สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 05, 2021, 06:09:53 am



หัวข้อ: "สำรวจวัดสำคัญ" ประจำราชสกุล และตระกูลดัง
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 05, 2021, 06:09:53 am
 :25: :25: :25:

"สำรวจวัดสำคัญ" ประจำราชสกุล และตระกูลดัง

วัด นับเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา เพื่อใช้ประกอบศาสนกิจของภิกษุพระสงฆ์ ทั้งยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ใช้ประกอบพิธีสำคัญๆ การสร้างวัดแต่โบราณในเมืองไทยนั้นเพื่อให้เป็นวัดประจำตระกูลเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล และบรรจุอัฐิธาตุของคนในวงศ์ตระกูล รวมทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์ และการรำลึกถึงบุคคลนั้นๆ วันนี้ มาดูซิว่าวัดไหนเป็น วัดประจำราชสกุล และตระกูลใด บ้าง?

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121701.JPEG)

ราชสกุลเกษมศรี

เมื่อกล่าวถึง “ราชสกุลเกษมศรี” ที่มี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ (พระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค) เป็นองค์ต้นราชสกุลนั้น ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 “คุณแก๊ก-ม.ล.จันทนนิภา เกษมศรี” ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ เล่าว่า “ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี สมาชิกของราชสกุลเกษมศรีจะมารวมตัวกันทำบุญเนื่องในวาระครบรอบวันประสูติของพระองค์ ซึ่งเป็นองค์ต้นราชสกุล ที่ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เพราะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระราชบิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ”


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121702.JPEG)

จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสมาชิกราชสกุลเกษมศรี ที่จะได้มารวมตัวกันทำพิธีเพื่อรำลึกถึงพระองค์ในทุกๆ ปี โดยมี คุณแก๊ก ทำหน้าที่ประสานงานติดต่อบรรดาสมาชิกราชสกุลให้มาร่วมทำพิธีกันอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ เธอยังรับหน้าที่ประสานงานกับทางสำนักพระราชวัง กรณีที่มีการจัดพิธีในวันสำคัญต่างๆ ที่ทางสมาชิกราชสกุลต้องเข้าร่วมพิธีอีกด้วย

(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121703.JPEG)

ราชสกุลสนิทวงศ์

“วัดโปรดสัตว์” นับว่าเป็นวัดประจำราชสกุลสนิทวงศ์ ตั้งอยู่ที่ ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ตามเจตนารมณ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ที่จะทำนุบำรุงวัดนี้ โดยพระองค์เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ พระสนมเอก

วัดโปรดสัตว์ สร้างขึ้นปี 2235 สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี 2245 และเป็นวัดต้นตระกูล “สนิทวงศ์” โดยตระกูลสนิทวงศ์ได้นำอัฐิของบรรพบุรุษมาบรรจุไว้ที่ฐานพระประธานในพระอุโบสถ มีปูชนียวัตถุสำคัญ ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และพระมหากัจจายนะประดิษฐานอยู่ในวิหาร และเจดีย์สมัยอยุธยา

ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ทายาทราชสกุลสนิทวงศ์จะจัดงานทอดผ้าพระกฐินสามัคคีราชสกุลสนิทวงศ์ เพื่อนำเงินไปทำนุบำรุงเสนาสนะ ถาวรวัตถุ และดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาของวัดโปรดสัตว์

และในวันที่ 21 มกราคมของทุกปี ทายาทของ พันตรี หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ จะรวมตัวกันทำพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของท่าน (พันตรี หม่อมราชวงศ์สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กับหม่อมเขียน เป็น พระมาตุลา (ลุง) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และเป็นพระปัยกา (ทวด) ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121704.JPEG)

ราชสกุลกุญชร

มี “วัดเทวราชกุญชร” ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสมอแครง” เป็นวัดประจำราชสกุล ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และ สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสของสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินีของรัชกาลที่ ๑ (ต้นสกุลมนตรีกุล) ทรงบูรณะต่อ โดยมี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษเทเวศร์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ (ต้นราชสกุลกุญชร) ทรงอุปถัมภ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ พระโอรสทรงอุปถัมภ์ต่อ หลังจากนั้นเจ้านายผู้สืบสกุลกุญชรให้ความอุปถัมภ์โดยลำดับ

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และพระราชทานนามว่า “วัดเทวราชกุญชร” โดยคำว่า “เทวราช” แปลว่า “พระอินทร์” มานำหน้าพระนามของพระองค์เจ้ากุญชร ซึ่งแปลว่า “ช้าง” รวมความแล้วแปลว่า “ช้างพระอินทร์” ปัจจุบันกรมศิลปากรจดทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญ


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121705.JPEG)

ราชสกุลเทพหัสดิน

บรรพบุรุษต้นราชสกุล คือ “เจ้าขรัวเงิน” พ่อค้าชาวจีน ซึ่งได้เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ หลังจากนั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดเลียบ และรัชกาลที่ ๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณราชวรวิหาร”

