สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

เรื่องทั่วไป => forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน => ข้อความที่เริ่มโดย: raponsan ที่ มีนาคม 26, 2021, 05:22:46 am



หัวข้อ: หยุดคลั่งประชาธิปไตย หยุดบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ มีนาคม 26, 2021, 05:22:46 am

(https://www.dailynews.co.th/admin/upload/20210324/news_qECLERDGEy115108_533.jpg)


หยุดคลั่งประชาธิปไตย หยุดบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

ภิกษุที่ต้องการจะมาเกี่ยวข้องกับการเมืองนั้นถือได้ว่าท่านไม่ได้มีความเข้าใจในบทบาทของการเป็นภิกษุตามพระธรรมวินัย การที่จะเอาหลักพระพุทธศาสนาตามความเข้าใจของเขาเข้ามาปรับในเรื่องการบ้านการเมืองอะไรต่างๆ ย่อมทำให้เกิดความผิด แล้วก็เป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

การประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 64 ที่ประชุมรัฐสภามีการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ... แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 วาระ 2 ซึ่งมีการพิจารณามาตรา 4 ต่อเนื่องจากวันที่ 24 ก.พ. 64 เรื่องลักษณะต้องห้ามสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ตามมาตรา 256/3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เสียงข้างมาก ห้ามภิกษุลงสมัครเป็น ส.ส.ร. แต่ ส.ส.พรรคก้าวไกลหลายคนอภิปรายแย้งอยากให้ภิกษุลงสมัคร ส.ส.ร.ได้ เพื่อแสดงถึงความเสมอภาคและให้ภิกษุแสดงออกทางการเมืองได้ เพราะเป็นพลเมืองของรัฐเหมือนกัน

การประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 64 ที่ประชุมรัฐสภามีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติ วาระ 2 มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคณะ กมธ. เสียงข้างน้อยอภิปรายแสดงความคิดเห็นว่า ควรให้สิทธิภิกษุในการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วย แต่คณะ กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า หลักของมาตรา 5 คือ ผู้มีสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 95 ที่ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมาตรา 96 ที่ได้กำหนดคุณลักษณะผู้มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามที่ผู้อภิปรายได้กล่าวถึงภิกษุนั้นอยู่ในลักษณะต้องห้ามซึ่งเป็นที่มาของการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

@@@@@@@

ทั้ง 2 กรณีที่กล่าวถึงข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้ (อวิชชา) ของนักการเมืองที่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฐิ) อย่างร้ายแรง ไม่รู้เลยหรือว่าภิกษุเป็นผู้สละแล้วทางโลก เป็นผู้ครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตมีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก ศึกษาพระธรรม (คันถธุระ)
ประการที่สอง อบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ)

อีกทั้งยังต้องขัดเกลากิเลส ประพฤติปฏิบัติตนตามสิกขาบทในพระวินัยที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ รวมถึงเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแก่ผู้ครองเรือนซึ่งอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ให้ดำเนินชีวิตอย่างสุจริตทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่เบียดเบียนกันและเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เหตุไฉนเล่าจึงมีความบ้าคลั่งกับคำว่า “ประชาธิปไตย” อย่างไม่ลืมหูลืมตาถึงเพียงนี้ ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่แสดงความเห็นนั้นเป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

ชาวพุทธพึงทราบว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติคำว่า “พระพุทธศาสนาเถรวาท” เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฏอยู่ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 67 ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

เพื่อให้ชาวพุทธมีโอกาสได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างถูกต้อง จึงขอนำการสนทนาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “จะให้ภิกษุลงสมัคร ส.ส.ร. ได้กระนั้นหรือ?” เมื่อวันที่ 14 มี.ค.64 ณ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งจะเป็นเหตุนำไปสู่ความเห็นถูก (สัมมาทิฐิ) จะได้ช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงสืบไป

@@@@@@@@

อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนากล่าวว่า “...ได้ยินคำว่าภิกษุ ไม่มีใครไม่รู้จัก ใช่ไหม แต่ว่า เข้าใจความเป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า? เพราะเหตุว่า การที่เพียงแต่แต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้านธรรมดา คนธรรมดา ครองจีวร แล้วก็มีบาตร แล้วก็ไปที่ต่างๆ หรือว่า อาจจะไปแสดงธรรม โดยไม่ต้องมีบาตรไปก็ได้ เพราะไม่ใช่เวลาที่จะบิณฑบาต เท่านั้นหรือคือภิกษุ? ไม่รู้อะไรมากกว่านั้นหรือ? ถ้าอย่างนั้น จะเข้าใจความหมายของภิกษุในธรรมวินัย ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากพระอุระ (พระปัญญา) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร?

…เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สูงมาก เป็นเพศของพระอรหันต์ ใครก็ตาม ที่สวมใส่จีวรที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตว่าให้อุปสมบท ต้องประพฤติตามที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติว่า อะไรเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า กิเลสมีมาก ถ้ากิเลสอย่างหยาบยังมีอยู่ แล้วไม่รู้ แล้วจะขัดเกลาให้ถึงดับกิเลสหมด ไม่เหลือเลยได้อย่างไร?

