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการสร้างช่องแสงด้านหลังองค์พระประธาน 1 ช่อง เพื่อให้แสงสว่างกระจายไปทั่วพระประธาน เสมือนมีพระรัศมีส่องแสงออกมา ถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญามหัศจรรย์ที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ไว้ (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184703.JPEG) อุโบสถลักษณะคล้ายท้องเรือสำเภา (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184704.JPEG) หน้าบันมีการจำหลักลายไม้อันงดงาม บริเวณหลังคาอุโบสถ สร้างจากไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีการจำหลักลายไม้อันงดงามเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ถือเป็นอีกหนึ่งงานศิลป์ชั้นครูที่ยากจะหาชมได้ในปัจจุบัน (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184705.JPEG) ด้านหน้าทางเข้าอุโบสถ (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184706.JPEG) ภายในอุโบสถ ภายในอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังภาพทศชาติชาดก ซึ่งปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา พระพุทธรูปประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ ประดิษฐานพร้อมพระสาวกและหมู่พระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิและปางมารวิชัยอีกกว่า 25 องค์ (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184707.JPEG) พระประธานและพระพุทธรูปจัดเป็นหมู่ โดยพระประธานและพระพุทธรูปจัดเป็นหมู่รอบองค์พระประธานดูจากฐานชุกชีเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง ส่วนพระประธานปางสมาธิเป็นศิลปะอู่ทอง ขนาดหน้าตัก 3.77 เมตร ภายในอุโบสถวัดปราสาทมีพระพุทธรูปทั้งหมด 25 องค์ เปิดให้กราบไหว้สักการะทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184708.JPEG) ภาพจิตรกรรมฝาผนังทศชาติชาดก สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังตอนบนสุดเขียนภาพอดีตพุทธะ ถัดลงมาเป็นวิทยาธรเหาะประนมหัตถ์ถือดอกบัว อยู่เหนือภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก คั่นด้วยเทวดายืนประคองอัญชลีหันหน้าเข้าหาพระประธาน ปัจจุบันตัวภาพจิตรกรรมลบเลือนไปมาก แต่ยังคงเห็นเค้าภาพสะท้อนถึงวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือน รวมถึงราชประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อาทิ ศิราภรณ์ประดับศีรษะบุคคลสูงศักดิ์ กระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ยานมาศ ทั้งสัปคัป เสลี่ยง เครื่องประดับสถาปัตยกรรม และการแต่งกายต่างๆ (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184709.JPEG) ภาพจิตรกรรมลบเลือนไปมาก ส่วนธรรมาสน์บุษบกวัดปราสาท สันนิษฐานสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยลายหน้าบันคล้ายลายบานประตูวิหารน้อยวัดหน้าพระเมรุ เป็นระบบลายสมัยอยุธยาตอนกลางถึงอยุธยาตอนปลายงานจำหลักไม้ ปิดทองประดับกระจก ยอดปราสาท ฝีมือประณีต บริเวณวัดยังมี “วิหารบูรพาจารย์” เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อสนธิ์ ธมมสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาท พระเกจิคณาจารย์สายเหนียว เมืองนนท์ยุคเก่า เจ้าตำหรับวิชาโบราณ กระสุนคต วัตถุมงคลของท่านเป็นที่มีชื่อเสียงในการอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า มหาอุด เป็นที่ต้องการของลูกศิษย์ทั่วทั้งจังหวัดนนทบุรีและทั่วประเทศ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเรือนปั้นหยาคู่สองหลัง เป็นเรือนไม้สักทองแบบยุโรป สร้างในสมัยร.๕ มุงหลังคาด้วยกระเบื้อง หลังคาทุกด้านชนกันแบบพีระมิดไม่มีหน้าจั่ว ใช้เป็นหอสวดมนต์ในสมัยพระอธิการสนธิ์ ธมมสโร อดีตเจ้าอาวาสวัด (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184710.JPEG) หอพระไตรปิฏกกลางน้ำ ด้านในมี “หอพระไตรปิฏกกลางน้ำ” สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2540 เป็นลักษณะอาคารไม้ อยู่เหนือสระน้ำมนต์เก่าแก่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกกันว่าสระน้ำมนต์หลวงปู่ตุ้ม ภายในมีบันไดพญานาคเก่าแก่หลายร้อยปีที่เก็บรักษาไว้ (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184711.JPEG) มีบันไดพญานาคเก่าแก่หลายร้อยปี (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184712.JPEG) ต้นตะเคียนยักษ์อายุกว่า 1,000 ปี หากเดินถัดไปจะเจอกับ “ต้นตะเคียนยักษ์” อายุกว่า 1,000 ปี ชาวบ้านวัดปราสาท เล่าว่า ต้นตะเคียนดังกล่าวถูกขุดพบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 ที่ผ่านมา โดยเจ้าของที่ดินคือนางแม๊ะ ซึ่งเป็นชาวสวนได้ขายที่ดิน ซึ่งตั้งอยู่หลังวัดปราสาท จำนวน 13 ไร่ ให้กับหมู่บ้านปิ่นสิริ จนกระทั่งเวลาต่อมาทางหมู่บ้านได้ให้รถแบ๊คโฮมาทำการขุดหลุมเพื่อลงเสาเข็ม ปรากฏว่าไม่สามารถลงเสาได้เพราะขุดไปเจอต้นตะเคียนดังกล่าว เมื่อนำต้นตะเคียนขึ้นมาจากใต้ดินพบว่าเป็นต้นตะเคียนขนาดยักษ์ ทางกรมศิลปากรได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูแล้วและยืนยันว่ามีอายุมากกว่า 1,000 ปี มีความยาววัดได้ 39.10 เมตร ขนาดรอบลาต้นกว้าง 4 เมตร 12 เซนติเมตร (https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000001184713.JPEG) โบสถ์มหาอุดอันงดงามสมัยอยุธยา วัดปราสาท ตั้งอยู่ที่ 18 หมู่ 4 ซ.วัดปราสาท ถ.บางกรวย-ไทรน้อย ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี ขอบคุณ : https://mgronline.com/travel/detail/9640000011519 เผยแพร่ : 5 ก.พ. 2564 11:58, ปรับปรุง : 5 ก.พ. 2564 ,11:58 ,โดย : ผู้จัดการออนไลน์ |