หัวข้อ: ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ เมษายน 20, 2021, 07:25:20 am (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2021/04/ภาพปก-พระศรีอาริย์-696x364.jpg) จิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ที่ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี [ภาพถ่ายโดยคุณ สิปปวิชญ์ บุณยพรภวิษย์ (ได้รับอนุญาตจากผู้ถ่ายภาพให้ใช้ภาพ)]ไขจิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ภาพเขียนวัดในกลาง จ.เพชรบุรี จิตรกรรมศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี นับว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งมีการเขียนภาพพระโพธิสัตว์ในสมัยพระอนาคตพุทธเจ้า 10 พระองค์ ซึ่งเป็นเรื่องในพระพุทธศาสนาที่ไม่ค่อยพบเห็นมากนัก โดยเฉพาะภาพ พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับหนึ่งในสิบของพระอนาคตพุทธเจ้า นั่นคือ “พระศรีอาริย์” เรื่องราวของพระศรีอาริย์ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น ใน จักวัตติสูตร พระไตรปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิวรรค รวมทั้งมีกล่าวถึงใน พุทธปกิณกะกัณฑ์ ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ เป็นต้น โดยความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์มีมาช้านานเก่ากว่าสมัยสุโขทัย โดยในสมัยสุโขทัยปรากฏหลักฐานเรื่องพระศรีอาริย์ในจารึกต่าง ๆ อาทิ จารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 ปรากฏคำว่า “พระมหาสามีศรีรัตนลังกาทวีป… เทายอด… อาริยไมตรี… สมาธิคงตรงใตตน” และ “เมตไตโย… โคตโม คาถานี้ มีแห่งมหานิทานแล” และยังปรากฏในพระคาถานมัสการพระศรีอาริยเมตไตรย ในจารึกในสมัยสุโขทัยที่กล่าวถึงคำอธิษฐานที่แสดงความปรารถนาร่วมกันที่จะไปเกิดในสมัยพระศรีอาริย์ สะท้อนความคิดความเชื่อของชนชั้นปกครองในสมัยนั้นว่าต้องการไปเกิดในยุคสมัยของพระศรีอาริย์ ทั้งนี้มีการขยายความเรื่องราวของพระศรีอาริย์ใน “คัมภีร์พระอนาคตวงศ์” ให้เป็นที่รับรู้กว้างขวางมากขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง ศรัณย์ ทองปาน อธิบายว่าพระอนาคตวงศ์หรือที่เรียกในคัมภีร์ว่า “ทสโพธิสัตตุนิทเส” หรือ “ทศโพธิสัตตุปัตติกถา” สันนิษฐานว่ารจนาขึ้นในอาณาจักรล้านนา ขณะที่ อ. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อ้างความเห็นของ สุภาพรรณ ณ บางช้าง ที่ให้ความเห็นว่า คัมภีร์พระอนาคตวงศ์น่าจะแต่งขึ้นเป็นเวลานานพอสมควรก่อนสมัยสุโขทัย เพราะในบานแผนกของหนังสือเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง ได้มีการอ้างถึงคัมภีร์พุทธศาสนาหลายเล่ม รวมถึงคัมภีร์พระอนาคตวงศ์ด้วย (https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2021/04/175304897_10224730751565890_7807939968402574220_n-1536x1438.jpeg) จิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ที่ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี [ภาพถ่ายโดยคุณ สิปปวิชญ์ บุณยพรภวิษย์ (ได้รับอนุญาตจากผู้ถ่ายภาพให้ใช้ภาพ)]สำหรับเรื่องราวของพระศรีอาริย์ในคัมภีร์ดังกล่าว อ. อภิลักษณ์ เกษมผลกูล สรุปเนื้อหาไว้ดังนี้ “เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุได้ 5,000 ปี ความเลวร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์ เมื่อโลกเสื่อมเต็มที่แล้ว โลกก็จะกลับเจริญขึ้นมาอีก ในคราวนั้นเมื่อมนุษย์มีอายุยืนยาวถึง 80,000 ปี พระศรีอาริย์ก็จะเสด็จอุบัติมาในเมืองเกตุมดี ในสมัยของพระเจ้าจักรพรรดินามว่า สังขะ พระศรีอาริย์จะประสูติในตระกูลพราหมณ์ปุโรหิตของจักรพรรดิสังขะนามว่า สุพรหมา เป็นบิดา นางพราหมณีชื่อ พรหมวดี เป็นมารดา นางจันทมุขี เป็นชายา โอรสนามว่า วัฒนกุมาร ครั้นเมื่อพระศรีอาริย์มีพระชนมายุ 80,000 ปี จะทรงผนวชเพราะทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิต แล้วทรงขึ้นปราสาทเสด็จออกผนวช มีไม้กากะทิงเป็นมหาโพธิ พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าที่บําเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายาวนาน ดังนั้นยุคของพระองค์จึงเป็นยุคทองที่มีสรรพสิ่งทั้งในแง่ทางโลกและทางธรรม คนในยุคนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยโภควัตถุ โดยมีต้นกัลปพฤกษ์คอยอํานวยประโยชน์ให้ นอกจากนั้นแล้วคนในโลกนี้ยังเพียบพร้อมด้วยศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงาม พระศรีอาริย์มีประวัติในการบําเพ็ญบารมีคือ ในอดีตพระองค์เสวยราชเป็นพระเจ้าจักรพรรดินามว่า สังขจักร ครองเมืองอินทปัตถ์ ได้สดับข่าวจากสามเณรองค์หนึ่งที่เที่ยวบิณฑบาตหาทรัพย์ เพื่อนำไปไถ่มารดาซึ่งตกเป็นทาสของคนอื่นว่า พระรัตนตรัยและพระพุทธเจ้าสิริมิตรทรงอุบัติขึ้น และประทับอยู่ ณ บุพพาราม (บุปผาราม) ข่าวนั้นทําให้พระองค์ทรงโสมนัสและสละราชสมบัติให้สามเณรครองแทน ส่วนพระองค์เองนั้นได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความยากลำบาก เนื่องจากทรงพระดำเนินด้วยพระบาทเปล่า เมื่อทรงหมดแรงก็ต้องคลานและค่อย ๆ เลื่อนไปด้วยอก จนถึงที่พระพุทธเจ้าประทับ ได้สดับธรรมเทศนาเรื่องนิพพานธรรม ต้องทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงพักไว้ เพราะพระองค์ขาดจตุปัจจัยที่จะบูชา ทรงพิจารณาเห็นว่า พระเศียรของพระองค์ซึ่งเป็นส่วนสูงสุดในพระวรกายที่สมควรเป็นไทยธรรม เครื่องกัณฑ์เทศน์ ดังนั้นพระองค์จึงทรงตัดเศียรบูชาธรรมพร้อมกับทรงตั้งปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า สีลทานบารมี ปรมัตถบารมีนี้ทำให้พระองค์เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตจึงมีบุญสมภารมาก” @@@@@@@ อ. สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม อธิบายว่า เนื่องด้วยการเขียนภาพบนแผงไม้คอสองมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และเนื้อเรื่องที่ปรากฏในคัมภีร์กล่าวถึงรายละเอียดต่าง ๆ มาก ดังนั้น ช่างจึงเลือกนำฉากเหตุการณ์ตอนสำคัญที่สุดของเรื่องมาเขียน เป็นการประหยัดพื้นที่และสามารถสื่อสารให้เข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจนและง่ายที่สุด นี่จึงเป็นที่มาของจิตรกรรมพระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู่ที่ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี ในด้านความหมายของการเขียนจิตรกรรมพระอนาคตพุทธเจ้านี้ แสดงให้เห็นว่าเพื่อสร้างตัวอย่างของความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธเจ้า เป็นกุศโลบายให้พุทธศาสนิกชนที่ได้เห็นภาพรําลึกถึงการบําเพ็ญบุญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชาติต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรลุโพธิญาณในอนาคต นี่ได้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนบางส่วน ในการที่จะแสดงความจงรักภักดีและพัฒนากลายเป็นลัทธิไปในที่สุด ดังกรณีของนายบุญเรืองและนายนกซึ่งได้จุดไฟเผาตนเอง เพื่อหวังบรรลุโพธิญาณในอนาคต คติความเชื่อเรื่องนี้ ศรัณย์ ทองปาน เรียกว่า “ลัทธิอนาคตวงศ์” นอกจากนี้ จากการศึกษาค้นคว้าของ อ. สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม ทำให้ทราบว่า จิตรกรรมดังกล่าวมีลักษณะของงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ปรากฏอยู่รวมกัน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยได้รับการสืบต่อเทคนิคงานจิตรกรรมมาจากสมัยรัชกาลที่ 3 สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมศาลาการเปรียญ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับศาลาการเปรียญที่สร้างในช่วงรัชกาลที่ 4 ดังนั้น จิตรกรรมศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี นี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนในสังคมเรื่อง “พระศรีอาริย์” และ “ลัทธิอนาคตวงศ์” ซึ่งแพร่หลายในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี นับเป็นจิตรกรรมที่มีคุณค่าต่อการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ จิตรกรรม ฯลฯ อ้างอิง :- - ศรัณย์ ทองปาน. (กรกฎาคม-ธันวาคม, 2552). ลัทธิอนาคตวงศ์ : พุทธศาสนาประชานิยมยุคต้นรัตนโกสินทร์. ดำรงวิชาการ. ปีที่ 8 : ฉบับที่ 2. - สุพิชฌาย์ แสงสุขเอี่ยม. (มกราคม-มิถุนายน, 2553). จิตรกรรมภาพพระโพธิสัตว์ในสมัยพระอนาคตพุทธเจ้า 10 พระองค์ บนแผงไม้คอสอง ศาลาการเปรียญหลังเก่า วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 30 : ฉบับที่ 1. - อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. (2552). ตำนานพระศรีอาริย์ในสังคมไทย : การสร้างสรรค์และบทบาท. วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 19 เมษายน 2564 ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_65937 (https://www.silpa-mag.com/history/article_65937) |