...แม้พระภิกษุในพระธรรมวินัยในครั้งพุทธกาล ก็ได้แสดงความจริงว่า เพศภิกษุ ผู้รักษาพรหมจรรย์ เป็นเพศที่ยากอย่างยิ่งในการที่จะประพฤติด้วยความเห็นโทษของกิเลส จึงละกิเลสทุกอย่าง แต่ถ้าไม่เห็นโทษ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกิเลส ก็ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่ละกิเลส แต่ทำทุกอย่างอย่างคฤหัสถ์ ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย …จุดประสงค์ของการจะเป็นภิกษุ ก็คือว่า จะละทิ้ง สละชีวิตอย่างคฤหัสถ์ทั้งหมด เพื่อศึกษาให้เข้าใจพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะได้ให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย นี่เป็นหน้าที่ของพระภิกษุ

@@@@@@@

อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า “… ซึ่งถ้าโยงมาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรายกขึ้นมาว่า ภิกษุต้องการที่จะมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือว่าก่อนหน้านั้นก็มีบางกลุ่มซึ่งเป็นภิกษุต้องการมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งก็มี ตรงนี้ก็ถือได้ว่า ท่านไม่ได้มีความเข้าใจในบทบาทของการเป็นภิกษุตามพระธรรมวินัย…

บทบาทของภิกษุในพระธรรมวินัย ทรงแสดงไว้ชัดเจนว่าท่านมีธุระ 2 ก็คือ คันถธุระ ศึกษาเล่าเรียนอบรมคำสอนพระธรรมวินัยให้มีความเข้าใจได้ชัดเจนลึกซึ้งถูกต้อง และ วิปัสสนาธุระ ก็อบรมความเข้าใจนั้นให้เพิ่มยิ่งขึ้น มีธุระ 2 เท่านั้นเอง หน้าที่อย่างอื่นไม่มีแล้ว บทบาทอย่างอื่นท่านไม่มีแล้ว เพราะว่าเป้าหมายจริงๆ ของท่าน ก็เพื่อขัดเกลากิเลสจนถึงที่สุด… การที่เขาจะเอาหลักพระพุทธศาสนาตามความเข้าใจของเขาเข้ามาปรับในเรื่องการบ้านการเมืองอะไรต่างๆ ย่อมทำให้เกิดความผิด แล้วก็เป็นสิ่งที่บ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนา…

ในอนาคตเขาก็ว่าอาจจะเป็นไปได้ว่าพระภิกษุอาจจะมาเลือกตั้งหรือว่าเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ มีโอกาสอยู่บนหลักสามัญ ก็คือ นโยบายของรัฐ ตั้งเป็นพรรคการเมืองเลย คือ ถ้าผู้บริหารขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง วางนโยบายให้มีพรรคศาสนาได้ ตรงนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่มีความเป็นไปได้… ถ้านักการเมืองที่เขาอาจจะมีความหวังดีส่วนหนึ่งหรือว่าอาจจะแสวงหาผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง ก็คือ อาศัยศาสนากรุยทางเข้ามาสู่การเมืองแล้วก็ให้แก้กฎหมาย อันนี้ก็เป็นไปได้… ที่เขาอ้างกันมากๆก็คือว่าศาสนาพุทธจะถูกศาสนาอื่นทำลายหรือว่าทำให้ลดบทบาทอะไรต่างๆลง ก็คือ จะเป็นข้ออ้างอันหนึ่งที่ว่าเราก็จะต้องมีการปกป้องพระศาสนา ก็ต้องมีคนเข้ามาเป็นตัวแทน ในรัฐบาลในรัฐสภาอะไรต่างๆ… ”

@@@@@@@

ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ วิทยากรมูลนิธิฯ กล่าวว่า “…จากข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัททกสูตร มีข้อความว่า ภิกษุชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ยินดีความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ขวนขวายความชอบความคลุกคลีด้วยคฤหัสถ์ ย่อมไม่มีความตายที่เจริญ ตายแล้วก็ไม่เจริญ… เมื่อเป็นภิกษุมีสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมที่จะศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความปลอดโปร่งอย่างยิ่ง เพราะไม่มีภาระอะไรเหมือนอย่างคฤหัสถ์

ถ้าภิกษุไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อพระพุทธศาสนา สังคม ประเทศชาติ อย่างไร? ถ้าคนที่ไม่เห็นภัย ก็ไม่เห็นว่าเป็นภัยจริงๆ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ หมายความว่า สะท้อนอะไรบ้าง สะท้อนว่า ไม่มีผู้เข้าใจพระธรรมวินัยขนาดเพียงนั้นเชียวหรือ ไม่มีผู้เข้าใจพระธรรมวินัยจนกระทั่งเห็นด้วยให้ภิกษุเข้ามามีบทบาททางการเมืองคือมาทำกิจของคฤหัสถ์หรือ...”

อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ วิทยากรมูลนิธิฯ กล่าวว่า “…การที่คนหนึ่งจะให้บุคคลหนึ่งเห็นโทษว่าเป็นโทษ นั่นเป็นการเกื้อกูลที่ดีอย่างยิ่ง …ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมจริงๆ ที่จะรู้จักว่าความไม่ดี คือ อกุศลธรรมนั้น เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและสังคม อย่างไร แล้วจะละความไม่ดีนั้นด้วยธรรมประเภทไหน ธรรมที่จะละได้คือปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก…”

อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย วิทยากรมูลนิธิฯ กล่าวว่า “…ก่อนที่จะเป็นภิกษุ ท่านก็ต้องได้ยินได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเข้าใจแล้ว เห็นตามความเป็นจริงว่า สามารถที่จะขัดเกลากิเลสในเพศที่สูงยิ่งได้ ท่านจึงสละชีวิตของคฤหัสถ์ทุกอย่าง เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการ เมื่อเป็นภิกษุในพระธรรมวินัย สิ่งใดก็ตามที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ได้เกื้อกูลต่อการขัดเกลากิเลสแล้ว สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด ภิกษุทำไม่ได้…”

 



คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/832939 (https://www.dailynews.co.th/article/832939)
พฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น.