หัวข้อ: "อัธยาศัย" ออกมาจากหัวใจจริงๆ เริ่มหัวข้อโดย: raponsan ที่ ธันวาคม 24, 2021, 09:28:59 am (http://dhamma.serichon.us/wp-content/uploads/2021/12/อัธยาศัย.png) "อัธยาศัย" ออกมาจากหัวใจจริงๆ "อัธยาศัย" อ่านว่า อัด-ทะ-ยา-ไส “อัธยาศัย” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อชฺฌาสย” อ่านว่า อัด-ชา-สะ-ยะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + สิ (ธาตุ = นอน ; ไป, เป็นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (อะ-ยะ) (สิ > เส > สย) : อธิ > อชฺฌ + อา + สิ = อชฺฌาสิ + ณ = อชฺฌาสิณ > อชฺฌาสิ > อชฺฌาเส > อชฺฌาสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “อาการที่มานอนทับจิต” (2) “สภาวะที่อาศัยอารมณ์เป็นไป” “อชฺฌาสย” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความตั้งใจ, ความอยาก, ความปรารถนา, ความมีใจโน้มเอียง (intention, desire, wish, disposition, bent) @@@@@@@ คำที่มักพบในคัมภีร์ เช่น “อชฺฌาสยานุรูป” (อัด-ชา-สะ-ยา-นุ-รู-ปะ : อชฺฌาสย + อนุรูป) แปลว่า ตามสมควรแก่ความปรารถนาของเขา, ตามที่เขาต้องการ (according to his wish, as he wanted) บาลี “อชฺฌาสย” สันสกฤตเป็น “อธฺยาศย” เชื่อหรือไม่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มือ ไม่ได้เก็บคำว่า “อธฺยาศย” ไว้ ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 3 คำ คือ “อัธยาศัย” “อัชฌาศัย” (-ศัย ศ ศาลา) และ “อัชฌาสัย” (-สัย ส เสือ) บอกไว้ดังนี้ (1) อัธยาศัย : (คำนาม) นิสัยใจคอ เช่น เขาเป็นคนมีอัธยาศัยดี ; ความพอใจ, ความประสงค์, เช่น ไปพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย. (ส. อธฺยาศย ; ป. อชฺฌาสย). (2) อัชฌาศัย : (คำโบราณ) (คำนาม) อัชฌาสัย. (3) อัชฌาสัย : (คำนาม) กิริยาดี ; นิสัยใจคอ, ความรู้จักผ่อนปรน ; ใช้ว่า อัชฌา ก็มี, (โบ) อัชฌาศัย. (ป.; ส. อธฺยาศย). @@@@@@@ ขยายความ “อชฺฌาสย” ตามความหมายเดิมในบาลีหมายถึง ความพอใจเป็นส่วนตัว หรือนิสัยใจคอส่วนตัวของแต่ละคน ความหมายใกล้ไปทางพื้นเดิมของจิตใจที่เราเรียกกันว่า "อุปนิสัย" หรือที่พจนานุกรมฯ ว่า “นิสัยใจคอ” ไม่ได้บ่งถึงด้านดีหรือร้าย แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยเป็น “อัธยาศัย” หรือ “อัชฌาสัย” เรามักหมายถึง นิสัยใจคอในด้านดีที่แสดงออกต่อบุคคลอื่นทางกิริยาวาจา อาจรวมไว้ในคำที่ว่า โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ปวงชน วางตนเหมาะสม ซึ่งถอดความมาจากหลักธรรมที่เรียกว่า “สังคหวัตถุ” นี่คือที่นักภาษาเรียกกันว่า ความหมายเคลื่อนที่ @@@@@@@ ดูก่อนภราดา.! มีคำกลอนบทหนึ่งที่คนไทยได้ยินและพูดกันทั่วไป ดังนี้ ๏ ชายข้าวเปลือกหญิงข้าวสาร โบราณว่า นํ้าพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อัชฌาสัย เราก็จิตคิดดูเล่า เขาก็ใจ รักกันไว้ดีกว่าชัง ระวังการ ขอเชิญท่านที่มีอัธยาศัยโปรดชี้แนะเป็นวิทยาทานว่า กลอนบทนี้อยู่ในเรื่องอะไร ใครเป็นผู้แต่ง ขอขอบคุณ :- ผู้เขียน : ทองย้อย แสงสินชัย web : dhamma.serichon.us/2021/12/03/อัธยาศัย-ออกมาจากหัวใจจ/ (http://dhamma.serichon.us/2021/12/03/อัธยาศัย-ออกมาจากหัวใจจ/) Posted date : 3 ธันวาคม 202 ,By admin. |