หัวข้อ: เผาศพอย่าเผาทรัพย์.! | หลักธรรมวินัยที่วัดชลประทานฯ ใช้กับ การสร้าง 'สุคติสถาน' เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ กรกฎาคม 01, 2021, 05:33:47 am (https://static.naewna.com/uploads/news/source/584112.jpg) เผาศพอย่าเผาทรัพย์.! | หลักธรรมวินัยที่วัดชลประทานฯ ใช้กับ การสร้าง 'สุคติสถาน' วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เดินหน้าตามหลักธรรมวินัย สร้างอาคาร “สุคติสถาน” อาจาริยบูชาพระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ พร้อมเมตตาศพโควิด หลังสุคติสถานสร้างเสร็จ เดือนตุลาคมนี้ ทางวัดอุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในการเผาศพโควิดให้ทั้งหมด และมีโรงทางจากส่วนกลางให้แขกที่มาร่วมงาน “เผาศพ อย่าเผาทรัพย์” เป็นหนึ่งในหลักธรรมของ “พระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ที่ส่งผลให้วัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง จังหวัดนนทบุรี เป็นผู้นำในการจัดงานเผาศพที่ “ไม่มีพวงหรีด ไม่มีโฟม ไม่มีดอกไม้” ภายใต้หลักธรรมที่ว่า “การทำบุญให้เป็นบุญ จึงต้องเรียบง่าย ประหยัด เกิดประโยชน์ และถูกต้องตามหลักธรรมวินัย” จึงนับเป็นคำสอนที่เปลี่ยนสังคมพุทธที่เคยเชื่อสิ่งที่งมงายไปสู่ปัญญา “เดือนสิงหาคมนี้ ก็จะต้องให้ค่าก่อสร้างงวดสุดท้ายเป็นเงิน 26 ล้านบาท” หลวงพ่อปัญญานันทมุนี (สง่า สุภโร) เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เล่าให้ฟังถึงความคืบหน้า “การก่อสร้างสุคติสถาน เมรุเผาศพไร้ควัน” ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 252 ล้านบาท จ่ายค่าดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 226 ล้านบาท โดยหากเป็นการก่อสร้างอยู่ในช่วงปกติ จำนวนเงินค่าก่อสร้างที่เหลือก็จะไม่น่าห่วง แต่เมื่อมีสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เข้ามาระบาดในไทยเป็นระลอกที่ 3 ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในครัวเรือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (http://[url=https://static.naewna.com/uploads/files2017/images/20210616_172516(1).jpg]https://static.naewna.com/uploads/files2017/images/20210616_172516(1).jpg[/url]) (https://static.naewna.com/uploads/files2017/images/20210616_145023.jpg) การสร้างสุคติสถานแห่งนี้ ทางหลวงพ่อปัญญานันทมุนี ท่านมองการณ์ไกลไม่ต่ำกว่า 100 ปี จึงให้สถาปนิกออกแบบตัวอาคาร 4 ชั้น ไว้อย่างมั่นคง โดยมีสองอาคาร อาคารส่วนแรกเป็นส่วนที่รับแขกของเจ้าภาพที่จัดงานศพ และ อาคารส่วนที่สองคือ ส่วนของเตาเผาศพ ซึ่งอยู่ด้านหลัง มีทางเชื่อมเดินถึงกัน ภายในตัวอาคารถูกออกแบบให้เรียบง่าย แต่ละห้องเป็นไปในแนวคิด “สุคติสถาน” เรียบง่ายตามหลักธรรมวินัยของพุทธศาสนา ซึ่งทางวัดชลประทานรังสฤษดิ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่พุทธาวาส, สังฆาวาส และพื้นที่ศาสนสงคราะห์ โดยในส่วน “สุคติสถาน” จัดอยู่ในพื้นที่ศาสนสงเคราะห์ และใช้พื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ หากสร้างแล้วเสร็จจะมีศาลาอยู่บนอาคารนี้ 10 ศาลา ในการรองรับงานศพ สำหรับเมรุเผาศพนั้นใช้เมรุนวัตกรรมจากประเทศสวีเดน