หัวข้อ: อโสกํ - จิตไม่เศร้าโศก | นึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กุมภาพันธ์ 23, 2021, 06:13:52 am (http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2020/10/2018-01-19_011228.jpg) อโสกํ จิตไม่เศร้าโศก | สูตรสำเร็จในชีวิต (49) สูตรสำเร็จข้อที่ 36 คือ อโสกํ แปลว่า จิตไม่เศร้าโศก ความจริงจิตไม่เศร้าโศก จิตบริสุทธิ์ จิตเกษมปลอดภัย เป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น สำหรับปุถุชน ยังไงๆ ก็ยังต้องเศร้าโศกอยู่ เพราะฉะนั้น พระบาลีบางครั้งจึงเรียกปุถุชนว่า “โสกี ปชา” (เหล่าสัตว์ผู้ยังต้องโศกเศร้าอยู่) นี่พูดเหมารวมนะครับว่าโดยสภาวะอันเป็นจริงแล้ว คนมีกิเลสอยู่ยังเรียกว่าคนยังต้องเศร้าโศก เพราะมีเรื่องจะต้องให้เศร้าให้โศกจนได้แหละ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะต้องร้องห่มร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่าตลอด 24 ชั่วโมงดอก ยังมีเวลาที่จิตใจผ่องใสเบิกบาน ไม่โศกไม่เศร้าเป็นครั้งคราว หรือหลายครั้งหลายคราว @@@@@@@ ผู้รู้ท่านว่าวิธีปฏิบัติมิให้จิตเศร้าโศกเมื่อคราวเผชิญกับความผันผวนของชีวิตมีอยู่ 2 วิธีคือ - ให้เจริญมรณัสสติ คือ พิจารณาถึงความตายไว้เสมอๆ ว่า ชีวิตเราไม่ยั่งยืน เกิดมาแล้วไม่กี่ปีก็จะตาย ความตายต่างหากที่ยั่งยืน เมื่อนึกถึงความตายบ่อยๆ จะเข้าใจความจริงของชีวิต ไม่ประมาทในชีวิต โลภโมโทสันก็จะลดลง ความอยากได้อยากเอาก็จะเบาบางลง อย่างคำกลอนที่ว่า “นึกถึงความตายสบายนัก มันหักรักหักหลงในสงสาร” นั่นแหละครับ - วิธีที่สอง คือ ให้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงขั้นนี้แล้วรับรองไม่เศร้าไม่โศก ใครอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไรก็เชิญปฏิบัติเอาเถอะครับ แล้วจะรู้เอง @@@@@@@ ในอรรถกถาท่านเล่าเรื่องคน 5 คนเจริญมรณัสสติจนเข้าถึงความจริงของชีวิตไว้น่าสนใจ ขอนำมาถ่ายทอดให้ฟังดังนี้ครับ วันหนึ่งพ่อกับลูกชายคนโตของครอบครัวไปนา ขณะที่พ่อไถนาอยู่ ลูกชายถูกงูกัดตาย พ่อวางคันไถ อุ้มศพลูกชายวางไว้ที่คันนา สั่งคนไปบอกภรรยาว่า วันนี้ให้นำอาหารไปให้พอสำหรับคนเดียว ภรรยารู้ว่าคงเกิดอะไรขึ้นกับลูกชาย จึงชวนลูกสะใภ้ ลูกสาวคนเล็กและคนใช้ไปด้วย ไปถึงต่างคนต่างก็ช่วยกันหาไม้มาก่อเป็นเชิงตะกอนยกศพขึ้นเผาด้วยใบหน้าอันสงบ ไม่มีใครเศร้าโศกเสียใจเลย ร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ต้องปลอมเป็นพราหมณ์เฒ่า เข้ามาถามว่า ทำไมไม่มีใครร้องไห้เสียใจสักคน คนที่ตนรักตายไปทั้งคน @@@@@@@ ผู้เป็นพ่อกล่าวตอบว่า ลูกชายฉันตายไปก็เหมือนกับงูลอกคราบเก่าทิ้งไป เขาไปตามทางของเขาแล้ว ไม่รับรู้ว่าญาติพี่น้องเขาคร่ำครวญหวนไห้ถึงหรือไม่ เราคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ ผู้เป็นแม่กล่าวว่า เวลาเขามาเราก็มิได้เชิญเขามา เวลาเขาไปเขาก็มิได้บอกเรา เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น ถึงเราร้องไห้ถึงเขา เขาก็ไม่รู้ ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ ภรรยาเขากล่าวว่า คนที่ร้องไห้ถึงคนตายไม่ต่างอะไรกับเด็กร้องไห้อยากได้พระจันทร์และพระอาทิตย์ (คือโง่พอกัน) ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ น้องสาวเขากล่าวว่า ถ้าฉันมัวแต่ร้องไห้ถึงเขาก็จะผ่ายผอมไปเปล่า เขาไม่รู้เห็นดอกว่าญาติมิตรเศร้าโศกถึงเขา ฉันคิดดังนี้ จึงไม่ร้องไห้ คนใช้พูดว่า หม้อที่แตกแล้วประสานใหม่ไม่ได้ นายฉันตายแล้วกลับคืนไม่ได้ ฉันคิดดังนี้จึงไม่ร้องไห้ ครับ คนที่เข้าใจชีวิตเขาจะไม่โศกเศร้าฟูมฟายเกินเหตุเมื่อถึงคราวพลัดพราก ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2564 คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_398394 (https://www.matichonweekly.com/column/article_398394) ขอบคุณภาพจาก : http://dhamma.serichon.us/ (http://dhamma.serichon.us/) |