เพราะราชสกุลเทพหัสดินมีหลายสาย ในแต่ละปีสมาชิกราชสกุลก็จะนัดรวมตัวกันในเดือนมีนาคม โดยแต่ละสายจะรับเป็นเจ้าภาพเชิญเครือญาติมาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านของตัวเอง และในเดือนกรกฎาคมก็จะรวมตัวกันไปทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดราชบุรณราชวรวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของราชสกุลเทพหัสดิน


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121706.JPEG)

ราชสกุลยุคล

“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดประจำตระกูล เพราะทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันเกิด หรือวันสงกรานต์ ลูกหลานทุกคนในราชสกุลยุคลก็จะพากันไปทำบุญที่วัดราชบพิตรเป็นประจำ โดยเฉพาะ หม่อมอัญชลี ยุคล ณ อยุธยา ชายาของ ท่านใหม่-ม.จ.จุลเจิม ยุคล มักจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ

วัดราชบพิตรมีความสำคัญสำหรับราชสกุลยุคล โดยภายในพระปรางสามยอดที่จำลองจากลพบุรีมานั้น ก่อสร้างแบบศิลปะของลพบุรี บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือพระองค์ชายเล็ก, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์

หนึ่งในเจดีย์ 34 องค์ ในสุสานหลวงของวัดราชบพิธแห่งนี้ มีอนุสาวรีย์พระปรางสามยอดแบบลพบุรี ที่บรรจุพระสรีรางคารของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้นราชนิกุลยุคล, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเกียรติมงคล และประยูรญาติแห่งราชสกุลยุคล


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121707.JPEG)

ราชสกุลสวัสดิวัตน์

“วัดราชาธิวาส” เป็นวัดที่ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาจาก “วัดสมอราย” ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ จนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงปฏิสังขรณ์และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร และเป็นวัดที่พระองค์ได้ทรงผนวชและจำพรรษา และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น และต่อมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 60 ในรัชกาลที่ ๔ ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ เสด็จมาประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้ รวมถึงเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของราชสกุลสวัสดิวัตน์ จนถึงตอนนี้ เหล่าลูกๆ หลานๆ ก็ได้มาทำบุญให้บรรพบุรุษ หรือทำบุญวันเกิดที่วัดแห่งนี้อยู่เป็นประจำ

ที่ผ่านมา ราชสกุลสวัสดิวัตน์ได้รวมตัวกันทำบุญครบรอบ 150 ปี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ วัดนี้จึงเป็นวัดประจำราชสกุลสายตรง ที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ ยังมี ราชสกุลเทวกุล และ สกุลสุจริตกุล ที่ได้มีการรวมตัวกันที่วัดนี้เพื่อทำบุญวันเกิด หรือทำบุญให้บรรพบุรุษ แล้วแต่วาระและโอกาสที่แตกต่างกันไป

ส่วนลูกหลานสกุล “วัชโรทัย” ก็ยังร่วมกันไปทำบุญที่วัดราชาธิวาสอยู่เสมอ สกุลวัชโรทัยนั้นเป็นสกุลเก่าแก่ ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยของกษัตริย์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และได้รับพระราชทานนามสกุลจากรัชกาลที่ ๖ จึงมาทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้เป็นประจำ ประมาณ 4 ครั้งต่อปี โดยเฉพาะในโอกาสครบรอบวันเกิด และวันครบรอบการสิ้นชีวิตของพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (กาด วัชโรทัย) และท่านผู้หญิงอนุรักษ์ราชมณเฑียร (พัว วัชโรทัย)

จะเห็นได้ว่า ที่วัดราชาธิวาสฯ นั้น แต่ละราชสกุลได้สร้างศาลา หรืออนุสรณ์สถานไว้ติดๆ กัน เพื่อให้บรรดาลูกหลานได้มารวมกันทำบุญแด่บรรพบุรุษโดยเฉพาะ


(https://mpics.mgronline.com/pics/Images/564000002121708.JPEG)

ตระกูลบุรณศิริ

“วัดบุรณศิริมาตยาราม” ตั้งอยู่แถวๆ สนามหลวง บริเวณหลังศาลฎีกา เป็นวัดประจำตระกูลบุรณศิริ สร้างโดย กรมหมื่นเสนีเทพ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยพระยามหาอำมาตย์ (ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ต้นสกุลบุรณศิริ) เดิมรัชกาลที่ ๓ พระราชทานให้ชื่อว่า วัดศิริอำมาตยาราม แต่รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดบุรณศิริมาตยาราม ปัจจุบันลูกหลานในตระกูลนี้มักมารวมตัวกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและโอกาสต่างๆ เป็นประจำ





ขอบคุณ : https://mgronline.com/celebonline/detail/9640000020622
เผยแพร่ : 3 มี.ค. 2564 08:51 ,ปรับปรุง: 3 มี.ค. 2564 08:51 ,โดย : ผู้จัดการออนไลน์