ที่เมื่อเวลาเผาศพแล้ว จะไร้กลิ่น ไร้ควัน “พระพุทธเจ้าก่อนทรงออกบวช พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นสิ่งที่สะเทือนใจ คือ ความแก่ , เจ็บ และ ตาย จึงหาทางออกของชีวิตด้วยการออกบวชเป็นสมณะ และอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงให้แผนในชีวิตสัตว์โลกว่า ไม่มีใครที่ไม่ตาย ความตายมีอยู่สองอย่าง คือ ความที่แก้ไขได้ คือ ความตายที่เกิดขึ้นจากการที่เราขาดสติ และ ความตายที่แก้ไขไม่ได้ ก็ต้องมีเมรุไว้รองรับ ซึ่งที่ผ่านมาพระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านให้มีการจัดสวดพระอภิธรรมศพ และ เทศน์ก่อนสวด เทศน์ก่อนเผา เผื่อให้ธรรมะประคับประคองตนเอง และ งานศพเป็นงานที่สำคัญที่สุด ไม่มีใครตายเป็นครั้งที่สอง ซึ่งสอดคล้องกับธรรมที่ว่า ศาสนาต้องมีไว้ ไสยศาสตร์สู่พุทธศาสน์ , ธุรกิจสู่บุญกิจ และ พุทธพาณิชย์สู่พุทธกิจ” หลวงพ่อปัญญานันทมุนี ให้หลักธรรม การสร้าง “สุคติสถาน” แห่งนี้ หลวงพ่อปัญญานันทมุนีตั้งใจสร้างเพื่อถวายเป็น “อาจาริยบูชา” คุณพระเดชพระคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ โดยจะให้แล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม ปี 2564 นี้ ซึ่งหากอาคารสุคติสถานเสร็จตามกำหนดจะทำให้มีเมรุรองรับได้ 4 ศพต่อวัน และในระหว่างนั้นจะทำการบูรณะปรับปรุงเมรุหลังเก่าที่กำลังจะพังและทำการเปลี่ยนเมรุเก่าใหม่ทั้งหมดให้มาเป็นเมรุนวัตกรรมจากประเทศสวีเดน ซึ่งที่ผ่านมาเมรุเก่าใช้งานเผาศพวันละ 3 ศพต่อวัน (https://static.naewna.com/uploads/news/gallery/source/508028.jpg) นอกจากนี้ ความตั้งใจของ “หลวงพ่อปัญญานันทมุนี” ต้องการให้ “สุคติสถาน” รองรับศพผู้ติดโควิด โดยทางวัดจะเป็นผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่ายในการเผาศพทั้งหมด และ จะมีโรงทานส่วนกลางของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ให้ผู้ที่มาร่วมงานศพ เพราะท่านเห็นว่า “ไม่ว่าจะเป็นศพไหนก็ตาม ให้อยู่ร่วมกันแบบมีความดีรับรองกัน” เพราะฉะนั้นเราทุกคนควรทำก่อนตายให้ดี และทำวันเกิดให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันที่อาคารปัญญานันทานุสรณ์ มีการปรับปรุงบริเวณชั้นบน ให้เป็นเสมือนห้องแสดงนิทรรศการหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และ อัฐบริขารของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เหมือนพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ โดยบางห้องอาจใช้ชื่อว่า “ดินแดนอัศจรรย์แห่งธรรม” หรือ “ดินแดนมหัศจรรย์แห่งธรรม” ทิ้งท้ายด้วยคำสอนของหลวงพ่อปัญญานันทมุนีที่เมตตาให้หลักธรรมว่า “บุคคลใดที่เทินกงจักรไว้ แล้วสำคัญว่าเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดี ชีวิตเปลี่ยนสู่ความมืดคือทุกข์ เป็นมิจฉาทิฐิ ส่วนผู้ที่เห็นกงจักรเป็นกงจักร เห็นดอกบัวเป็นดอกบัว เห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว หรือ สามารถเปลี่ยนกงจักรที่เทินไว้ ให้กลายเป็นธรรมจักร ชีวิตเปลี่ยนแล้วสว่างพ้นทุกข์ ถือว่า สัมมาทิฐิ เกิดขึ้นแล้วแก่ตน” ขอบคุณ : https://www.naewna.com/likesara/584112 (https://www.naewna.com/likesara/584112) วันพุธ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 16.03 น. |